เพราะฆ่าเชื้อโรคได้ “ทองแดง” จึงมีค่ามากกว่าความงาม
“ทองแดง” วัสดุที่ไม่ได้มีเพียงแค่ความสวยงาม แต่ยังมีคุณสมบัติที่สามารถทำลายเชื้อโรคได้โดยธรรมชาติ ทำให้เป็นวัสดุที่คนหลากหลายวงการกำลังจับตามอง
หากเปรียบสถานการณ์ช่วงต้นปีที่ผ่านมากับภาพยนตร์ ก็คงจะเป็นฉากที่ใครหลายคนต่างกำลังลุ้นหาหนทางในการต่อสู้ของมนุษย์กับการเอาชนะเจ้าวายร้ายโควิด-19 ที่ไม่ยอมแพ้ต่ออะไรง่าย ๆ แต่เหตุการณ์นี้คือเรื่องจริงที่ทุกคนต้องเผชิญร่วมกัน ไม่เพียงแต่บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้นที่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาผู้ป่วยและจัดการกับการแพร่ระบาด นักวิจัยและนักออกแบบต่างก็กำลังพัฒนาหาแนวทางในการรับมือกับโรคระบาดรุนแรงในครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ “หยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส” เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด
โรคโควิด-19 นั้นเกิดจากไวรัสชนิดใหม่ที่สามารถติดต่อสู่คนรอบข้างได้อย่างรวดเร็วผ่านฝอยละอองขนาดใหญ่ (Droplet) ซึ่งก็คือละอองสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ที่เกิดจากการไอ จาม ของผู้ติดเชื้อ ละอองเหล่านี้สามารถลอยตัวอยู่ในอากาศได้ไม่นานนักและกระจายออกไปได้แค่เพียง 1 - 2 เมตรเท่านั้น ก่อนจะตกลงบนพื้นผิวต่าง ๆ และช่วงระยะเชื้อฟักตัวก่อนผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการนั้นมีระยะตั้งแต่ 2 - 14 วัน สาเหตุนี้เองที่ทำให้เชื้อโรคนี้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ง่ายและทำให้ผู้ที่สัมผัสพื้นผิวเหล่านั้นอาจติดเชื้อผ่านการสัมผัสสิ่งของร่วมกันได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่รู้ตัว เกิดเป็นการแพร่ระบาดและกระจายเป็นวงกว้างไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
ล่าสุดเมื่อเดือน มีนาคม ปี 2020 นักวิจัย Neeltje van Doremalen และทีมงาน ได้เผยแพร่ผลงานผ่านวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (The New England Journal of Medicine) เกี่ยวกับการศึกษาเปรียบเทียบอายุขัยของเชื้อไวรัสทั้งสองชนิด ระหว่างไวรัสโครานาสายพันธุ์ดั้งเดิม (SARS-CoV-1) และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) บนพื้นผิวต่าง ๆ พบว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้สามารถมีชีวิตอยู่ในแต่ละพื้นผิวได้แตกต่างกันตามข้อมูลในตารางด้านล่างนี้
อายุขัยของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือโรคโควิด-19 เมื่ออยู่บนแต่ละพื้นผิว*
ฝอยละอองขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอนในอากาศ (Aerosol) | 3 ชั่วโมง |
พลาสติก (Plastic) | 72 ชั่วโมง |
สแตนเลส (Stainless Steel) | 48 ชั่วโมง |
ทองแดง (Copper) | 4 ชั่วโมง |
กระดาษแข็ง (Cardboard) | 24 ชั่วโมง |
*สรุปข้อมูลจากบทความ "Aerosol and surface stability of SARS-CoV-2 as compared with SARS-CoV-1."
จากผลงานวิจัยข้างต้นนี้ทำให้หลายคน รวมถึงในวงการแพทย์หันมาสนใจในวัสดุ “ทองแดง” มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลที่นอกเหนือจากความสวยงามของสีที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ทองแดงยังเป็นอีกหนึ่งในโลหะที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำโดยที่ยังคงคุณสมบัติเดิมไว้ได้ครบถ้วน และที่สำคัญ ทองแดงนั้นมีบทบาทอย่างมากในด้านสาธารณสุขมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากทองแดงมีสมบัติทางเคมีเฉพาะตัวที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาสามารถทำลายผนังเซลล์ของตัวไวรัสได้
มีการทดลองใช้ทองแดงเป็นวัสดุปิดผิวบนอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในห้องพักผู้ป่วยในโรงพยาบาล เมื่อเปรียบเทียบกับห้องพักผู้ป่วยทั่วไป ผลคือทองแดงช่วยลดปริมาณแบคทีเรียสะสมได้ถึง 83% รวมถึงพบว่ามีอัตราการติดเชื้อของผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลลดลง 58% อย่างไรก็ตาม ทองแดงยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่เนื่องจากเมื่อใช้งานไปเป็นเวลาหนึ่ง ทองแดงจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันจนกลายเป็น “สนิม” และเปลี่ยนสีจากสีทองแดงกลายเป็นสีเขียวอมน้ำเงิน (Greenish-blue) แต่ถึงแม้ว่าจะมีสีที่เปลี่ยนไป ทองแดงก็ยังคงคุณสมบัติในการป้องกันไวรัสและแบคทีเรียได้ดีเช่นเดิม
ปัจจุบันมีสถานที่สาธารณะบางแห่งอย่าง สวนสนุก Fantasilandia ในประเทศชิลี หรือจุดเติมน้ำดื่มภายในท่าอากาศยานแอตแลนตา สหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์สำหรับให้บริการคนจำนวนมากมาเป็นผิวทองแดงแล้ว ดังนั้นในอนาคตเราอาจได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับการออกแบบเพื่อใช้ทองแดงเป็นวัสดุปิดผิวต่าง ๆ ของอุปกรณ์ในพื้นที่สาธารณะเพิ่มเติมมากขึ้น เช่น ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได ลูกบิดประตู เพื่อลดการสะสมของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย รวมไปถึงลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคผ่านการสัมผัสสิ่งของร่วมกัน
สุดท้ายนี้แม้ว่าคุณสมบัติของทองแดงจะดีเพียงใด ก็ยังทำได้แค่ช่วยลดการสะสมของเชื้อไวรัสเบื้องต้นเท่านั้น อย่าลืมว่าไวรัสต้องอาศัยร่างกายมนุษย์ในการดำรงชีพและแพร่ขยายอาณาจักร ถ้ามนุษย์หยุดติดต่อกันและดูแลรักษาสุขอนามัยให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ เจ้าวายร้ายไวรัสเหล่านี้ก็จะพ่ายแพ้ไปเอง และหวังว่าวิกฤตการณ์โรคอุบัติใหม่ในครั้งนี้จะผ่านพ้นไปได้โดยเร็ว...
ดัดแปลงภาพจาก: Rawpixel / Karolina / Kaboompics
อ้างอิง:
1. van Doremalen Neeltje, Trenton Bushmaker, Dylan H. Morris, Myndi G. Holbrook, Amandine Gamble, Brandi N. Williamson, Azaibi Tamin, et al. "Aerosol and surface stability of SARS-CoV-2 as compared with SARS-CoV-1." New England Journal of Medicine (2020).
2. บทความ “Copper Destroys Viruses and Bacteria. Why Isn’t It Everywhere?”
โดย Shayla Love จาก VICE
เรื่อง : มนต์นภา ลัภนพรวงศ์