Materials & Application
เห็ด นวัตกรรมใหม่สำหรับวัสดุชีวภาพ
© pixabay.com
กระแสการลงทุนทำธุรกิจจากทรัพยากรชีวภาพในต่างประเทศมีให้เห็นมากขึ้น ล่าสุดบริษัท Grado Zero Escape™ ประเทศอิตาลี ได้คิดค้น Muskin วัสดุน้ำหนักเบา อ่อนตัว และมีผิวคล้ายหนังกลับแต่ผลิตจากดอกเห็ด ซึ่งเป็นวัสดุจากพืชที่ปลูกทดแทนได้ใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถใช้แทนหนังสัตว์ได้ ผิววัสดุมีความอ่อนตัวคล้ายหนังสัตว์แต่มีความนุ่มมากกว่าและมีคุณสมบัติต่างออกไป โดยรูปลักษณ์วัสดุดูคล้ายหนังกลับมาก สามารถดูดซับความชื้นได้เมื่อสัมผัสกับผิวหนัง เมื่อน้ำหยดลงบนวัสดุจะจับตัวเป็นเม็ดกลมแต่ไม่ไหลออกไปและซับน้ำได้บ้าง มีคุณสมบัติตามธรรมชาติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย หมวกเห็ดจะถูกตัดออกจากโคนก่อนจะนำมาผ่านกระบวนการฟอกเพื่อรักษาสภาพและเพิ่มความคงทน กระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการเดียวกับการฟอกหนังสัตว์ แต่แตกต่างตรงไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นพิษซึ่งใช้ในการฟอกหนังทั่วไป ปลอดภัยและอ่อนโยนต่อผิวหนัง สามารถนำไปใช้ทำเครื่องประดับ เช่น เบาะรองด้านในของรองเท้า สายนาฬิกา และกระเป๋าถือ
อีกหนึ่งบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่สำหรับวัสดุชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง คือบริษัท Ecovative Design ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ออกแบบวัสดุที่ชื่อว่า MyCo Board แผ่นวัสดุโครงสร้างสำหรับใช้ทดแทนไม้แปรรูปทางวิศวกรรมได้จากขยะเกษตรกรรมและใยรา (mycelium) ทำให้ได้คุณสมบัติที่แข่งขันได้โดยตรงกับวัสดุเนื้อแข็งและหนาแน่นอย่าง Medium-Density Fiberboard (MDF-ไฟเบอร์บอร์ดความหนาแน่นปานกลาง) ซึ่งมักมีตัวประสานที่เป็นพิษ กระบวนการนี้ยังสามารถขึ้นรูปทรงสามมิติได้โดยไม่ต้องนำไปผ่านเครื่องแกะซีเอ็นซี หรือขั้นตอนขึ้นรูปอื่นๆ เป็นกรรมวิธีที่ราคาถูกแต่ให้ประสิทธิภาพสูง รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดขยะ กระบวนการผลิตคือนำขยะพืชผลทางการเกษตรมาเพาะเชื้อใยราให้เติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุม เหล่าใยราจะทำหน้าที่เป็นตัวประสานธรรมชาติ คอยยึดเกาะอนุภาคและเส้นใยพืชที่กระจายตัวเข้าไว้ด้วยกัน จากนั้นวัสดุจะถูกอัดด้วยความร้อนและแรงดันจนเนื้อวัสดุกลายสภาพเป็นเรซิน นำไปขึ้นรูปได้ทั้งแผ่นแบนหรือขึ้นรูปทรงด้วยแม่พิมพ์ กระบวนการนี้ไม่มีการใช้เรซินเคมีใดๆ สามารถแปรรูปต่อได้โดยใช้กรรมวิธีเดียวกับไม้แปรรูปทางวิศวกรรมทั่วไป ทั้งยังสามารถนำไปเป็นองค์ประกอบของเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์กีฬา และตกแต่งภายในอาคาร รวมทั้งยังได้รับมาตรฐาน Cradle-to-Cradle® ระดับ Gold
ระบบเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรชีวภาพประกอบด้วยภาคการผลิตที่ใช้ทรัพยากรชีวภาพซึ่งหมุนเวียนได้จากทั้งพื้นโลกและในทะเล เช่น พืชผลทางการเกษตร ป่า ปลา สัตว์ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก กำลังจะเป็นคลื่นลูกใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับโอกาสใหม่ๆ ที่สำคัญในการสร้างนวัตกรรมวัสดุ และการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนได้
เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และ ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข
ที่มา:
บทความ “The Bioeconomy to 2030: Designing a Policy Agenda” จาก oecd.org
ecovativedesign.com
gradozero.eu