ขอบเขตศิลปะที่เลือนหาย แฟชั่นระดับโลกเดินทางสู่เวทีระดับท้องถิ่น
Iris van Herpen นำทักษะงานฝีมือโบราณมารวมเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เธอใช้แฟชั่นสำรวจแนวความคิดด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสถาปัตยกรรม ที่แสดงออกผ่านการมองเห็น
[รูป] ชุดในคอลเล็กชั่น “Refinery Smoke” ของ Iris van Herpen ที่เริ่มแรกเป็นสีเทา แต่ชุดนี้ค่อยๆ เป็นสนิม จนกลายเป็นสีเข้มเหมือนควันที่พวยพุ่งจากโรงงาน วัสดุที่ใช้ทำจากตาข่ายเหล็ก รูปถ่ายโดย Samantha Searl
ขอให้จำชื่อ Iris van Herpen เอาไว้ ทุกคนจะรู้จักชื่อๆ นี้ในเวลาอีกไม่นาน คุณไม่จำเป็นต้องมีความสนใจในแฟชั่นหรือศิลปะ คุณก็หลงใหลในงานของเธอได้โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าคุณจะเป็นวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักออกแบบ สถาปนิก หรือจะไม่ได้ประกอบอาชีพที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แต่ถ้าคุณมีความสนใจในศาสตร์ต่างๆ ที่กล่าวมา คุณจะค้นพบว่านิทรรศการนี้กระตุ้นประสาทสัมผัส และจุดประกายจินตนาการของคุณให้โลดแล่นไปไกล
นิทรรศการสัญจร “Transforming Fashion” จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Grand Rapids Art Musuem ในสหรัฐอเมริกา จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2560 โดยได้จัดแสดงผลงานนำสมัยที่ฉีกกฎการตีกรอบแฟชั่นและเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และงานฝีมือที่ละเอียดประณีตโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับศิลปินรุ่นใหญ่ เช่น Issey Miyake และ Rei Kawakubo ซึ่งมีนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์ The Met ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2561 โดย Iris ได้ลบเส้นแบ่งที่เคยมี เพื่อตอบสนองสิ่งที่เธอต้องการนำเสนอ
ผลงานที่จัดแสดงทั้งหมด 45 ชิ้น มาจาก 15 คอลเล็กชั่นที่ Iris สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่จบปริญญาตรีจากสถาบันศิลปะ ArtEZ ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ครั้งนี้พิพิธภัณฑ์ Grand Rapids Art Museum (GRAM) ได้รับเลือกให้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในเขตตะวันออกกลางของสหรัฐอเมริกาที่จัดแสดงผลงานของ Iris และ Gram ยังเป็นหนึ่งในอีกไม่กี่เมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่จัดนิทรรศการนี้อีกด้วย เป็นรองเพียงแค่ High Museum ในรัฐแอตแลนตาเท่านั้น
แฟชั่นดีไซเนอร์วัย 33 ปีหัวก้าวหน้าคนนี้ สร้างแบรนด์ของตัวเองมาเป็นเวลา 9 ปี เธอออกแบบเสื้อผ้าและรองเท้าที่มีความล้ำสมัย ทั้งในเรื่องโครงสร้างผ้าและในแง่มุมของแฟชั่น งานออกแบบของเธอใช้วัสดุที่หลากหลาย รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ไปพร้อมๆ กับเทคนิคงานฝีมือโบราณ ผสมผสานกันแบบไม่มีใครเหมือน จนออกมาเป็นงานแฟชั่นชั้นสูง ไม่น่าแปลกใจเลยที่คนดังระดับโลกอย่าง Beyonce, Lady Gaga, Paris Opera, Bjork และคณะ New York City Ballet จะให้เธอออกแบบเสื้อผ้าให้ด้วย
Iris เติบโตในเมืองวาเมล ประเทศเนเธอร์แลนด์ สถานที่ซึ่งไม่มีแม้แต่โทรทัศน์ เธอจึงหันไปสร้างความผูกผันกับธรรมชาติเป็นการทดแทน ในวัยเด็ก เธอหลงใหลในวิทยาศาสตร์พอๆ กับการเต้นรำ อิทธิพลจาก 2 สิ่งนี้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในงานของเธอ เธอใช้ร่างกายมนุษย์เป็นฐานการสร้างสรรค์งาน ประกอบกับการค้นคว้าวิจัยอย่างลึกซึ้ง คอลเล็กชั่นของเธอจึงเป็นการสำรวจแนวคิดในหัวข้อต่างๆ และได้จัดแสดงบนรันเวย์ในกรุงปารีสปีละ 2 ครั้ง ถึงแม้จะต้องออกแบบงานใหม่ทุก 6 เดือน เธอยังคงสามารถสำรวจโลกของแฟชั่นได้อย่างลึกซึ้ง เป็นเพราะความมุ่งมั่นและพลังซึ่งได้มาจากการเรียนเต้นรำของเธอ
[รูป] Iris ใช้วัสดุที่ไม่พบเห็นทั่วไปในงานแฟชั่น (อย่างเช่น ในรูปบนซ้าย เธอใช้โครงร่มสำหรับเด็ก) เธอร่วมงานกับสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อสร้างสรรค์คอลเล็กชั่นนี้ ซึ่งมีทั้งการทดลองพิมพ์ 3 มิติ รูปรองเท้าด้านบนขวาถ่ายโดย Catherine Creamer ส่วนรูปอื่นๆ ถ่ายโดย Samantha Searl
Iris เติบโตในเมืองวาเมล ประเทศเนเธอร์แลนด์ สถานที่ซึ่งไม่มีแม้แต่โทรทัศน์ เธอจึงหันไปสร้างความผูกผันกับธรรมชาติเป็นการทดแทน ในวัยเด็ก เธอหลงใหลในวิทยาศาสตร์พอๆ กับการเต้นรำ อิทธิพลจาก 2 สิ่งนี้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในงานของเธอ เธอใช้ร่างกายมนุษย์เป็นฐานการสร้างสรรค์งาน ประกอบกับการค้นคว้าวิจัยอย่างลึกซึ้ง คอลเล็กชั่นของเธอจึงเป็นการสำรวจแนวคิดในหัวข้อต่างๆ และได้จัดแสดงบนรันเวย์ในกรุงปารีสปีละ 2 ครั้ง ถึงแม้จะต้องออกแบบงานใหม่ทุก 6 เดือน เธอยังคงสามารถสำรวจโลกของแฟชั่นได้อย่างลึกซึ้ง เป็นเพราะความมุ่งมั่นและพลังซึ่งได้มาจากการเรียนเต้นรำของเธอ
ผลงานแต่ละชิ้นถูกจัดแสดงบนหุ่นนางแบบ เธอไม่ได้เริ่มกระบวนการออกแบบจากการวาดรูปสเก็ทช์บนกระดาษ แต่เธอลองวางวัสดุลงบนร่างกายของหุ่นจำลองโดยตรง ไม่ว่าจะใช้หนังสัตว์หรือโซ่จักรยาน ผ้าไหมหรือว่าเหล็กกล้า เธอกล่าวว่า “การลงมือทำกับการออกแบบเป็นสิ่งเดียวกัน”
[รูป] ตั้งแต่กระจกไปการพิมพ์ 3 มิติ จนถึงกระดาษตัดหรือพลาสติก Iris ใช้วัสดุอะไรก็ได้ที่สามารถนำเสนอแนวคิดของเธอได้ดีที่สุด ซึ่งนั่นเป็นหัวใจของแต่ละคอลเล็กชั่นของเธอ รูปแถวบนถ่ายโดย Holly Bechiri รูปแถว 2 มาจากคอลเล็กชั่น “Voltage” ถ่ายโดย Samantha Searl
ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เห็นผลงานของ Iris นั้น เป็นผลงานที่ Iris ออกแบบร่วมกับ Juliette Koerner ในงาน Smart Fabrics ปี 2014 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานจัดแสดงคอลเล็กชั่นที่ชื่อว่า “Hybrid Holism” ที่ออกแบบขึ้นในปี 2012 ในเวลานั้นการพิมพ์ 3 มิติเป็นเพียงเครื่องมือการผลิตต้นแบบอย่างรวดเร็ว และผลิตชิ้นส่วนเพื่อทดลองเท่านั้น มันเป็นวิธีการผลิตผลงานที่แข็ง เร็ว และหยาบ แต่ผลงานชิ้นนี้ทั้งน่าจดจำและแตกต่างจากที่ควรจะเป็นโดยสิ้นเชิง เพราะรูปแบบของ Iris นั้นมีความละเอียดอ่อน เป็นธรรมชาติ และบอบบางจนเกือบจะกลายเป็นอากาศ เพื่อรักษาความโปร่งแสงของวัสดุ เธอจึงเริ่มจากรูปทรงเรขาคณิตที่แน่นหนาบริเวณเอวของชุด เป็นชั้นๆ ซ้อนกันอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นกระโปรง เหมือนกระโปรงบัลเลต์ที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนที่พิมพ์ออกมาหลักๆ 4 ชิ้น
[รูป] งานพิมพ์สามมิติชิ้นแรกๆ สำหรับคอลเล็กชั่น “Hybrid Holism” รูปถ่ายโดย Catherine Creamer
Iris เคารพการทำงานร่วมกับผู้อื่นในกระบวนการทำงานของเธอ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน สถาปนิก และผู้ร่วมงานอีกหลายคน ทั้งจากโตรอนโต ไปจนถึงแคลิฟอร์เนียหรือโตเกียว ทั้งหมดมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานกับเธอที่มีสตูดิโออยู่ในอัมสเตอร์ดัม
Iris กล่าวว่า “มีองค์ประกอบบางอย่าง [ในงานของฉัน] ที่บ่งบอกถึงยุคสมัย หนึ่งในนั้นคือการร่วมมือกันระหว่างศาสตร์ต่างๆ เราอยู่ในยุคสมัยที่ขอบเขตของศาสตร์ต่างๆ เริ่มเลือนหายไป หรืออย่างน้อยก็ผสมผสานเข้ามารวมกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโลกาภิวัฒน์ ตัวอย่างเช่น สตูดิโอของฉันเกี่ยวข้องโดยตรงกับสตูดิโอด้านสถาปัตยกรรมในโตรอนโต และหน่วยวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในเซอเรน [เยอรมนี]? เราต่างก็ทำงานร่วมกัน ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเราไม่ได้มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน” เธอกล่าว “วัฒนธรรมต่างๆ ก็กำลังหลอมรวมกันมากขึ้น และถ้าเราดูที่ตัวงาน จะระบุได้ยากว่างานนี้มาจากที่ไหน นั่นก็เป็นเพราะมันไม่มีแหล่งที่มา”
งานสร้างสรรค์ของเธอทำให้เกิด “สตูดิโอสากล” ซึ่งสะท้อนถึงยุคสมัยและวัฒนธรรม แต่ไม่ใช่สถานที่ที่สร้างสรรค์ผลงาน
แต่ละคอลเล็กชั่นถูกตั้งชื่อให้สะท้อนถึงการสำรวจแนวคิดเฉพาะ พิพิธภัณฑ์ GRAM ได้เลือกตัวอย่างผลงานของเธอ 3 ชิ้น เพื่อจัดแสดงในระยะที่สามารถมองเห็นได้อย่างใกล้ชิดและรอบด้าน แต่ละคอลเล็กชั่นของเธอมีคำอธิบายที่เรียบง่าย แต่ก็เพียงพอที่ผู้ชมจะเข้าใจแนวคิดของงาน
คอลเล็กชั่นชื่อ “Chemical Crow” และ “Refinery Smoke” ซึ่งเป็น 2 คอลเล็กชั่นแรกๆ ของเธอ จัดแสดงที่บริเวณชั้น 1 ของพิพิธภัณฑ์ GRAM เพื่อเป็นน้ำจิ้มให้กับอีก 13 คอลเล็กชั่นที่อยู่บนชั้น 3 ของพิพิธภัณฑ์ ในคอลเล็กชั่น “Refinery Smoke” Iris ชวนให้เรานึกถึงสีและสัมผัสของควัน ด้วยการใช้ผ้าที่ทำจากเหล็กที่ปรับเปลี่ยนได้ และสามารถพองออกเป็นชั้นๆ เสื้อที่กระชับพอดีตัวเผยให้เห็นกระโปรงที่ทำจากตาข่ายเหล็ก ที่พองเบา ราวกับว่ามีน้ำหนักเบากว่าอากาศ จากตอนแรกที่เป็นเหล็กสีเงิน เวลาที่ล่วงเลยทำให้ชุดนี้มีสีเข้มขึ้น จนเป็นเหมือนคราบควันจริงๆ
[รูป] ผลงานจากคอลเล็กชั่น “Refinery Smoke” ใช้ประโยชน์จากตาข่ายเหล็กที่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนแล้ว รูปถ่ายโดย Samantha Searl
คอลเล็กชั่นทั้งหมดของ Iris ใช้วัสดุที่ไม่ธรรมดา ใน “Chemical Crow” เราเห็นโครงร่มที่นำมาใช้เพื่อเป็นการกางปีก ในวัยเด็ก เธอเลี้ยงนกพันธุ์ Jackdaw ซึ่งเป็นนกพันธุ์ที่ตัวเล็กที่สุดในตระกูลอีกา เนื้อผ้าเป็นชั้นๆ ที่กระเพื่อมเป็นคลื่นได้รับแรงบันดาลใจจากนกตัวนี้ โครงสร้างเปิดของผ้าทอแลดูคล้ายกับทหารที่กำลังยืนอย่างสง่า ให้ความรู้สึกของเกราะน้ำหนักเบา ชวนให้นึกถึงเสื้อรัดอกสมัยก่อน หากยังเหมือนนกในเวลาเดียวกัน
ในอีกคอลเล็กชั่นที่ชื่อ “Capriole” Iris สำรวจแนวคิดเรื่องความคาดหวังและความตื่นเต้น บวกกับความน่าหวาดเสียวของการกระโดดลงมาจากเครื่องบินแบบดิ่งพสุธา เสื้อผ้าดูเหมือนเมฆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีโครงสร้างที่ชัดเจน ชุดนี้เริ่มจากการนำเอาแผ่นอะคริลิกใสมาตัดและประกอบให้ดูราวกับไหลลู่ไปตามสายลม
[รูป] ผลงานจากคอลเล็กชั่น “Capriole” เป็นการแสดงออกทางทัศนศิลป์จากความรู้สึกของเธอขณะที่บินดิ่งพสุธา รูปถ่ายโดย Samantha Searl
ในคอลเล็กชั่นทั้งหมดของเธอ เราจะเห็นได้ชัดถึงความประณีตเอาใจใส่ในงานฝีมือ (ซึ่งหาได้ยากนัก)
“ฉันไม่เคยนับชั่วโมงที่ใช้ในการทำชุดแต่ละชุด” เธอกล่าว “ถ้านับแล้ว ฉันคงจะเศร้าน่าดู เพราะมันเป็นกระบวนการที่ยาวนาน ส่วนใหญ่ใช้เวลาเป็นเดือนๆ” ความตั้งใจและใส่ใจในรายละเอียดของงานแต่ละชิ้นปรากฏให้เห็นเด่นชัด ขณะที่มองความละเอียดของงานฝีมือของเธอ
ผลงานที่น่าสนใจหลายชิ้นของเธอเกิดจากการตั้งคำถามทางวิทยาศาสตร์ ที่นำสู่การใช้แม่เหล็กและการเลียนแบบธรรมชาติ (biomimetics) “Wilderness Embodied Dress” ซึ่งเธอร่วมมือกับ J?lan van der Wiel ทำจากแป้ง ผงเหล็กที่ได้จากการตะไบ ยางเหลว และแม่เหล็ก ผิวสัมผัสของชุดทำให้นึกถึงภูเขาไฟที่มีความละเอียด หรือสิ่งมีชีวิตอันแสนบอบบางอย่างไลเคน ชุดที่ผิวสัมผัสเหมือนไลเคนนี้ทำจากวิสโคสซึ่งใช้เลเซอร์ในการตัด มันจะกระพือตามแรงลมและสะท้อนแสงไฟ
[รูป] ตัวอย่างผลงานบางชิ้นที่อยากให้ผู้เข้าชมได้ลองสัมผัส ภาพโดย Holly Bechiri
ถ้าจะให้เลือกว่าชอบชุดไหนมากที่สุด คงจะเป็นเรื่องยากทีเดียว เพราะทุกชุดใน 15 คอลเล็กชั่นที่จัดแสดงในงานนี้สวยจนแทบจะลืมหายใจ อย่างไรก็ตาม ใน “Voltage” และ “Magnetic Motion” ที่ร่วมงานกับ Phillip Beesley เธอทดลองใช้ฟิล์มโพลีเอสเตอร์และอะคริลิกใสที่ตัดด้วยเลเซอร์ หากมองจากมุมไกล ทั้ง 2 งานนี้ทำให้ผู้ชมสงสัยว่าชุดพวกนี้มีกระแสไฟวิ่งแล่นอยู่หรือเปล่า แต่เมื่อพิจารณาอย่างใกล้ชิด กลับชวนให้นึกถึงขนสัตว์สีขาวละเอียด ให้ผิวสัมผัสที่นุ่มและไหลลื่น ทั้งที่โครงสร้างทรงกรวยที่ค่อนข้างแข็งจากการขึ้นรูปด้วยความร้อน
หนึ่งในประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นจากงานนี้คือ ตัวอย่างวัสดุจากคอลเล็กชั่นต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมมีประสบการณ์ในการสัมผัส และรับรู้ ซึ่งจะทำให้ซาบซึ้งถึงเวลาและความทุ่มเทในรายละเอียดของผลงาน เหมาะสำหรับนักสำรวจสมัครเล่นทุกวัย ตัวอย่างในนิทรรศการนี้ทำให้รู้สึกว่าเป็นการกลับมาของนักเล่นแร่แปรธาตุหรือไม่ หรือเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม และอาจเป็นการย้อนกลับไปถึงศิลปะของการสร้างสรรค์ลงมือทำ
Dana Friis-Hansen ผู้อำนวยการและซีอีโอของพิพิธภัณฑ์ GRAM กล่าวว่า ไม่ควรพลาดนิทรรศการนี้ เพราะเป็น “การตอบโต้กันระหว่างธรรมชาติ วัฒนธรรม และเทคโนโลยี โดยใช้แฟชั่นเป็นสื่อกลาง” Dana เห็นความเชื่อมโยงระหว่างผลงานเหล่านี้กับพันธกิจของ GRAM นั่นก็คือ “การเชื่อมโยงชุมชนผ่านศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ”
ถ้างานเปิดตัวสำหรับสมาชิกในคืนวันศุกร์เป็นตัวชี้วัดคุณค่าของงานแล้วล่ะก็ จะเห็นได้ว่าห้องแสดงผลงานศิลปะเต็มไปด้วยผู้คน และคนในชุมชนต่างมาร่วมชมงาน นิทรรศการนี้เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับภูมิภาคนี้ เชิญชวนให้เราเข้าไปชม สำรวจ และร่วมแบ่งปันช่วงเวลาที่ประทับใจไม่รู้ลืม
บางสิ่งบางอย่างกำลังเกิดขึ้น และมันก็เยี่ยมที่สุด
[รูป] คำกล่าวของ Iris van Herpen ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของทัศนคติที่เปิดกว้างต่อการจัดประเภทของงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของ Iris, คำขอบคุณสปอนเซอร์, และสมาชิกซึ่งมาร่วมอย่างหนาแน่นในคืนเปิดงาน
นิทรรศการนี้จัดที่พิพิธภัณฑ์ Royal Ontario ในเมืองโตรอนโต
อ้างอิง: บทความ “Dissolving disciplines: GRAM brings global fashion to Midwestern stage”
จากเว็บไซต์ https://cultured.gr/