Materials & Application
ย่านวัสดุกรุงเทพฯ (Material Mapping : Bangkok)
สำหรับนักออกแบบและอาชีพที่ต้องใช้วัสดุในการสร้างสรรค์ เพียงได้รู้ถึงข้อมูลคุณสมบัติของวัสดุต่างๆ คงไม่เพียงพอ เพราะนอกจากจะรู้ว่าวัสดุนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แบบไหน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การสามารถเข้าถึงรายละเอียดของแหล่งจำหน่ายของวัสดุนั้น และ “ย่านวัสดุกรุงเทพฯ” หรือ “Material Mapping: Bangkok” ก็ได้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวให้ครบวงจร
“ย่านวัสดุกรุงเทพฯ” หรือ “Material Mapping: Bangkok” เป็นหนึ่งในโครงการ “ย่านวัสดุกรุงเทพฯ” หรือ “Material Mapping: Bangkok ” ซึ่งเป็นบริการใหม่ของห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ (Material ConneXion® Bangkok) โดยโครงการเกิดจากการรวบรวมข้อมูลวัสดุจาก 14 ย่านการค้าสำคัญของกรุงเทพมหานคร เช่น เจริญรัถ เสือป่า บ้านหม้อ สำเพ็ง พาหุรัด นำมาทำเป็นระบบสืบค้นออนไลน์ เพื่อให้เหล่านักสร้างสรรค์สามารถสรรหาและเลือกซื้อวัสดุมาทำงานออกแบบในสาขาต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบแฟชั่น ออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบสิ่งพิมพ์ หรือกระทั่งงานออกแบบเพื่อการติดตั้ง ฯลฯ โครงการย่านวัสดุกรุงเทพฯ จะมีข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุ อุปกรณ์ และการให้บริการที่น่าสนใจของร้านค้าในย่านต่างๆ ดังกล่าว รวมถึงตัวอย่างวัสดุและอุปกรณ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งแต่ละย่านจะมีเอกลักษณ์ของวัสดุและการนำไปใช้ที่แตกต่างกันไป
ตัวอย่างวัสดุและอุปกรณ์ที่นำเสนอ ณ ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบในครั้งนี้ มาจาก 1 ใน 14 ย่านการค้า นั่นคือ ย่านเจริญรัถ ถิ่นเครื่องหนังที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ตลอดสองข้างทางของถนนเจริญรัถจะเรียงรายไปด้วยร้านขายหนังสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น หนังฟอกฝาด หนังสัตว์ชนิดพิเศษ หนังแฟชั่น และหนังเทียม รวมถึงอุปกรณ์และชิ้นส่วนในการประกอบงานหนังให้เลือกมากมาย นอกจากเครื่องหนังแล้ว ยังมีวัสดุประเภทแผ่นพีวีซีและผ้าสำหรับงานกระเป๋า รองเท้า หรือหุ้มเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการให้บริการเกี่ยวกับงานหนังต่างๆ อีกด้วย เพื่อให้เห็นความสำคัญของวัสดุและย่านการค้า สำหรับนักสร้างสรรค์และกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่จะสามารถสรรหาวัสดุมาทำงานได้จริง โดยจะมีการหมุนเวียนตัวอย่างจากทั้ง 14 ย่านมาจัดแสดง ณ ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ และในอนาคตได้มีการวางแผนที่จะลงพื้นที่เพื่อสำรวจแหล่งข้อมูลย่านสำคัญๆ ในหัวเมืองใหญ่
ท้ายที่สุดโครงการย่านวัสดุกรุงเทพฯ เป็นการพยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคของนักสร้างสรรค์ (Creative Sectors) กับภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sectors) ที่เห็นผลในระดับท้องถิ่น เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับสิ่งที่จับต้องไม่ได้เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ “เศรษฐกิจวัสดุ” (Material Economy) เพื่อให้เกิดการสร้างงานในวงกว้าง จึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศวิทยาทางวัสดุ ที่จะช่วยสนับสนุนทั้งฝั่งนักสร้างสรรค์และผู้ประกอบการ
สามารถใช้บริการ “ย่านวัสดุกรุงเทพฯ (Material Mapping: Bangkok) ” ได้ที่เว็บไซต์ tcdcmaterials.com
เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และ ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข