ตามติดโครงการ The Cooperation2 โดย Material Connexion Bangkok ตอนที่ 1 “Meet the Match”
Materials & Application

ตามติดโครงการ The Cooperation2 โดย Material Connexion Bangkok ตอนที่ 1 “Meet the Match”

  • 31 Mar 2014
  • 20340

เรื่อง : วิสาข์ สอตระกูล
cooperation.jpg

1st.jpg 

หลังจากประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในปีที่แล้ว โครงการชื่อเก๋อย่าง The Cooperation (คู่)สร้างสรรค์ โดยห้องสมุด Material Connexion® Bangkok ก็กลับมาอีกครั้งตามคำเรียกร้อง

โดยในปีที่ 2 นี้แนวคิดหลักก็ยังคงคล้ายกับปีก่อน นั่นก็คือ เป็นโครงการที่ประสานพลังระหว่าง 4 ผู้ผลิตวัสดุ กับ 4 นักออกแบบไทย ที่จะมาจับคู่กันทำงาน “แบบลงลึก” ผ่านการเวิร์คชอปอันยาวนานร่วม 8 เดือน (มกราคม - สิงหาคม 2557) ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงการจัดนิทรรศการและการสัมมนาในเดือนกันยายน

ทั้งนี้เส้นชัยของแต่ละคู่ก็อยู่ที่การนำเสนอ “ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ” ซึ่งเกิดจากการประยุกต์ใช้วัสดุไทยของฝ่ายผู้ผลิต และมีเป้าหมายสูงสุดว่าต้นแบบผลิตภัณฑ์นั้นควรจะ “มีศักยภาพครบ” ทั้งในเชิงพาณิชย์และในการผลิตแบบอุตสาหกรรมด้วย

Meet the Match : ทำความรู้จักและแนะนำตัว
การพบกันครั้งแรกของ 4 ผู้ผลิต และ 4 นักออกแบบในปีนี้เริ่มต้นขึ้นในบรรยากาศสบายๆ ณ ห้องสมุด Material Connexion® กรุงเทพ โดยคุณชมพูนุท วีรกิตติ ผู้อำนวยการห้องสมุด Material Connexion® ได้เกริ่นนำถึงแนวคิดและวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างย่อๆ ว่า เป็นโครงการที่เน้นหนักในเรื่อง “กระบวนการทำงาน” ระหว่างผู้ผลิตและนักออกแบบ รวมไปถึงการพัฒนา “ความสัมพันธ์ระดับอาชีพ” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในแวดวงอุตสาหกรรมออกแบบไทย (จากในอดีตที่เหมือนต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ ไม่ค่อยมีความเชื่อมโยงกันมากนัก)

ต่อจากนั้นทีมงานได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 8 ท่าน (รวม 4 คู่) ขึ้นกล่าวแนะนำตัวเอง พร้อมนำเสนอโปรไฟล์การทำงาน ความคาดหวัง และความสนใจพิเศษของแต่ละคนที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้

C2.jpg

 

คู่ที่หนึ่ง นวัตกรรมไบโอเซลลูโลส VS แฟชั่นแนวทดลอง

ผู้ผลิตวัสดุ : สมบัติ รุ่งศิลป์ (บจก.ไทยนาโนเซลลูโลส) ผู้ผลิตวัสดุไบโอเซลูโลสแบบแห้ง

นักออกแบบ กฤษณ์ เย็นสุดใจ นักออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่น

โจทย์ความเป็นไปได้ในการออกแบบ: ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องหนัง และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้าน 

 

ไทยนาโนเซลลูโลส ผู้ผลิตวัสดุไบโอเซลลูโลสแบบแห้ง
สมบัติ รุ่งศิลป์ และบริษัทไทยนาโนเซลลูโลส (จังหวัดพัทลุง) ถือเป็นบริษัทไทยรายแรกและรายเดียวที่ผลิตเส้นใยเซลลูโลสชีวภาพ”​ ขึ้นจากการเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ในปลายข้าวเล็บนก (พันธุ์ข้าวท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุง) โดยในกระบวนการผลิตนั้นทีมวิจัยของบริษัทได้ใช้น้ำสับปะรด”​ มาเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งถือเป็นกระบวนการผลิตที่เป็นธรรมชาติ 100% และใช้เวลาผลิตเส้นใยเพียง 7 – 10 วันเท่านั้น

ที่ผ่านมาบริษัทไทยนาโนเซลลูโลสมีสินค้าหลายตัวที่ผลิตป้อนให้กับอุตสาหกรรมการแพทย์และเวชสำอาง แต่ปัจจุบันมีสินค้าตัวใหม่ คือ “เส้นใยเซลลูโลสแบบแห้ง” ที่ทางบริษัทต้องการจะค้นหาแนวทางการต่อยอดร่วมกับนักออกแบบ

ลักษณะและคุณสมบัติเด่นของเส้นโยเซลลูโลสชีวภาพ (Bio cellulose)
1. เส้นใยมีขนาดเล็กมาก (เล็กกว่าเส้นผม 1000 เท่า)

2. เป็นสารโพลีเมอร์ธรรมชาติ โครงสร้างประกอบด้วยโมเลกุลน้ำตาลกลูโคสที่เชื่อมต่อกันเป็นสายยาว
3. มีคุณสมบัติเด่น คือ อุ้มน้ำได้ดี สะอาดบริสุทธิ์ สีขาวนวล เหนียว แข็งแรง (ใกล้เคียงกับอลูมิเนียม) ทนกรดด่าง รังสี และความร้อน ไม่ละลายน้ำ 4. ผลิตจากจุลินทรีย์ Acetobacter xylinum (สายพันธุ์ที่ไม่ทำให้เกิดโรค) สามารถผลิตได้เร็วและจำนวนมาก

กระบวนการผลิตวัสดุ
คร่าวๆ มีเพียง 4 ขั้นตอน คือ
1. เตรียมหัวเชื้อจุลินทรีย์และอาหารเพาะเลี้ยงเชื้อ (ข้าว, สับปะรด) ใส่ลงในกระบะ
2. เพาะเลี้ยง 7 - 10 วัน (ณ อุณหภูมิห้อง) รอให้เชื้อสร้างเส้นใยขึ้น
3. นำไปผ่านกระบวนการค่าเชื้อ นึ่งด้วยความร้อน แปรรูปเส้นใยให้บริสุทธิ์
4. ตัดแต่งวัสดุ แปรรูปตามต้องการ เช่น เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมสำหรับทำมาสก์หน้า เป็นวัสดุปิดบาดแผล ฯลฯ

นักออกแบบ : กฤษณ์ เย็นสุดใจ
กฤษณ์ เย็นสุดใจ คือนักออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นจอมทดลอง จบปริญญาตรีด้านอินทีเรียร์ดีไซน์จาก Design Institute of San Diego สหรัฐอเมริกา และปริญญาโทด้านแฟชั่นดีไซน์จากสถาบัน MARANGONI ประเทศอิตาลี เคยผ่านการทำงานกับห้องเสื้อชั้นนำระดับโลกมาแล้วหลายแห่ง (เช่น Prada และ Isabelle Marant) และเคยได้รับรางวัลด้านการออกแบบจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ (เช่น รางวัล Designer of the Year และรางวัล Designer For Asia Awards)

ปัจจุบันกฤษณ์เป็นนักออกแบบและผู้จัดการโครงการประจำมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง งานออกแบบแต่ละคอลเล็กชั่นของเขาจะมีเทคนิคที่สร้างสรรค์และเฉพาะตัวอย่างมาก เขามักนำวัสดุที่อยู่นอกเหนือการคาดเดามาใช้กับเครื่องแต่งกาย ทำให้งานมีความแปลกใหม่และน่าสนใจอยู่เสมอ

C3.jpg

 

 

คู่ที่สอง ปุยนุ่นธรรมชาติ VS งานออกแบบไลฟ์สไตล์โปรดักท์

ผู้ผลิตวัสดุ: วิญญู วรัญญู (หจก.ที่นอนจารุภัณฑ์) ผู้ผลิตนุ่นธรรมชาติ

นักออกแบบ: จุฑามาส บูรณะเจตน์ และ ปิติ อัมระรงค์ จาก O-D-A (Object Design Alliance)

โจทย์ความเป็นไปได้ในการออกแบบ: สินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่บอกเล่าเรื่องราวและคุณสมบัติพิเศษของนุ่น

 

 

โรงงานที่นอนจารุภัณฑ์ ผู้ผลิตปุยนุ่นบริสุทธิ์ 100%
วิญญู วรัญญู ทายาทรุ่นที่สองของครอบครัวผู้ผลิตที่นอนนุ่นจารุภัณฑ์ (ของดีประจำจังหวัดราชบุรีในอดีต) กำลังวางแผนที่จะทำธุรกิจปุยนุ่นครั้งใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การทำเกษตรกรรมปลูกต้นนุ่น การผลิตเส้นใย เรื่อยไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นจากเส้นใยที่เก็บเกี่ยวได้

วิญญูมองว่าความท้าทาย ณ ปัจจุบันของเขาอยู่ที่การนำศักยภาพแท้ๆ ของ นุ่น 100%” อาทิเช่น ปราศจากเชื้อโรค ไม่มีไรฝุ่น ไม่ขึ้นรา ไม่ดูดซับน้ำ ไม่ดูดซับอุณหภูมิ น้ำหนักเบา ฯลฯ มาต่อยอดสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ (ทั้งประเภท Indoor และ Outdoor), กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (ประเภทเสื้อกันหนาว, ชุดเดินป่า) หรือแม้กระทั่งเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์กลุ่มออร์แกนิกส์ต่างๆ

คุณสมบัติและศักยภาพที่แท้จริงของนุ่น
หลังจากได้รับการติดต่อจากห้องสมุด Material ConneXion กรุงเทพฯ ในการส่งวัสดุ นุ่นเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวัสดุเส้นใยธรรมชาติของไทยในปีพ..2554 ทุกวันนี้เส้นใยนุ่นของแบรนด์ จารุภัณฑ์ได้รับการรับรองจากห้องสมุดเพื่อการออกแบบ Material ConneXion, Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่ามีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. มีน้ำหนักเบากว่าเส้นใยฝ้ายถึง 5 เท่า
2. เป็นวัสดุที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
3. ไม่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ ปราศจากกลิ่น
4. ลอยน้ำได้ และมีแรงต้านน้ำถึง 30 เท่าต่อน้ำหนักจริงของตัววัสดุ (หรือประมาณห้าเท่าของแรงดีดตัวในน้ำเมื่อเทียบกับวัสดุไม้ก๊อก)
5. เป็นฉนวนควบคุมอุณหภูมิได้ดีเยี่ยม
6. สามารถซึมซับคราบน้ำมันได้เป็นอย่างดี

นักออกแบบ : จุฑามาส บูรณะเจตน์ และ ปิติ อัมระรงค์ จาก O-D-A
O-D-A คือ การทำงานของสองคู่หูนักออกแบบที่มีแบคกราวน์ความถนัดต่างกัน จุฑามาส บูรณะเจตน์ จบสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ ส่วนปิติ อัมระรงค์ จบสาขานิเทศศิลป์ (กราฟิก) อย่างไรก็ดีทั้งคู่มองว่าวิธีแก้ปัญหาในงานออกแบบสาขาต่างๆ นั้นแท้จริงแล้วก็ไม่ได้ต่างกันเลย สำคัญอยู่ที่การสร้างระบบคิดที่ถูกต้องส่งผลให้การทำงานของคนคู่นี้เน้นหนักที่การค้นหา แก่นสารอันเป็นจุดร่วม นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่กวาดรางวัลมาแล้วมากมาย อาทิเช่น Designer of the Year 2008 จากมหาวิทยาลัยศิลปากร, 'Grand Prix' Award จาก Nextmaruni Wooden Armchairs Competition 2005, 'The Honourable Mentions' จาก Promosedia International Design Competition 2007 และ \'Finalist\' จาก International Furniture Design Competition ASAHIKAWA (IFDA) 2008 เป็นต้น

ผลงานของ O.D.A. นอกจากส่วนที่ส่งประกวดตามเวทีต่างๆ แล้ว ยังมีผลงานที่ทำให้กับลูกค้าในธุรกิจอุตสาหกรรมจริง อาทิเช่น การออกแบบและผลิตเก้าอี้เด็กให้กับแบรนด์ KATOJI ประเทศญี่ปุ่น, การออกแบบถ้วยชามสำหรับเด็ก, ฯลฯ รวมไปถึงยังมีผลงานที่ O.D.A. ออกแบบและผลิตเพื่อขายเองด้วย เช่น เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ


C4.jpg

คู่ที่สาม ไม้อัดปิดผิว VS ดีไซน์เพื่อคุณภาพชีวิต

ผู้ผลิตวัสดุ : บจก.ลีโอวูด อินเตอร์เทรด ผู้ผลิตวัสดุไม้แปรรูป ไม้อัดปิดผิวไม้จริง และพื้นไม้เอ็นจีเนียร์

นักออกแบบ :  นิพิฐพนธ์ ภูริชบุญทรัพย์

โจทย์ความเป็นไปได้ในการออกแบบ: พัฒนาลวดลายและรูปแบบของวัสดุเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานที่หลากหลาย

ลีโอวูด อินเตอร์เทรด ผู้ผลิตไม้อัดปิดผิวไม้จริงและพื้นไม้เอ็นจีเนียร์
บจก. ลีโอวูด อินเตอร์เทรด คือผู้นำในการผลิต นำเข้า และการจัดจำหน่ายสินค้าพื้นไม้และประตูทุกชนิด ด้วยประสบการณ์ในวงการค้าไม้ที่ยาวนานกว่า 40 ปี บจก. ลีโอวูด อินเตอร์เทรด มีปณิธานทางธุรกิจที่แน่วแน่ว่าจะให้ความสำคัญกับหัวใจ 3 เรื่อง คือ 1. คุณภาพ 2. สิ่งแวดล้อม และ 3.การบริการ ซึ่งนั่นก็นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเลือกสรรวัตถุดิบที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานให้น้อยที่สุด (แต่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด) ด้วย

ความมุ่งหวังของ บจก. ลีโอ อินเตอร์เทรด ในการเข้าร่วมโครงการนี้อยู่ที่การนำวัสดุ “ไม้เอ็นจีเนียร์” ซึ่งมีความทนทานสูง มาออกแบบเป็นวัสดุปิดผิวประเภทอื่นๆ ที่มีอรรถประโยชน์เหนือกว่าพื้นไม้ธรรมดา

นักออกแบบ : นิพิฐพนธ์ ภูริชบุญทรัพย์
นิพิฐพนธ์ ภูริชบุญทรัพย์ คือ นักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่จับพลัดจับผลูได้ทำงานออกแบบ

เก้าอี้สำหรับผู้พิการสมองจากงานวิทยานิพนธ์ของตัวเอง (ที่คณะสถาปัตย์ฯ ลาดกระบัง) จากเดิมที่ตั้งใจจะทำงานให้เสร็จภายในหนึ่งปีการศึกษา นิพิฐพนธ์ต้องกลับมาสานต่อโครงการนี้ให้ใช้งานจริงได้ในปีที่สองหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว เขาพัฒนาต้นแบบเก้าอี้ออกมากว่า 5 ตัว จนได้เก้าอี้ที่เหมาะสมกับการนำไปใช้งานมากที่สุด

ผลงานเก้าอี้ชิ้นสำเร็จของนิพิฐพนธ์สามารถรองรับพฤติกรรมของทั้งผู้พิการทางสมองและผู้ดูแลได้โดยตรง อาทิเช่น ช่วงศีรษะสามารถปรับระดับได้เพื่อช่วยในการทรงตัว บริเวณที่นั่งออกแบบให้เป็นตัว U ลึกลงไปเพื่อป้องกันการลื่นไหล มีเข็มขัดรัดช่วงตัวด้านล่างเพื่อความปลอดภัยในการนั่ง ตัวเก้าอี้ใช้วัสดุประเภทไม่ซับน้ำ เช่น ฟองน้ำไม่ดูดซับน้ำ ผ้าไม่ซับน้ำ และสานเก้าอี้ด้วยลวดลายแบบโปร่งเพื่อให้ระบายอากาศได้ดี นอกจากนั้น นิพิฐพนธ์ยังได้ทำงานร่วมกับทีมแพทย์ด้านออโธปิดิกส์ จิตวิทยา และพฤติกรรมของผู้พิการทางสมอง จนพบว่า การนั่งที่ถูกท่านั้นจะส่งผลให้ผู้พิการทางสมองมีสุขภาพปอดที่แข็งแรงขึ้น เกิดโรคแทรกซ้อนน้อยลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในท้ายที่สุดได้

ผลงานชิ้นนี้ของนิพิฐพนธ์ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติในปีพ..2552 และได้ถูกนำไปผลิตจริงเพื่อแจกจ่ายให้กับครอบครัวที่มีผู้พิการทางสมองในเวลาต่อมา (โดยบริษัทโยธกา อินเตอร์เนเชั่นแนล)

ในแง่ของกระบวนการทำงานนั้น หลักคิดของนิพิฐพนธ์ คือ การออกแบบบนพื้นฐานความเป็นจริงเขาจะดูว่าศักยภาพการผลิตของโรงงานที่ร่วมงานด้วยคืออะไร ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ฯลฯ แล้วจึงค่อยคิดต่อยอดจากจุดนั้น โดยเน้นหนักที่การคิดทดลองเทคนิคใหม่ๆ กับเทคโนโลยีการผลิตที่มีอยู่เดิม


C1.jpg

คู่ที่สี่ ผ้าผสมเส้นใยธรรมชาติ VS งานศิลปะเท็กซ์ไทล์

ผู้ผลิตวัสดุ : บัณฑิต พงศาโรจนวิทย์ (บจก.ไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์) ผู้ผลิตวัสดุผ้าผสมเส้นใยธรรมชาติ

นักออกแบบ : ขนิษฐา นวลตรณี

โจทย์ความเป็นไปได้ในการออกแบบ: นำวัสดุเส้นใยธรรมชาติไปประยุกต์ใช้ในแอพลิเคชั่นอื่นๆ ที่มีความแตกต่างจากที่เห็นทั่วไป

ไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ ผู้ผลิตผ้าผสมเส้นใยธรรมชาติ
จากธุรกิจทอผ้าโสร่งพม่าในปีพ..2526 ปัจจุบันบริษัทไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ได้ขยายอาณาจักรธุรกิจสู่การผลิต ผ้าสำหรับป้อนให้หลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เคหะสิ่งทอ รองเท้ากระเป๋า ฯลฯ และด้วยแนวคิดของหัวเรือใหญ่ บัณฑิต พงศาโรจนวิทย์ ที่ต้องการจะบริหารธุรกิจนี้ให้ยั่งยืนแบบถาวร (ไม่ใช่แค่ประคองให้อยู่รอด) เขาจึงอยากพัฒนาแนวคิดของธุรกิจให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และหันมาเดินในเส้นทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา บัณฑิตค้นพบศักยภาพของเส้นใยจากพืชธรรมชาติหลายชนิด เช่น กล้วย ปอ ตาล ชา เปลือกกาแฟ ข่า บัว ฯลฯ จึงตัดสินใจนำมาวิจัยพัฒนาต่อ และทดลองทอเส้นใยผสมเหล่านี้ขึ้นเป็นผ้าผืนเพื่อจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ โดยในช่วงปีพ..2553 – 2555 บริษัทไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ได้รับรางวัลจากผลงานการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลไทยสร้างสรรค์จาก OKMD, รางวัล Design Innovation จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, รางวัล Demark ประเภท Fashion Products, รางวัล Good Design Award (G-Mark) จากสมาคมส่งเสริมการออกแบบอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ

นักออกแบบ : ขนิษฐา นวลตรณี
ขนิษฐา นวลตรณี คือ ศิลปินและนักออกแบบผู้ที่ชอบเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ชอบทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เธอจบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขา Textile Art and Design จากมหาวิทยาลัย Aalto University เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินเเลนด์ และเคยทำงานให้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมาก่อน

ในช่วงที่ขนิษฐาได้ไปใช้ชีวิตในประเทศฟินแลนด์เป็นเวลาเกือบสามปี เธอเล่าว่าบรรยากาศและความงามของธรรมชาติที่นั่นได้ทำให้จิตใจของเธอสงบเย็น ช้าลง และมีสติมากขึ้น

ผลงานวิทยานิพนธ์ของเธอที่มีชื่อว่า “Impermanence of things” (ความไม่แน่นอนของสรรพสิ่ง) ได้รับอิทธิพลจากการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติบนพื้นฐานความเชื่อแบบพุทธ โดยเธอเลือกใช้สีทั้งหมดจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ (ที่พบได้ในเฮลซิงกิเเละพื้นที่ใกล้เคียงนำมาผ่านกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ (ซึ่งมีความไม่เเน่นอนสูง) และผลิตขึ้นเป็น Experimental textile sculpture (ใช้เทคนิคการขึงเส้นฝ้าย 1040 เส้นระหว่างผนังสองด้านเป็นลักษณะ hyperbolic geometry 16 เลเยอร์) ถือเป็นผลงานแนว illusion art ที่สื่อสารถึงแนวคิด ความไม่แน่นอนตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันขนิษฐาเป็นนักออกแบบอิสระที่สนใจงานทางด้าน Surface design และ Textile art เป็นหลัก

** ติดตามก้าวต่อไปของโครงการ The Cooperation 2 ได้ทุกเดือนที่  www.tcdcconnect.com