เก็บตกโครงการ Siamese Twist – พลิกโฉมไส้กระดาษรังผึ้งเป็นพื้นที่นิทรรศการ
Materials & Application

เก็บตกโครงการ Siamese Twist – พลิกโฉมไส้กระดาษรังผึ้งเป็นพื้นที่นิทรรศการ

  • 14 Dec 2012
  • 42392

ออกแบบและพัฒนาโดย : รชพร ชูช่วย และทีมสถาปนิกจาก all(zone)
เรื่อง : อาศิรา พนาราม

วัสดุถือเป็นตัวจักรสำคัญอันหนึ่งในการเปลี่ยนโฉมหน้าและภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ยินแต่เรื่องราวของวัสดุใหม่ที่มีคุณสมบัติสุดล้ำจากฝีมือชาวต่างชาติ แต่แท้จริงแล้วในประเทศไทยเราเองก็มีวัสดุเด็ดๆ “ที่คิดค้นขึ้นใหม่” มากมาย เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน ภายใต้โครงการ Siamese Twist นี้ คุณรชพร ชูช่วย และทีมสถาปนิกจาก all(zone) (บริษัทสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบนิทรรศการ) ได้รับโจทย์ที่เฉพาะเจาะจงกว่านักออกแบบท่านอื่น นั่นก็คือ ให้คัดเลือกวัสดุไทยไปใช้กับงานออกแบบนิทรรศการ

การเลือกวัสดุตั้งต้น
เนื่องจากโจทย์ของทีม all(zone) ถูกกำหนดว่า ต้องนำวัสดุที่เลือกมาเป็นวัสดุหลักในการสร้างนิทรรศการ คุณรชพร หัวหน้าทีมสถาปนิก จึงมองหาวัสดุที่มีศักยภาพในการคลุมพื้นที่ สร้างพื้นที่ และมีคุณสมบัติในการเปลี่ยนแปลงรูปทรงได้ในระดับหนึ่ง ในช่วงแรกนั้น พวกเขาได้เลือกวัสดุไว้ 2 ชนิด นั่นคือ เศษไม้สักที่นำมาเจาะรูร้อยกันเป็นเสื่อ (Teak Mat) และไส้ของกระดาษรังผึ้ง (Honey Comb) แต่เนื่องจาก “เสื่อไม้สัก” มีข้อจำกัดด้านน้ำหนัก (หนักมากๆ) จึงไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นโครงสร้างของนิทรรศการหมุนเวียน (ที่ต้องเคลื่อนย้ายบ่อย) คำตอบเรื่องวัสดุตั้งต้นของทีมนี้จึงมาตกอยู่ที่ “ไส้กระดาษรังผึ้ง”

การต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์
ในฐานะผู้ออกแบบนิทรรศการครั้งนี้ ทีม all(zone) จำเป็นต้องทราบถึงผลงานขั้นสุดท้ายของนักออกแบบที่ร่วมโครงการทุกคนเสียก่อน ซึ่งนั่นเองทำให้ทีมนี้มีเวลาในการทดลองเล่นกับวัสดุค่อนข้างมาก พวกเขาทดลองเทคนิคต่างๆ ร่วม 30 วิธีกับไส้กระดาษรังผึ้ง (มีทั้งที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้) จนในที่สุดเมื่อได้เห็นภาพรวมของผลงานแล้ว จึงได้คัดเลือกเทคนิคที่เหมาะสมมาใช้ งานนี้หากจะบอกว่า “การทดลอง” คือ หัวใจหลักของการต่อยอดเพื่อออกแบบนิทรรศการก็คงจะไม่ผิดนัก

ขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์
ไส้กระดาษรังผึ้งเป็นวัสดุที่เกิดจากรูปหกเหลี่ยมต่อกันเป็นแพทเทิร์น ทำให้มีรูปทรงเป็นอิสระ คาดเดาได้ยาก คุณรชพรจึงเน้นให้ทีมงานค้นหาศักยภาพของวัสดุว่า จะนำมาทำเป็นนิทรรศการได้อย่างไรบ้าง

1. การออกแบบเริ่มต้นจากลักษณะของผลงานที่จัดแสดง คือ ของชิ้นเล็กที่ต้องดูในระยะใกล้ ก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้คนเข้าไปดูใกล้ๆ (มิฉะนั้นจะถูกความว่างกลืนหายไป) ส่วนของที่ชิ้นใหญ่มาก ก็จัดแสดงแบบลอยตัว (ลอยออกมาจากโครงสร้างนิทรรศการ) เพราะมีความโดดเด่นอยู่แล้ว
2. ค้นหาเทคนิคจากโจทย์ที่ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการได้ให้ไว้ (เน้นการเล่าเรื่องที่สื่อถึงกระบวนการทำงานตามลำดับ) ซึ่งนำไปสู่การใช้พื้นที่แบบยาวเหมือน “โต๊ะทดลอง” ที่มีส่วนผสมต่างๆ มาวางผสานกัน โดยทีม all(zone) มองว่า สิ่งที่คนดูต้องการก็คือ พื้นที่เรียบเป็นระนาบเพื่อชมผลงาน บวกกับพื้นที่โค้งซึ่งจะมาช่วยกำหนดขอบเขตการรับชม (ให้เข้ามาโฟกัสกับผลงานชิ้นเล็กๆ ได้)

อุปสรรคและแนวทางแก้ปัญหา
ด้วยความที่เป็นสถาปนิกซึ่งทำงานกับวัสดุก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาจึงมีความเข้าใจเกี่ยวกับตัววัสดุตั้งต้น (กระดาษรังผึ้ง) น้อยมาก นั่นเองทำให้ทีมของคุณรชพรต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อค้นหา “เทคนิคการใช้” ที่เป็นไปได้ทั้งหมด โชคดีว่า พวกเขาค้นพบเทคนิคที่น่าสนใจจากความบังเอิญ อาทิเช่น เมื่อสั่งไส้กระดาษรังผึ้งที่มีความหนา 8 ซม. มาทดลองตัดเป็นแผ่นบาง ก็พบว่า การตัดวัสดุนี้ให้แยกขาดจากกันเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่กลับกลายเป็นว่า ส่วนที่ติดกันอยู่ของกระดาษได้สร้างฟอร์มที่สวยงามขึ้นมา ทีมงานจึงตัดสินใจนำคุณสมบัติข้อนี้มาเป็นเทคนิคในการออกแบบนิทรรศการด้วย

จากแนวคิดสู่ต้นแบบ
จากโจทย์ของนิทรรศการที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กับผลงานหลากหลายขนาด บวกกับการค้นพบเทคนิคตัดแยกกระดาษ (แต่ไม่ให้ขาดออกจากกัน) ทีมนักออกแบบของ all(zone) เลือกนำศักยภาพทั้ง 2 ข้อของไส้กระดาษรังผึ้งมาประยุกต์ใช้ในนิทรรศการนี้ หนึ่งคือ นำไส้กระดาษรังผึ้งมาทำเป็นแผ่นเรียบเพื่อโชว์แพทเทิร์นและใช้งานร่วมกับวัสดุอื่น (แผ่นอะคริลิกใสแบบบาง) สองคือ การดัดโค้ง ยึดสกรู แล้วปล่อยให้ไส้กระดาษทิ้งตัวลงมาอย่างอิสระ (สูงต่ำตามการใช้สอยของพื้นที่)

 

บทสรุป
ทีม all(zone) เผยว่า งานนี้ถือเป็นงานทดลองของพวกเขาจริงๆ ซึ่งก็ตรงกับเป้าหมายของ MCB ที่อยากให้นักออกแบบได้ทดลองเล่นกับวัสดุ ทีมงานทุกคนรู้สึกสนุกและคิดว่า เป็นโอกาสที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ (โดยเฉพาะกับวิชาชีพสถาปนิก) แม้ผลงานสุดท้าย จะเห็นเป็นเพียงนิทรรศการเล็กๆ แต่เบื้องหลังของมันได้ผ่านกระบวนการคิดและทดลองที่ยาวนาน ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับทีมงานที่ลงมือลงแรงกันอย่างเต็มที่