TRAIN TO ISAN ส่องวัสดุไทยในขบวนรถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย
Materials & Application

TRAIN TO ISAN ส่องวัสดุไทยในขบวนรถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย

  • 01 Mar 2020
  • 29033

“เมื่ออีสานบ้านเฮาสิมี่รถไฟฟ้าความเร็วสูง”...เริ่มต้นขึ้นแล้วกับการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย (กรุงเทพฯ-หนองคาย) ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการคมนาคมรูปแบบใหม่ ในเส้นทางระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน ที่จะช่วยยกระดับการคมนาคมให้เดินทางกันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสร้างศักยภาพและเพิ่มโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่จะกระจายความเจริญได้อย่างทั่วถึงด้วยเศรษฐกิจ “ระบบราง”

นอกเหนือจากการออกแบบโครงสร้างภายนอกให้มีความแข็งแรงแล้ว การออกแบบตกแต่งภายในก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ผ่านการเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล เช่นที่ประเทศญี่ปุ่นได้นำเอาวัฒนธรรมมาถ่ายทอดผ่านผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ที่ให้บริการระหว่างการสัญจรบนรถไฟฟ้าชินคันเซ็นสายคิวชู (JR Kyushu Railway) อย่างการนำรูปอักษรญี่ปุ่นมาประดับบนผนังทางเดิน และใช้ผ้าลายโอท็อปทำเก้าอี้ไฟฟ้า 

ทั้งนี้ การเลือกสรร “วัสดุ” ที่จะนำมาใช้สำหรับงานตกแต่งภายในขบวนรถไฟนั้น จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมทั้งความสวยงาม คุณภาพ และความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐานสากลของระบบรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะในเรื่องของมาตรฐานด้านอัคคีภัย รวมไปถึงความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ เพื่อรับรองว่าวัสดุที่นำมาใช้งานจริงบนรถไฟนั้นจะปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเส้นทางสายอีสานของไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น การตกแต่งภายในขบวนโดยสารจึงเป็นความท้าทายในการประยุกต์ทั้งศาสตร์และศิลป์เพื่อที่จะสอดแทรก “เอกลักษณ์” ของภาคอีสานผ่านเทคโนโลยีวัสดุที่ได้มาตรฐานสากล ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ร่วมกันจัดทำ “โครงการนำร่องเพื่อสรรหาและคัดเลือกวัสดุจากผู้ผลิตวัสดุไทยที่มีศักยภาพ” เพื่อคัดเลือกวัสดุไทยจากฐานข้อมูลวัสดุออนไลน์ Material ConneXion® Database ที่มีแนวโน้มสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ในรถไฟฟ้าความเร็วสูงได้จริง โดยพิจารณาจากผลทดสอบการเผาไหม้ตามมาตรฐานของสมาคม Japan Railway Rolling Stock & Machinery Association ประเทศญี่ปุ่น 

โดยพบว่ามีวัสดุไทยหลายชนิดที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น “ผ้าใยกัญชงอินทรีย์” โดยบริษัท DD Nature Craft Co., Ltd. ผ้าทอมือจากเส้นใยธรรมชาติที่ผ่านการทดสอบแล้วว่าผ่านมาตรฐานสากลด้านอัคคีภัยสำหรับรถไฟฟ้าความเร็วสูงโดยเฉพาะ หรือ “ผ้าทอมือจากเส้นใยฝ้ายผสมข่า” โดยบริษัท Thai Num Choke Textile Co., Ltd. ที่นอกจากจะผ่านการทดสอบว่าเป็น “วัสดุทนไฟ” แล้ว ยังผ่านการทดสอบว่าสามารถป้องกันเชื้อราและแบคทีเรียได้อีกด้วย รวมไปถึง “ผ้าม่านประหยัดพลังงาน” โดยบริษัท Textile Gallery Co., Ltd. ผ้าม่านคุณภาพสูงที่มีสาร SPF ช่วยลดความร้อนจากแสงแดดและป้องกันรังสียูวีได้ถึง 99% จึงช่วยลดการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศได้สูงสุดถึง 40% 

นี่เป็นเพียงวัสดุส่วนหนึ่งจากผู้ประกอบการไทยที่สามารถนำไปออกแบบและพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นวัสดุภายในรถไฟสายประวัติศาสตร์นี้ได้...เมื่อวัสดุตั้งต้นพร้อมแล้ว หมู่เฮาจะมัวรออะไรกันอีก มาปลุกพลังสร้างสรรค์และแสดงฝีมือให้โลกได้รู้ว่าคนไทยก็เก่งไม่แพ้ใครด้วยกันเด้อ!

ที่มาภาพ: บทความ “หลักการของการออกแบบบริการสำหรับรถไฟ” โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
รายงานฉบับสมบูรณ์ เล่มที่ 1: โครงการรายงานการศึกษาเรื่องยกระดับและพัฒนาสินค้าประเภทวัสดุและบรรจุภัณฑ์จากวัสดุไทย - มาตรฐานความปลอดภัยของวัสดุประเภทต่าง ๆ และแนวทางการพัฒนาสมบัติของวัสดุสิ่งทอเพื่อใช้สำหรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง. กรุงเทพมหานคร: คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. โดย อมรรัตน์ เลิศวรสิริกุล และคณะ. (2556)
รายงานฉบับสมบูรณ์ เล่มที่ 2: โครงการรายงานการศึกษาเรื่องยกระดับและพัฒนาสินค้าประเภทวัสดุและบรรจุภัณฑ์จากวัสดุไทย - วัสดุไทยที่มีศักยภาพจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และวัสดุจากโครงการพระราชดำริ และผลการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยของวัสดุที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อใช้ในการจัดแสดงนิทรรศการ. กรุงเทพมหานคร: คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย อมรรัตน์ เลิศวรสิริกุล และคณะ. (2556)

เรื่อง: มนต์นภา ลัภนพรวงศ์