เก็บตกโครงการ Siamese Twist - เท็กซ์ไทล์จากแบคทีเรีย พลิกมุมคิดสู่เครื่องแฟชั่นแนวทดลอง
ออกแบบและพัฒนาโดย : กฤษณ์ เย็นสุดใจ
เรื่อง : อาศิรา พนาราม
คุณกฤษณ์ เย็นสุดใจ นักออกแบบเครื่องแต่งกายจอมทดลอง เกิดความประทับใจกับ “แผ่นเซลลูโลสจากแบคทีเรีย” (ซึ่งเติบโตในน้ำสับปะรด) ตั้งแต่แรกพบ เดิมทีนั้นวัสดุดังกล่าวถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ในการแพทย์และการดูแลผิวพรรณ แต่คุณกฤษณ์ก็เลือกที่จะพลิกมุมคิดกับตัววัสดุ และนำเทคนิคหลากหลายของงานผ้าเข้ามาทดลอง เกิดเป็นผลงานเสื้อสุดแปลกตาที่สร้างมุมมองใหม่ต่อวัสดุแห่งอนาคตนี้
การเลือกวัสดุตั้งต้น
คุณกฤษณ์พบวัสดุเซลลูโลสจากแบคทีเรียซึ่งเติบโตในน้ำสับปะรดนี้โดยบังเอิญ และเกิดความสงสัยว่า วัสดุชิ้นเล็กๆ ที่ดูเหมือนกระดาษ (แต่ดันเขียนว่าเป็นเท็กซ์ไทล์) นี้คืออะไร เขาไม่รีรอที่จะศึกษามันจนพบว่า แบคทีเรียชนิดนี้มีความพิเศษตรงที่เติบโตเป็นเส้นสานทอกันเองในตัว (เช่นเดียวกับการทอผ้า) นอกจากนั้น มันยังมีคุณสมบัติที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง จึงถูกพัฒนาขึ้นเป็นผลิตถัณฑ์สำหรับปิดแผลและมาสก์สำหรับดูแลผิวหน้า แต่สำหรับนักออกแบบแฟชั่นแนวทดลองอย่างคุณกฤษณ์แล้ว เขามองเห็นแบคทีเรียนี้เป็น “ผืนผ้าสุดล้ำ” ที่เหมาะอย่างยิ่งกับการทดลองเล่นของเขาในโครงการนี้
การต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์
คุณกฤษณ์มองว่า ตัววัสดุเองเป็นผลผลิตของวิทยาศาสตร์ที่ดูก้าวล้ำอยู่แล้ว เขาจึงต้องการออกแบบผลงานให้มีความเรียบง่าย และย้อนศรความไฮเทค (ของตัววัสดุ) ด้วยดีไซน์อารมณ์ย้อนยุค เน้นกลิ่นอายแบบวิคทอเรียน และขับเน้นธรรมชาติของตัววัสดุให้โดดเด่น เขาทดลองตัววัสดุกับกรรมวิธีต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การย้อม การพรินท์ทับ การให้ความร้อน การตัดเย็บ ฯลฯ เพื่อทดสอบว่า ศัพยภาพของวัสดุตัวนี้ “เล่นอะไรได้บ้าง”
ขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์
กระบวนการพัฒนาเริ่มตั้งแต่ที่โรงงานของผู้ผลิตในจังหวัดพัทลุง เมื่อผู้ผลิตยินดีที่จะทำงานกับคุณกฤษณ์ เขาก็ได้ใช้แบคทีเรียตัวล่าสุดที่พัฒนาขึ้นมาจากข้าวพันธุ์เล็บนก (ซึ่งมีมากในพื้นที่) โดยให้เหตุผลว่า ข้าวพันธุ์ดังกล่าวมีต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้สับปะรดและเกิดเชื้อราได้น้อยกว่า ไม่นานแบคทีเรียก็เติบโตขึ้นบนผิวหน้าของน้ำข้าว และกลายเป็นเท็กซ์ไทล์สุดพิเศษสำหรับคนทำเสื้อ (ที่ให้แบคทีเรียทอผ้าให้)
1. เริ่มจากการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียซึ่งปกติใช้เวลา 2-3 วัน ก็กลายเป็นแผ่นนำไปใช้ได้ แต่หากต้องการความหนาก็ต้องเพิ่มระยะเวลาขึ้นไปอีก ซึ่งคุณกฤษณ์ก็ได้ทดลองหาความหนาและขนาดที่เหมาะสมกับการทำงานเสื้อ และกำหนดระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงไว้ที่ประมาณ 10 วัน
2. หลังจากที่ได้เซลลูโลสเป็นแผ่นแล้ว คุณกฤษณ์ก็นำวัสดุมาผ่านการทดลองตามธรรมชาติของคนใช้ผ้า เขาเริ่มจากการย้อมและพรินท์สีทับ ซึ่งก็พบว่า สามารถดูดซับสีได้ดี (เพราะมีความเป็นเส้นใย) หลังจากนั้น เขาก็นำวัสดุมาทดลองรีดด้วยความร้อนสูง ซึ่งก็พบว่า สามารถทนความร้อนได้ดีอีก (แต่มีข้อเสียตรงที่ติดไฟง่าย)
3. เมื่อศึกษาศักยภาพของตัววัสดุจนพอใจแล้ว คุณกฤษณ์ก็ได้นำวัสดุเข้าสู่กระบวนการออกแบบตัดเย็บ โดยเริ่มจากการออกแบบเป็นเสื้อเด็ก 3 ขวบก่อน (ใช้เป็นตัวทดลองทำทุกสิ่งอย่าง) จากนั้น จึงนำความรู้ที่ได้ไปออกแบบเป็นเสื้อผู้ใหญ่อีกที (เป็นชุดสำหรับคุณแม่เข้าคู่กันกับเสื้อเด็ก) งานนี้คุณกฤษณ์บอกว่า เขาตั้งใจออกแบบให้ผลงานมีสไตล์ที่เรียบง่ายเพื่อขับเน้นตัววัสดุให้โดดเด่นที่สุด
อุปสรรคและแนวทางแก้ปัญหา
จากเสื้อเด็กที่คุณกฤษณ์สร้างเป็นตัวทดลอง เขาใช้ด้ายป่านซึ่งเป็นใยธรรมชาติมาเย็บเพราะต้องการนำไปย้อมต่อ (หากใช้ด้ายปกติซึ่งเป็นประเภทพลาสติกก็จะย้อมไม่ค่อยติด) แต่ด้วยความที่ด้ายป่านมีความคม ไม่ลื่นเหมือนพลาสติก มันจึงส่งผลทำลายตัววัสดุ ทำให้รอยเย็บแตกพัง ฯลฯ คุณกฤษณ์แก้ปัญหานี้ด้วยการใช้กระดาษรองเวลาเย็บซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
นอกจากนี้แล้ว เขายังเจอปัญหาสำคัญที่คุณสมบัติของตัววัสดุเอง นั่นก็คือความไม่ทนน้ำ หากโดนน้ำก็จะกลายเป็นวุ้น และหากนำไปตากด้วยวิธีที่ต่างกัน รูปร่างของเสื้อ (เมื่อแห้ง) ก็จะไม่เหมือนเดิม ซึ่งคุณกฤษณ์ได้ทดลองแก้ไขด้วยการรีดความร้อน เพื่อช่วยให้วัสดุคลายตัวและกลับมาเรียบขึ้นได้สำเร็จ
จากแนวคิดสู่ต้นแบบ
เซลลูโลสจากแบคทีเรียนี้มีภาพลักษณ์ของความเป็นวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และอนาคต แต่คุณกฤษณ์ก็สามารถ “พลิกความรู้สึก” นั้น โดยนำเสนอตัววัสดุผ่านรูปแบบของ “เสื้อวินเทจย้อนยุค” ที่มีแพทเทิร์นเรียบง่าย เน้นเทคนิคการย้อมด้วยมือแบบชาวบ้านๆ (ย้อมเองโดยใช้ไวน์และฮ่อม) เขากล่าวว่า เขาโชคดีที่ได้ทำงานกับผู้ผลิตที่กระตือรือร้น ร่วมงานกันด้วยความเต็มใจและตั้งใจ
บทสรุป คุณกฤษณ์ผู้ซึ่งประทับใจกับตัววัสดุตั้งแต่แรกพบ ส่งผลให้เขานำพาวัสดุนั้นไปทดลองต่างๆ นานา ซึ่งแม้ว่าผลลัพธ์ที่ได้จะไม่ถึงกับสมบูรณ์แบบ แต่เขาก็ยังมีความประสงค์จะนำผลงานเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการ ด้วยเขามีความเชื่อว่า “ดีไซน์ที่ดีต้องมีความซื่อตรง” ดีก็ต้องบอก บกพร่องก็ต้องแสดง |