Materials & Application
ไหมอีรี่ (Eri Silk)
หากพูดถึงผ้าไหม บรรดานักออกแบบร่วมสมัยและคนรุ่นใหม่อาจรู้สึกว่าไกลตัวในการหยิบจับมาประยุกต์ใช้กับไลฟ์สไตล์ของวันนี้ แต่ทุกวันนี้ ผ้าไหมไม่ได้มีเพียงชนิดเดียวและไม่จำเป็นต้องถูกสำรองให้สำหรับผู้สูงอายุที่นิยมแต่งกายแบบไทยแท้เท่านั้น แต่ยังมีผ้าไหมสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่าง “ไหมอีรี่ (Eri Silk)” ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญซึ่งถูกต่อยอดโดยนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ผสมผสานความเข้าใจและองค์ความรู้ด้านการออกแบบร่วมสมัย เข้ากับทักษะพื้นถิ่นในการทอผ้าที่สืบต่อกันมาเป็นเวลานาน จนสร้างเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง
• ไหมเป็นเส้นใยธรรมชาติที่มีความมันแวววาว ชาวจีนรู้จักเลี้ยงไหมเพื่อนำเส้นใยมาทำเครื่องนุ่งห่มนานกว่า 4,000 ปีมาแล้ว ขณะที่ชาวยุโรปถือว่าไหมเป็นผ้าพิเศษที่ใช้เฉพาะราชวงศ์และขุนนางชั้นสูงเท่านั้น ความแตกต่างของการใช้เส้นใยไหมของแต่ละชาติมักปรากฏที่เนื้อผ้า ลวดลายปัก และศิลปะการถักทอ ซึ่งทำให้ได้ผืนผ้าไหมที่มีลักษณะต่างๆ กันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ
• เส้นใยไหมที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงและเป็นที่รู้จักกันดีคือไหมหม่อน (Mulberry Silk) ซึ่งได้จากหนอนไหมที่กินใบหม่อนเป็นอาหาร ส่วน “ไหมอีรี่” (Eri Silk) เป็นไหมป่าเพียงชนิดเดียวที่สามารถเลี้ยงได้ครบวงจรชีวิต เพื่อนำเส้นใยมาใช้ประโยชน์ และไม่ต้องใช้ใบหม่อนเป็นอาหาร แต่มักใช้ใบละหุ่งและใบมันสำปะหลังเลี้ยงไหมอีรี่ทดแทน
• ในประเทศไทยเริ่มเลี้ยงไหมอีรี่ตั้งแต่ปี 2517 โดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยและรักษาพันธุ์ไว้ที่สถานีวิจัยพลิ้ว จ.จันทบุรี ต่อมาโครงการวิจัยเกษตรที่สูงเพื่อหาอาชีพเสริมให้ชาวเขาทดแทนการปลูกฝิ่น ได้นำไหมอีรี่ขึ้นไปเลี้ยงบนดอยอ่างขางและดอยปุย จ.เชียงใหม่ แต่เลี้ยงไม่ได้ตลอดปี เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นจัด ในปี 2533 โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการส่งเสริมการเลี้ยงไหมอีรี่ให้กับเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปลูกมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก เกษตรกรจึงสามารถนำใบมาเลี้ยงไหมแทนการทิ้งไปเฉยๆ และการเด็ดใบออกในปริมาณที่พอเหมาะ ยังช่วยให้ผลิตหัวมันได้มากขึ้นด้วย
• ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังจำนวนมาก สนใจเลี้ยงไหมอีรี่เป็นอาชีพเสริม มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรเข้ารับการฝึกอบรมการเลี้ยงไหมอีรี่ การต้มลอกกาว การย้อมสี และการปั่นเส้นใย พร้อมทั้งได้ใช้ประสบการณ์และภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่นปรับปรุงวิธีการเลี้ยงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น มีการรวมกลุ่มถักทอไหมเป็นผืนที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ และสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากไหมอีรี่ตามภูมิความรู้ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
• เส้นใยไหมอีรี่จัดเป็นไหมปั่น (Spun Silk) ซึ่งเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมด้ายปั่นมาก เพราะมีความเหนียว ยาว แวววาว สวยงาม และราคาดีกว่าเส้นใยฝ้าย ปัจจุบันอุตสาหกรรมไหมปั่นต้องอาศัยวัตถุดิบจากเศษรังไหมหม่อนที่เสียและสาวไม่ได้ ซึ่งมีไม่เพียงพอจะป้อนโรงงานไหมปั่น เส้นใยไหมอีรี่จึงเข้ามาทดแทนความต้องการนี้ได้
• เส้นใยไหมอีรี่มีความหนานุ่มคล้ายผ้าขนสัตว์ แต่ดูดซับเหงื่อและระบายอากาศได้ดี ใส่แล้วอบอุ่นในฤดูหนาว และเย็นสบายในฤดูร้อน ไม่ระคายมือ มีความทนทานดีกว่าไหมหม่อน ติดสีได้ดีทั้งสีสังเคราะห์และสีธรรมชาติ และซักได้ด้วยวิธีธรรมดาไม่ต้องซักแห้ง เส้นไหมที่ผลิตได้จะมีลักษณะเป็นปุ่มปม และมีความเงามันเล็กน้อย
• กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหนองหญ้าปล้อง ต.โพนเพ็ก อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น คือหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่ได้นำอาชีพการเลี้ยงไหมอีรี่มาต่อยอดและพัฒนาร่วมกับนักศึกษา สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยนำไหมอีรี่ที่มีความเงาน้อยกว่าผ้าไหมมัดหมี่ และมีผิวสัมผัสที่แตกต่าง มาพัฒนาร่วมกับลายผ้าของนักศึกษา เพื่อต่อยอดและตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ เครื่องนุ่มห่มต่างๆ
• ต้นทุนอย่างความคิดสร้างสรรค์ ความชื่นชอบ และทักษะการทอผ้า ได้ผลักดันให้ “ยู” นายพีรดนย์ ก้อนทอง นักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของผลงาน "อีสานกูตูร์ (หัตถศิลป์พื้นถิ่นสู่แฟชั่นชั้นสูง)" คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดผ้าไหม ประเภทผ้าไหมมัดหมี่นวัตกรรมสร้างสรรค์เยาวชน ในงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประจำปี 2558 ได้สำเร็จ โดยนำเทคนิคการปักลูกปัดแบบศิลปะกูตูร์มาประยุกต์เข้ากับเทคนิคการทอผ้ามัดหมี่ ใช้การร้อยลูกปัดเป็นเส้น นำมาทอแทรกกับเส้นไหม กลายเป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของนักออกแบบลายผ้ารุ่นใหม่ ที่ผสมผสานความคิดเข้ากับทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิม จนได้ผลงานที่มีศักยภาพและพร้อมนำไปต่อยอดเป็นมูลค่าทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
เรื่อง: พัชรินทร์ พัฒนาบุญไพบูลย์
ที่มา: gotoknow.org/posts/441496