จาก “สวัสดีวันจันทร์” สู่ “แอพพลิเคชั่นหาคู่” ความต้องการของผู้สูงวัยในวันนี้บอกอะไรกับเรา
Materials & Application

จาก “สวัสดีวันจันทร์” สู่ “แอพพลิเคชั่นหาคู่” ความต้องการของผู้สูงวัยในวันนี้บอกอะไรกับเรา

  • 03 Apr 2018
  • 12605

นั่งถักนิตติ้งข้างเตาผิง เล่นหมากรุกฝาขวดน้ำอัดลม หรือจิบโอเลี้ยงและถกข่าวการเมืองอย่างออกรสในสภากาแฟเก่าใกล้บ้าน ลืมภาพเดิมๆ เหล่านี้ออกไปก่อน เพราะเรากำลังพูดถึงความหลากหลายของการสื่อสารและกิจกรรมพบปะสังสรรค์ในกลุ่มผู้สูงวัยปัจจุบัน ที่มีอะไรน่าสนใจมากกว่าแค่การส่งรูปและคลิปข้อความประจำวันทางไลน์ 

ปรากฏการณ์ “สวัสดีวันจันทร์” คือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุไทยได้ชัดเจนมากที่สุดกรณีหนึ่ง ทำให้นักการตลาด ธุรกิจแบรนด์ หรือแม้แต่สื่อ หันมาสนใจและทำความเข้าใจอินไซต์ของผู้สูงอายุกันใหม่ โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลมีมูลค่าดั่งน้ำมันเช่นนี้

โจทย์ใหม่ของธุรกิจ-การตลาด เมื่อผู้สูงวัย Go Online

จากการเสวนาในงาน Thailand Zocial Awards 2018 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายขายและสื่อโฆษณาแห่ง LINE ประเทศไทย กล่าวถึงเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตาในเวลานี้ ว่ากลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่เจเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์ ไปจนถึงเจนเอ็กซ์ ได้กลายมาเป็น ‘คนรุ่นใหม่ (New Generation)’ ที่เริ่มเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้พื้นที่โฆษณาเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภควัยนี้มากขึ้นด้วย 

“ผู้ใช้ที่เราเห็นว่ามีสัดส่วนที่มากขึ้นคือ "คนรุ่นใหม่" (New Generation) ของอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ใช่เด็กๆ แต่หมายถึงคนที่เพิ่งเริ่มเล่นอินเทอร์เน็ต คนที่เราเห็นชอบส่งรูปดอกไม้ตอนเช้าๆ ทำให้สัดส่วนประชากร (ผู้ใช้งานในไทย) ขยายออกไป ทำให้แบรนด์เข้ามาทำการตลาดมากขึ้น เพราะรู้ว่าไม่ได้มีแค่เด็กๆ หรือวัยรุ่น แต่ได้คนทำงานและผู้สูงวัยด้วย” ในทางกลับกัน ชนะชัย ไชยปัญญา จาก Twitter ประเทศไทย เผยว่าปีที่ผ่านมากลุ่มวัยรุ่นไทยหันมาใช้ทวิตเตอร์กันเยอะขึ้น จนทำให้ยอดผู้ใช้ทั้งหมดเพิ่มขึ้นกว่า 10.1 ล้านราย ส่วนหนึ่งเพราะต้องการรักษาความเป็นส่วนตัวจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่นิยมเล่นเฟซบุ๊กเป็นโซเชียลมีเดียหลัก

ปัดซ้ายขวา หาคู่เดต

อายุไม่ใช่อุปสรรคสำหรับรักแท้หรือการมองหา ‘คู่เดต’ ที่ตรงกับความต้องการอีกต่อไป เพราะวันนี้โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่สำคัญที่เปิดโอกาสให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกรสนิยม เข้ามาคว้าโอกาสดังกล่าว ไม่เว้นแม้แต่ผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ!

เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะพอรู้จัก Stitch แอพพลิเคชั่นหาคู่สำหรับผู้สูงวัยแต่ใจไม่โรยรา ซึ่งมาแรงตั้งแต่เปิดตัวในปี 2014 ทุกวันนี้กลุ่มคนที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต เปิดใจยอมรับแอพฯ หรือเว็บหาคู่กันมากกว่าคนรุ่นก่อน เพราะมองว่าเป็นช่องทางที่ทำให้พวกเขามีโอกาสได้เจอ ‘พาร์ตเนอร์ที่ใช่’ และตลาดนี้ก็ดูจะมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น SeniorPeopleMeet คอมมูนิตี้ออนไลน์ที่เน้นเจาะกลุ่มคนวัย 55 ปีขึ้นไป และกำลังมองหาความสัมพันธ์ฉันเพื่อนไปจนถึงคู่รัก โดยอ้างว่ามีผู้ใช้มากถึง 2.4 ล้านราย/เดือน เว็บนี้ยังโตเร็ว 400% ภายใน 3 ปีและขยายช่องทางไปสู่แอพฯ อีกด้วย นอกจากนี้เว็บบริการหาคู่เก่าแก่อย่าง Match, eHarmony และ OkCupid ที่เจาะตลาดแมส ก็ยังมีกลุ่มผู้ใช้งานสูงวัยเช่นกัน 

จากผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการหาคู่ทางออนไลน์ในปี 2015 โดยสถาบัน Pew Research Center พบว่า 15% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาใช้เว็บหรือแอพฯ หาคู่ โดยสัดส่วนของกลุ่มช่วงอายุ 55-65 ปีเคยใช้เว็บ/แอพฯ หาคู่ คิดเป็น 12% ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาก 6% ในปี 2013 ไม่เพียงเท่านั้น 28% ของกลุ่มดังกล่าวยอมรับว่าเคยสานสัมพันธ์ระยะยาวกับคู่เดตที่รู้จักผ่านช่องทางหาคู่ออนไลน์ 

© flickr.com/photos/adwriter
 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนถึงอะไรได้บ้าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Swinburne ในออสเตรเลียได้ศึกษาวิจัยเรื่องความสัมพันธ์และการหาคู่เดตของชาวออสเตรเลียตั้งแต่อายุ 60-92 ปี พบว่าสาเหตุหนึ่งของการเลือกหาคู่ทางออนไลน์นั้น เป็นเพราะว่าพวกเขาหรือพวกเธอรู้สึกว่าแทบไม่มีโอกาสเจอคนที่ถูกใจในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเมื่อผับและไนต์คลับไม่ใช่ ‘ที่’ สำหรับพวกเขาอีกต่อไป ที่สำคัญการพบปะสังสรรค์กับผู้คนใหม่ๆ ก็ถือเป็นการเติมเต็มประสบการณ์และความพึงพอใจตามธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว เพียงแต่วันนี้เรามีเทคโนโลยีที่ฉลาดขึ้นเข้ามาอำนวยความสะดวก สอดรับกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต และเวลาที่แสนจะจำกัด (หรือไม่ก็สร้างปัญหาหัวใจให้ใหญ่โตกว่าเดิม) 

แน่นอนว่าธุรกิจหาคู่ออนไลน์ตระหนักถึงความต้องการของ ‘ผู้มาใหม่’ เหล่านี้ ปี 2015 Tinder แอพฯ หาคู่ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นทั่วโลก ได้เปิดบริการสมัครสมาชิกรายเดือน Tinder Plus โดยคิดค่าบริการตามช่วงอายุ อย่างไรก็ดี ทั้งสื่อต่างประเทศและผู้ใช้บริการพากันโจมตีว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและกีดกันทางอายุ (Discrimination) เนื่องจากค่าบริการรายเดือนสำหรับคนอายุต่ำกว่า 30 ปี อยู่ที่ 9.99-14.99 ดอลลาร์ ขณะที่คนอายุ 30 ปีขึ้นไปต้องจ่าย 19.99 ดอลลาร์/เดือน หลังจากมีการฟ้องร้องคดีมานาน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์แคลิฟอร์เนียได้ตัดสินว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ถือว่าละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของสหรัฐอเมริกา (Unfair Competition Law) และกฎหมายเลือกปฏิบัติโดยเฉพาะตามเพศเชื้อชาติศาสนาเชื้อสายกำเนิด (Unruh Act) 

เป็นไปได้สูงว่าตลาดนี้จะขยายตัวจากตลาดนิชมาสู่แมส เมื่อโลกเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ตราบใดที่คนเรายังโหยหาความรัก หรือใครสักคนที่ตอบสนองความต้องการทางกายและใจ อุตสาหกรรมนี้ก็พร้อมเดินหน้าต่อไปอีกนานแสนนาน

© manager.co.th
 

Cognitive Fitness เข้ายิม ออกกำลังสมอง

“เราอยากจะแก่ตัวลงไปแบบไหน” แน่นอนว่าทุกคนย่อมอยากมีความสุข และมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง การดูแลและเตรียมตัวก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุจึงสำคัญและถูกผนวกเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุของหลายประเทศทั่วโลก

ข้อมูลการสำรวจปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุไทยปี 2551 ระบุว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่เจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยโรคทางสมองและจิตเวช โดยเฉพาะภาวะสมองเสื่อม ทุกวันนี้จึงเกิดการออกแบบกิจกรรมและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เข้ามาช่วยกระตุ้นการรู้คิดและพัฒนาสมรรถภาพสมองของผู้สูงอายุ เช่น เกมฝึกสมอง การเล่นไพ่จับคู่ หนึ่งในเทรนด์ที่น่าสนใจคือฟิตเนสสำหรับออกกำลังกายสมอง ในบ้านเราก็มี Cognitive Fitness Center ฟิตเนสฝึกสมองก่อตั้งโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยแบ่งกลุ่มผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มวัย 55 ปีขึ้นไปที่ไม่เป็นโรคสมองเสื่อม กับกลุ่มผู้ป่วยที่เริ่มมีความเสี่ยง แต่ยังไม่เป็นโรคสมองเสื่อม (Mild Cognitive Impairment) กิจกรรมจะถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นสมรรถภาพสมองทางตรงและทางอ้อม เช่น ดนตรีบำบัด ร้องเพลง งานศิลปะ ออกกำลังกาย เล่นโยคะ และยังมีกิจกรรมแบบกลุ่ม ซึ่งได้กลุ่มคนทำละครเวทีเข้ามาช่วยออกแบบกิจกรรมการบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว หรือ Creative Movement Therapy ที่เหมาะกับผู้สูงอายุ

ที่มา:
บทความ “Cognitive Fitness Center ฟิตเนสฝึกสมองผู้สูงอายุ” จาก chulalongkornhospital.go.th
รายงาน “สมรรถนะสมองของผู้ใหญ่และผู้สูงอายุไทย: ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม”, วารสารพิษวิทยาไทย 2558 ; 30(1) : 41-59
รายงาน “Love, Sex and Intimacy in New Late-Life Romantic Relationships” โดย Sue Malta จาก researchbank.swinburne.edu.au
รายงาน “15% of American Adults Have Used Online Dating Sites or Mobile Dating Apps” โดย Aaron Smith จาก pewinternet.org
รายงาน “40 Is the New 65? Older Adults and Niche Targeting Strategies in the Online Dating Industry” โดย Derek Blackwell จาก mdpi.com
เว็บไซต์ thothzocial.com

เรื่อง: ปิยพร อรุณเกรียงไกร