เซลลูโลสกับจานที่ไม่มีวันเปื้อน
Materials & Application

เซลลูโลสกับจานที่ไม่มีวันเปื้อน

  • 06 Feb 2014
  • 23097
งานบ้านเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันที่ทุกครัวเรือนเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีและความช่างสงสัยของมนุษย์ที่ค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ได้สิ่งที่ตอบสนองความต้องการได้ถึงขีดสุด ทำให้ทุกวันนี้เรามีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกมากมาย ไม่เว้นแม้แต่การล้างจานที่แสนจำเจ
 
เครื่องล้างจานที่ว่าทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน อาจตกเทรนด์ไปเลย เมื่อสตูดิโอออกแบบ Tomorrow Machine ประเทศสวีเดน ได้คิดค้น ‘จานที่ทำความสะอาดตัวเองได้’ โดยในชุดประกอบด้วยจานสีขาว และชามพื้นขาวริ้วน้ำเงินที่ผลิตจากเซลลูโลสหรือสารประกอบอินทรีย์จำพวกคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากพืช และเคลือบผิวด้วยสุดยอดสารกันน้ำที่เรียกว่า ‘ซูเปอร์ไฮโดรโฟบิก’ พัฒนาโดยสถาบัน KTH Royal Institute of Technology  กรุงสต็อกโฮม ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากพื้นผิวของใบบัว นอกจากคุณสมบัติกันน้ำแล้ว ยังป้องกันสิ่งสกปรกและคราบน้ำมันไม่ให้ติดจานได้ด้วย โดยของเหลวที่อยู่บนจานจะจับตัวกันเป็นหยดน้ำ เมื่อต้องการทำความสะอาดก็เพียงแค่เททิ้งหรือเช็ดออก จานจึงยังสะอาดอยู่ได้โดยไม่ต้องล้าง เหมาะสำหรับใช้ในกรณีที่ไม่สะดวกล้าง อย่างงานปาร์ตี้นอกสถานที่ ตั้งแคมป์ ปิกนิก หรือใช้สอยภายในครัวเรือน
 
selfclean
 
จานที่ไม่มีวันเปื้อนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ Ekoportal 2035 โดยสหพันธ์อุตสาหกรรมป่าไม้แห่งสวีเดน ร่วมกับองค์กรวิจัย Innventia ที่วิจัยถึงความเป็นไปได้ในการใช้เซลลูโลสสำหรับสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าดีกว่าการใช้จานกระดาษในแง่ที่ช่วยประหยัดงบประมาณและเวลา ลดปริมาณขยะ และที่สำคัญคือลดการทำลายป่าเพื่อผลิตเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์จากเซลลูโลสจึงเป็นอีกหนึ่งวัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
selfclean2
 
ในอนาคตข้างหน้า Ekoportal 2035 ยังวางแผนจะใช้ประโยชน์จากเซลลูโลสในการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกที่สามารถผลิตได้ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ รวมไปถึงใช้เซลลูโลสที่มีโมเลกุลเล็กระดับนาโนและมีคุณสมบัตินำไฟฟ้า สามารถเชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพื่อใช้ผลิตหน้าจอทัชสกรีนแบบโปร่งใสที่สามารถถ่ายภาพสิ่งต่างๆ และสัมผัสที่หน้าจอเพื่อค้นคว้าข้อมูลได้แบบเดียวกับในภาพยนตร์ Sci-fi ล้ำยุค รวมไปถึงต่อยอดการพัฒนาสารเคลือบผิวซูเปอร์ไฮโดรโฟบิกในรูปแบบสเปรย์เพื่อให้ที่สามารถฉีดพ่นลงไปบนวัตถุต่างๆ ได้ตามต้องการ
 
selfclean3
 
โปรเจ็กต์นี้จึงนับเป็นต้นแบบของจุดบรรจบทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่ปูทางให้เห็นถึงแนวโน้มของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่ออนาคตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
 
ข้อมูลและภาพจาก: core77.commocoloco.com