GV Silk แบรนด์ผ้าไหมไฮเทค ผู้ขนานนามตนเองว่า “นักออกแบบวัสดุ”
Materials & Application

GV Silk แบรนด์ผ้าไหมไฮเทค ผู้ขนานนามตนเองว่า “นักออกแบบวัสดุ”

  • 02 Jan 2013
  • 57969

gvsilk1.jpg


"GV Silk เป็นผู้ออกแบบวัสดุ" คุณปิลันธน์ ธรรมมงคล General Manager ของบริษัท ธนไพศาล และบริษัทกรีนวิลล์  สรุปบทบาทของเขาในวงการออกแบบว่าอย่างนั้น

ชื่อของบริษัทธนไพศาลอยู่ในวงการฟอกย้อมผ้าไหมมาหลายปี โดยมีกรีนวิลล์เป็นบริษัทในเครือดูแล ด้านการค้า กรีนวิลล์เริ่มทำงานวิจัยพัฒนาให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของธนไพศาลเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา และได้สร้างโรงทอต้นแบบเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้น ซึ่งเมื่อได้ดำเนินงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และข้อมูลมาถึงจุดหนึ่ง คุณปิลันธน์ก็ตัดสินใจสร้างแบรนด์ผ้าไหมขึ้นเองในชื่อ GV Silk วางตำแหน่งสินค้าเป็นผ้าไหมไฮเทคที่ดูแลรักษาง่าย (Easy Care Silk) ซึ่งนับว่า แตกต่างจากคู่แข่งอื่นมากทีเดียว 

แบรนด์และสินค้าของ GV Silk
GV Silk เน้นขายผ้าไหมเป็นผืนเพื่อเป็นวัสดุในการออกแบบผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วยกระบวนการออกแบบที่ผ่าน การวิจัยและพัฒนามาอย่างดีทำให้ GV Silk เป็นผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงมาก แต่ละรุ่นมีความพิเศษ แตกต่างกันไป ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างเฉพาะเจาะจง (ลูกค้าในที่นี้หมายถึงกลุ่มแฟชั่นดีไซเนอร์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์)

ตลาดหลักของผ้าไหม GV Silk คือ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดระดับบน สินค้าที่ขายมีราคาสูง โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะต้องการความพิเศษในผลิตภัณฑ์ที่ตนใช้ ฉะนั้น รูปแบบและกระบวนการทำงานระหว่าง GV Silk ลูกค้าจะค่อนข้าง Tailor made คือ ลูกค้าจะบอกมาว่าอยากได้ผ้าแบบไหน เขาจะนำผ้าของเราไปใช้ทำสินค้าอะไร จากนั้น GV Silk ก็จะเริ่มออกแบบตั้งแต่เส้นใยที่ใช้ลักษณะเกลียว ขนาด โครงสร้างการทอ การฟอกย้อม ฯลฯ เพื่อให้ได้ผ้าต้นแบบที่ตรงกับแนวคิด หากลูกค้าพอใจ ก็จะสั่งผลิตเพื่อนำผ้าไปออกแบบผลิตภัณฑ์ของเขาต่อไป

ลูกค้ากลุ่มนักออกแบบเองก็ต้องการหาวัสดุใหม่ๆ หรือเส้นใยที่มีสัมผัสแปลกๆ ไปใช้งาน เช่น ลินินผสมกับไหม ขนสัตว์ผสมกับไหม งานของ GV Silk คือ การค้นคว้าวิจัยร่วมกับลูกค้า เป็นงานที่ต้องใช้เวลา แต่ลูกค้าเขายินดีที่จะรอ เพื่อให้ได้ผลงานแปลกใหม่ที่ในตลาดยังไม่มีขาย รวมทั้ง เมื่อผลิตก็ผลิตในจำนวนจำกัด คุณปิลันธน์แห่ง GV SIlk จึงขนานนามตัวเองว่า "นักออกแบบวัสดุ" (Material Designer) และเรียกงานของตัวเองว่า "การเติมเต็มฝัน" ให้กับลูกค้า

เติมฝันอย่างไร - กรณีศึกษาการพัฒนา "รีสอร์ทแวร์"
"ลูกค้ารายหนึ่งบอกว่าอยากจะทำชุดรีสอร์ทแวร์ (Resortwear) คือ เสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ในรีสอร์ท แบ่งเป็นชุดยูนิฟอร์มของเจ้าหน้าที่ และชุดที่นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของที่ระลึกและสวมใส่ในช่วงเวลาพักผ่อน"

โจทย์ข้อแรกของทาง GV Silk คือ วัสดุนี้ต้องเหมาะเป็นยูนิฟอร์มที่ไม่มีฟอร์ม ต้องลบภาพของยูนิฟอร์มที่เรียบแข็งออกไปให้ได้ โจทย์ข้อสอง คือ เวลาที่คนใส่เดินมา อยากให้ได้อารมณ์เหมือนบินมา ทางทีม GV Silk ก็กลับมาตีความว่า"คงเหมือนเราเดินอยู่ชายทะเลแล้วเสื้อผ้าปลิวลม" จากนั้นก็เริ่มต้นออกแบบว่าจะใช้เส้นใยอย่างไร ไหมเป็นส่วนที่พลิ้วปลิวลมอยู่แล้ว แต่น่าจะมีเส้นใยอื่นมาเสริมเพื่อเพิ่มเอกลักษณ์ เราก็ทดลองดูหลายๆแบบ ขนาดของเส้นด้ายก็ไม่ควรใหญ่เพราะถ้าใหญ่ก็จะไม่ปลิว เกลียวก็ควรใส่เพื่อจะได้มีน้ำหนัก โครงสร้างการทอต้องไม่ทอแน่นเกินไป เพราะจะไม่ปลิวลมแต่ก็ต้องไม่แน่นเกินไปเช่นกัน เพราะผ้าต้องมีน้ำหนักรอบรับ การเคลื่อนไหวได้ การตกแต่งสำเร็จก็สำคัญ จะทำอย่างไรให้มันนิ่ม น่วมพลิ้ว ฯลฯ ทุกองค์ประกอบต้องถูกวางแผนและออกแบบไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้ได้ผ้าที่มีคุณลักษณะครบตามโจทย์ทุกประการ ส่วนเรื่องสีหรือลวดลายเอาไว้หลังสุดได้

เรียนรู้ตลาด ศึกษาเทคโนโลยี สู่เส้นทางการพัฒนา
"Reseach เพื่อเข้าถึงปัญหาและความต้องการ Development เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจลูกค้าที่สุด"

ผ้าไหมไทยมีความสวยงามเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีปัญหาในการใช้งานอยู่หลายอย่างกรีนวิลล์ (ผู้ผลิต GV Silk) จึงทำการศึกษากับกลุ่มผู้หญิงต่างวัยที่เดินเข้าร้านขายผ้าไหม เพื่อให้ทราบว่าพวกเธอ อยากได้ผ้าไหมที่มีลักษณะอย่างไรกัน และปัญหาในการใช้งานผ้าไหมนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งก็สรุปได้ว่า ลูกค้าทุกคนอยากได้ผ้าไหมที่สัมผัสนุ่มดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องนำไปซักแห้ง ไม่ยับง่าย ใส่แล้วเย็นสบาย ส่วนปัจจัยด้านราคาที่ค่อนข้างแพงนั้นกลับกลายเป็นอุปสรรคข้อท้ายๆในการตัดสินใจซื้อ แสดงชัดว่าเมื่อพูดถึง "ผ้าไหม" ผู้คนสนใจในคุณสมบัติของผ้ามากกว่าราคา

gvsilk3.jpg

เพื่อจะสร้างสรรค์ผ้าไหมให้มีคุณสมบัติได้ครบตามที่ลูกค้าต้องการ กรีนวิลล์นำข้อมูลการสำรวจมาวิจัยพัฒนาต่อยอดในหัวข้อ "Easy Care Thai Silk" เริ่มตั้งแต่การสร้างเครื่องทอและเครื่องมือใหม่ๆ จนถึงการทำ ต้นแบบผ้าครั้งแรก (ซึ่งก็ยังไม่สวยสมบูรณ์) เทคโนโลยีการฟอกย้อมยังเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนานี้ กรีนวิลล์จึงตัดสินใจไปศึกษาดูงานในประเทศอิตาลีและซื้อเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเข้ามา

ข้อดีของการผลิตภายใต้การวิจัยและออกแบบ
เมื่อวัสดุใหม่ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้การวางแผน เทคนิค และรายละเอียดเฉพาะตัว โอกาสที่ผู้อื่นจะมาลอกเลียนได้นั้นแทบไม่มีเลย ลูกค้าก็พึงพอใจที่สินค้าที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทำให้เขาสามารถตั้งราคาได้สูง ต่อมาก็จะสั่งผลิตซ้ำอีกจนเป็นลูกค้าประจำกันไป ส่วนผลดีด้านการตลาด คือ หลายคนที่เห็นผลงานของ GV Silk ก็ติดต่อเข้ามาหาเราเองเราแทบไม่ต้องทำการตลาดเลย

ความแตกต่างในวิธีการย้อมผ้า
"ไหมในประเทศไทยส่วนมากจะใช้วิธีย้อมเส้นด้ายก่อนแล้วค่อยนำไปทอ แต่เราใช้วิธีย้อมทั้งผืนซึ่งไม่มีใครทำ เพราะต้องใช้ความรู้พิเศษนอกเหนือจากความรู้ที่มีอยู่ในประเทศ"

เราคงเคยเห็นผ้าไหมไทยที่มีสีเหลือบในตัวเอง นั่นเกิดจากวิธีการย้อมเส้นไหมก่อนแล้วค่อยนำไปทอ โดยใช้เส้นพุ่งกับเส้นนอนคนละสี ก็จะได้สีเหลือบขึ้นมาในผืนผ้า ซึ่งหลายคนคิดว่า นี่ก็น่าจะเป็นข้อดี แต่สำหรับกรีนวิลล์นั้น เลือกการทอแล้วย้อมทีเดียวทั้งผืนซึ่งสีที่ได้จะเป็นสีพื้นเรียบๆ แต่นั่นกลับทำให้ไหมของที่นี่แตกต่างจากสินค้าอื่นในตลาด และให้ผลลัพธ์ในเรื่องผิวสัมผัสที่ดีกว่า ทั้งยังสามารถใส่ลูกเล่นในผิวสัมผัสได้ดีขึ้น

gvsilk2.jpg

ส่วนในกระบวนการปรับเปลี่ยนผ้าไหมให้ดูแลรักษาง่ายนั้น ต้องการการปรับปรุงทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดซื้อ คัดเลือกคุณภาพของเส้นไหม ขนาดของเส้นด้าย จำนวนเกลียวที่ใช้ โครงสร้างของผ้า การฟอกย้อม และการตกแต่งสำเร็จต้องปรับทั้งกระบวนการ นอกจากนั้นยังต้องทำการวิจัยและพัฒนาสีย้อมกลุ่มใหม่ๆ เพื่อให้มีคุณสมบัติติดทนแข็งแรง (สีไม่ตก)

เทคโนโลยีสะอาดของกรีนวิลล์
เป็นแนวคิดสำคัญอีกประการหนึ่งที่กรีนวิลล์ยึดมั่นมาโดยตลอด "คลีนเทคโนโลยี" (Clean Technology) เป็นกระบวนการผลิตและบริโภคที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ประกอบด้วย 1A และ 3R

1A คือ Avoid (หลีกเลี่ยง) คือหลีกเลี่ยงการใช้สารพิษและสารที่ย่อยสลายยาก เช่น พวกโลหะหนัก ซึ่งพบได้ในสีย้อมที่เป็นพิษหรือแตกตัว ถ้าพบว่ามีสารก่อมะเร็งหรือสารต้องห้ามต่างๆ เราก็หลีกเลี่ยง รวมทั้งเลี่ยงกระบวนการที่ใช้น้ำหรือพลังงานมากเกินจำเป็น

3R คือ Reduce (ลด) เช่น ลดการใช้น้ำและพลังงาน ลดการใช้สี ลดการใช้เคมี ในกระบวนการย้อมผ้า สีที่ดีจะเกาะติดในเนื้อผ้าได้ 90% ฉะนั้นก็จะเหลืออยู่ในน้ำทิ้งเพียง 10% แต่ถ้าสีบางชนิดที่ติดผ้าได้แค่ 70% อีก 30% ก็จะปนเปื้อนอยู่น้ำทิ้ง Reuse (ใช้ซ้ำ) เช่น น้ำล้างขั้นสุดท้ายที่ยังสะอาดอยู่ ก็สามารถนำกลับไปใช้เป็นน้ำแรกใน กระบวนการตั้งต้นได้ Recycle (หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่) เป็นการรวบรวมของเหลือใช้จากการผลิตส่งไปให้โรงงานรีไซเคิลโรงงานเหล่านั้นจะนำวัสดุหรือชิ้นส่วนที่ ได้รับไปผ่านกระบวนการให้สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก ซึ่งส่วนนี้อยู่นอกเหนือการผลิต

ระบบคลีนเทคโนโลยีกับต้นทุนการผลิต
"เราอยากให้คนไทยเลิกมองว่าสิ่งแวดล้อมคือภาระหรือต้นทุน แต่อยากให้คิดว่าสิ่งแวดล้อมคือกำไร"

หลายคนเข้าใจว่า เมื่อเปลี่ยนระบบการผลิตมาใช้คลีนเทคโนโลยี โรงงานจะประสบปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น เรื่องนี้คุณปิลันธน์จากกรีนวิลล์ให้ความเห็นว่า กระบวนการเหล่านี้มีทั้งส่วนที่ลงทุนมาก ลงทุนน้อย หรือไม่ต้องลงทุนอะไรเลยผสมผสานกันแต่เมื่อระบบถูกวางไว้เรียบร้อยแล้วต้นทุนโดยรวมจะลดลงมากกว่า

ปีๆหนึ่งกรีนวิลล์เสียค่าบำบัดประมาณ 2 ล้านกว่าบาท แต่เราประหยัดในกระบวนการทั้งหมดได้ 17 ล้าน เป็นกำไรระยะยาว

สัญลักษณ์ EU Flower
ตอนนี้กระแสการใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง ในยุโรปเขาตื่นตัวกันมาเป็น 20 ปีแล้ว จึงมีการมอบตรา
EU Flower ให้กับสินค้าที่ขายในยุโรป เป็นตราสัญลักษณ์ที่รับรองว่าวงจรชีวิตของสินค้าชิ้นนั้นสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำมาก ตั้งแต่การผลิต การใช้งาน จนถึงการนำไปทิ้งเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว

GV Silk เป็นแบรนด์ผ้าไหมแบรนด์แรกในโลกที่ได้รับสัญลักษณ์ EU Flower นี้ ซึ่งทำให้ตลาดยุโรปเปิดรับเราทันทีไม่ต้องตรวจสอบอะไรมาก ทั้งยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับการผลิต และพัฒนาสินค้าเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นด้วย

แรงบันดาลใจจาก TCDC และ Material Connexion
คุณปิลันธน์กล่าวว่า แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์วัสดุใหม่ๆของ GV Silk นั้นได้มาจากห้องสมุด Material Connexion ที่ TCDC ด้วย เพราะเป็นที่ที่เปิดโลกทัศน์และให้แรงบันดาลใจกับเขามาก

เมื่อเจ้าหน้าที่ของ Material Connexion ชักชวนคุณปิลันธน์ให้เข้ามาเยี่ยมชม รวมทั้งเชิญชวนให้นำเสนอวัสดุเข้าไปทางกรีนวิลล์จึงนำวัสดุเข้าไปเสนอ 3 - 4 ชนิด และได้รับเลือกให้อยู่ในรายการของ Material Connexion จากจุดนั้นเอง ทำให้กรีนวิลล์ได้พบกับกลุ่มคนที่จุดประกายความคิดใหม่ให้กับเขาอีก นั่นคือ กลุ่มโครงการ Cradle to Cradle ซึ่งก่อตั้งโดย ไมเคิล บุงการ์ด นักเคมีชาวเยอรมัน และ วิลเลียม แมคโดนัลด์ นักออกแบบชาวอเมริกัน กรีนวิลล์ได้พบปะกับผู้ริเริ่มแนวคิดดังกล่าว และร่วมมือกับ Material Connexion ในการโปรโมทวัสดุใหม่ๆ ภายใต้แนวคิดนี้ ซึ่งในอนาคต
อันใกล้ เราคงได้เห็นวัสดุใหม่ๆจากกรีนวิลล์ (ภายใต้แนวคิด C2C) ในห้องสมุด Material Connexion อย่างแน่นอน

สนใจติดต่อ www.gvsilk.com