เก็บตกโครงการ Siamese Twist – พลิกภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่
Materials & Application

เก็บตกโครงการ Siamese Twist – พลิกภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่

  • 14 Dec 2012
  • 47781

ออกแบบและพัฒนาโดย : จุฑามาศ บูรณเจตน์ และปิติ อัมระรงค์
เรื่อง : สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์

“ไผ่” อีกหนึ่งวัสดุท้องถิ่นที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาแต่ช้านาน ตั้งแต่ผูกเป็นเรือนแพ ตีเป็นโครงสร้างของบ้าน ปูเป็นพื้นไม้ ต่อเป็นเก้าอี้แคร่ สานเป็นอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ ฯลฯ แต่แปลกตรงที่การใช้ “ไผ่” ในประเทศไทยนั้น มักถูกละเลยที่จะนำเข้าสู่กระบวนการเพิ่มมูลค่า คุณจุฑามาศ บูรณเจตน์ (คุณท้อ) และคุณปิติ อัมระรงค์ (คุณดุ๋ย) ภายใต้กลุ่ม o-d-a (object design alliance) จึงขอท้าทายโจทย์ดังกล่าว และหยิบเอาวัสดุใกล้ตัวชนิดนี้มา “พลิก” ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีภาพลักษณ์ใหม่ภายใต้โครงการ Siamese Twist

การเลือกวัสดุตั้งต้น
ในช่วงแรกของการทำงาน คุณท้อ และ คุณดุ๋ย จาก o-d-a ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่เพียงอย่างเดียว ทั้งสองได้ทำการศึกษาวัสดุอื่นด้วย อาทิ เยื่อกระดาษอ่อน, กล่องนมอัดแผ่น, โฟมยาง ฯลฯ แต่จากการพูดคุยกับผู้ผลิต (รวมไปถึงการเรียนรู้กระบวนการผลิต) ทั้งสองก็ตัดสินใจเดินหนีจากวัสดุทั้งสาม ด้วยเห็นว่าอาจไม่สอดคล้องกับกรอบเวลาการทำงานในโครงการนี้

ในที่สุด “ไม้ไผ่” วัสดุประเภทที่ 4 ที่ทั้งสองได้เลือกไว้จึงกลายมาเป็นวัสดุหลักของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยแนวคิดสำคัญก็คือการหาหนทางที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้กับตัววัสดุตั้งต้น

การต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์
ในเบื้องต้นคู่หูนักออกแบบได้ทดลองเล่นกับ “โคนของไม้ไผ่” (ที่เหลือจากการตัดต้นไผ่) โดยพยายามจะพลิกเศษวัสดุที่ถูกทอดทิ้งนี้ให้กลายเป็นผลิตภัฑ์ที่มีคุณค่า ไอเดียแรกคือการสร้าง “แคร่” ขึ้นใหม่ด้วยวิธีการต่อลวดลายจากเศษวัสดุ มีการพัฒนารูปแบบของแพทเทิร์น (การต่อลาย) รวมไปถึงการกำหนดรูปทรงของเศษไม้ให้ยังสามารถสื่อถึงต้นกำเนิดได้

อย่างไรก็ดีในระหว่างการพัฒนา คุณท้อและคุณดุ๋ยก็ค้นพบว่า “โคนไม้ไผ่” ที่ต้องการนำมาใช้นั้นติดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ อาทิเช่น โคนไม้ไผ่มีให้ใช้จำกัดเฉพาะช่วงฤดู (ซึ่งในขณะนั้นกรอบเวลาการทำงานดูจะไม่สอดคล้องกับฤดูกาลของวัสดุ) ทั้งสองจึงจำเป็นต้องตัดใจจาก “โคนไม้ไผ่” และหันไปทำงานกับ “ไม้ไผ่แปรรูปชนิดแผ่น” แทน

อุปสรรคและแนวทางแก้ปัญหา
ในส่วนของกระบวนการผลิตกรอบแว่นตาหนึ่งชิ้น โดยทั่วไปจะมีความหนาอยู่ที่ประมาณ 5 มิลลิเมตร อีกทั้งการที่จะนำไม้ไผ่เพียงหนึ่งแผ่นไปขึ้นรูปเลยก็ไม่สามารถทำให้กรอบมีความคงทนได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องนำไม้ไผ่ที่มีความหนา 2 มิลลิเมตรมาวางซ้อนกัน 3 ชั้น แล้วอัดด้วยกาวเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับวัสดุ (ใช้น้ำหนักประมาณ 1 ตันในการอัดขึ้นรูป)

อย่างไรก็ดี แม้ว่าธรรมชาติของไม้ไผ่จะเอื้ออำนวยต่อการอัดและดัดตัวอยู่แล้ว แต่ด้วยธรรมชาติเดียวกันนี้มันก็มีข้อเสียที่ติดมาด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น กรอบแว่นจะปริแตกได้ง่ายในระหว่างการเจาะช่องเพื่อใส่เลนส์ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะธรรมชาติของไม้ไผ่เป็นไม้ที่เติบโตเร็ว (เป็นพืชในตระกูลหญ้าใบเลี้ยงเดี่ยว) ดังนั้น เกรนของไม้จะเกาะตัวกันอย่างหลวมๆ อีกทั้งแนวของเกรนไม้ยังเดินไปในทางเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้เกิดการฉีกขาดและปริแตกง่ายกว่ากรอบแว่นที่ผลิตจากไม้อื่นๆ

แนวทางแก้ไขปัญหาของสองนักออกแบบก็คือ ในระหว่างการเตรียมเศษวัสดุตั้งต้น (ก่อนเข้าสู่กระบวนการอัดขึ้นรูป) จำเป็นต้องตัดไม้ไผ่ในองศาที่แตกต่างกันทั้ง 3 ชิ้น เพื่อให้เกรนของไม้ไผ่ทั้งสามเกิดการขัดกัน ทั้งนี้เพื่อช่วยเสริมโครงสร้างของกรอบไม้ไผ่ให้มีความแข็งแรง และลดปริมาณการสูญเสียที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิต

จากแนวคิดสู่ต้นแบบ
- เตรียมไม้ไผ่ที่ขนาดความหนาประมาณ 2 มม.จำนวน 3 ชิ้น โดยเน้นว่า ต้องตัดแผ่นไม้ไผ่ในองศาที่ต่างกัน เพื่อให้เกิดแนวของเกรนใน 3 ลักษณะ
- นำไม้ไผ่ทั้ง 3 ชิ้นมาอัดกาวขึ้นรูปและผ่านกรรมวิธีการดัดให้ได้แนวความโค้ง (ของกรอบแว่น) ตามที่ต้องการ จากนั้นนำเข้าสู่กระบวนการ “อัดเย็น” เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ใช้น้ำหนักการกดทับที่ประมาณ 1 ตัน
- นำไม้ไผ่ที่ได้จากการขึ้นรูปไปตัดให้เป็นรูปทรงของแว่น โดยผ่านกรรมวิธีการตัดแบบ CNC ที่สามารถสั่งการทำงานได้โดยตรงจากคอมพิวเตอร์
- ทำการเซาะร่องบริเวณที่ใส่เลนส์โดยใช้เครื่องมือเซาะตามขอบด้านในให้เกิดเป็นร่องรูปคล้ายตัว U (ทำหน้าที่ในการล็อคกับเลนส์)
- ประกอบขาแว่น (ที่ตัดเป็นรูปทรงมาจากไม้ไผ่) เข้ากับส่วนของกรอบแว่นด้วยบานพับขนาดเล็ก พร้อมตัดไม้ไผ่ขัดเกลาติดบริเวณที่สัมผัสกับดั้งจมูกของผู้สวมใส่

จะสังเกตว่า ขั้นตอนการทำกรอบแว่นจากไม้ไผ่นั้นมีความคล้ายคลึงกับการผลิตกรอบแว่นจากไม้ทั่วๆ ไป แต่จุดที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดก็คือ การทำกรอบแว่นจากไม้ทั่วไปจำเป็นที่จะต้องนำไม้ไปอบไอน้ำก่อนเพื่อให้เกิดความอ่อนตัว (สามารถดัดโค้งได้ง่าย) แต่สำหรับไม้ไผ่แล้วี ผู้ผลิตสามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปได้ เนื่องจากไม้ไผ่มีคุณสมบัติความอ่อนตัวค่อนข้างสูงอยู่แล้ว

ก่อนจากกันครั้งนี้ คุณท้อและคุณดุ๋ยฝากไว้ว่า “วัสดุ” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอันหนึ่งในการกำหนดอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ ดังนั้น นักออกแบบจึงควรทำการบ้านกับธรรมชาติของวัสดุแต่ละชนิดให้มาก เพราะนั่นจะช่วยให้คุณสามารถดึงเอาคุณสมบัติที่โดดเด่นของตัววัสดุมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการออกแบบได้ ทุกครั้งที่ได้รับโจทย์จากลูกค้าก็อย่าเพิ่งไปขีดกรอบว่าจะต้องทำจากวัสดุอะไร ลองสละเวลาศึกษาวัสดุหลายๆ แบบ เผื่อว่าคุณจะมีโอกาสสร้างผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ให้กับโจทย์ตัวเดิม

 

บทสรุป
ผลงานกรอบแว่นตาไม้ไผ่ที่สามารถฉีกภาพลักษณ์จากวัสดุราคาถูกคือ บทพิสูจน์ว่า “ความสร้างสรรค์และการออกแบบ” มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะมันสามารถผลักดันธรรมชาติของวัสดุนั้นๆ ให้โดดเด่น แถมยังเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม (ส่งผลทั้งต่อราคาขายและการส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์)