“MOSSKIN” ผ้าเพื่อชีวิตที่ 2 ของเหยื่อน้ำกรด
Materials & Application

“MOSSKIN” ผ้าเพื่อชีวิตที่ 2 ของเหยื่อน้ำกรด

  • 20 May 2020
  • 18802

“สแฟกนั่มมอส (Sphagnum Moss)” เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะวัสดุคลุมดินยอดนิยมที่สามารถกักเก็บความชุ่มชื้นได้ดี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทหารเยอรมันยังนิยมใช้มอสเป็นวัสดุทำแผลเนื่องจากมีคุณสมบัติดูดซับของเหลวและป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา แต่ในวันนี้ สแฟกนั่มมอสกำลังมีอีกบทบาทหนึ่งที่น่าจับตาอย่างยิ่งในฐานะ “Mosskin” ผ้าเพื่อชีวิตที่ 2 ของเหยื่อน้ำกรด ที่ช่วยเยียวยาความบอบช้ำทั้งทางกายและทางใจได้เป็นอย่างดี

Mosskin คือสิ่งทอสำหรับสวมใส่ได้ ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการทารุณกรรมในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อช่วยเหลือเยียวยาบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ด้วยการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว จากการเชื่อมโยงข้ามอุตสาหกรรมระหว่างยาและแฟชั่นเข้าด้วยกัน ทำให้ Mosskin ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยในการสมานแผล แต่ยังปกปิดผิวหนังที่เสียหาย ช่วยให้เหยื่อสร้างความมั่นใจในตนเองหลังจากเกิดเหตุการณ์ร้าย และช่วยบรรเทาความบอบช้ำของจิตใจอันเกิดจากรอยแผลเป็นและรูปร่างหน้าตาที่ผิดเพี้ยนไป

การผสม สแฟกนั่มมอส บนพื้นผิวของสิ่งทอนั้น ช่วยเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำและแร่ธาตุอื่น ๆ ได้นานมากขึ้น โดยคุณสมบัติในการดูดซับน้ำและต่อต้านแบคทีเรียของมอสดังกล่าว ช่วยให้ Mosskin สามารถกักเก็บความชุ่มชื้นและช่วยรักษารอยแผลเป็นรวมไปถึงบาดแผลไฟไหม้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ผิวหนังของเหยื่อน้ำกรดที่ถูกทำลาย และอาจรู้สึกไม่สบายตัวจากอาการคันเวลาต้องอยู่ภายใต้แสงแดด ดังนั้น เมื่อผิวที่ถูกทำลายได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถคงความชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอ จึงช่วยลดภาวะตึงเครียดของผู้สวมใส่ได้ 

การใช้ Mosskin จึงนับได้ว่าเป็นการมอบ "ชีวิตที่สอง" ให้กับผิวหนังที่เสียหายไป

แต่ประการแรกนั้น Mosskin จะต้องเป็นผ้าที่สามารถหาได้ตามร้านขายผ้าหรือสถานสงเคราะห์ทั่วไปเสียก่อน โดยวัสดุที่ผสานระหว่างธรรมชาติกับสิ่งทอได้อย่างน่าสนใจเช่นนี้ เป็นโปรเจกต์ของ Tay Tze Yu นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย National University of Singapore ที่ได้เข้ารอบในการประกวด Core77 Design Award ปี 2015 ซึ่งสนใจการใช้ธรรมชาติมาจุดประกายการออกแบบใช้งานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และการผสมผสานงานคราฟต์กับเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน

เมื่อผู้ใช้ต้องการสวมใส่ก็ให้เติมน้ำและผลิตภัณฑ์เสริมอื่น ๆ ลงบนพื้นผิวเพื่อเติมความชุ่มชื้น จากนั้นก็สวมผลิตภัณฑ์โดยให้ด้านที่มีมอสสัมผัสกับผิวหนัง ผู้ใช้สามารถสวมใส่ออกไปเดินเล่นในระยะสั้น ๆ ไปตลาด หรือไปคลินิก เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดดและในขณะเดียวกันก็มั่นใจได้ว่าผิวยังคงความชุ่มชื้นตลอด ซึ่งระยะเวลาการใช้งานที่เหมาะสมต่อหนึ่งครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง และเมื่อกลับมาถึงบ้าน ผู้ใช้สามารถถอด Mosskin ออกได้เหมือนกับเครื่องประดับแฟชั่นอื่น ๆ และนำไปตากให้แห้งเหมือนผ้าอื่น ๆ ทั่วไป 

จากข้อมูลของกลุ่มสตรีที่เป็นสมาชิกรัฐสภา (Women Parliamentary Caucus) และ Punjab Commission on the Status of Women ในประเทศปากีสถาน พบว่า ระหว่างปี 2556 มีรายงานการทำร้ายร่างกายด้วยการสาดน้ำกรด เกิดขึ้นที่แคว้นปัญจาบมากที่สุด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 56 จากทั่วประเทศ โดยร้อยละ 65 ของเหยื่อนั้นเป็นสตรีและเด็กหญิง และอีกร้อยละ 15 เป็นเด็ก แต่ข้อมูลจากประธานมูลนิธิ Acid Survivors Foundation พบว่า อัตราการลงโทษจากคดีทำร้ายร่างกายดังกล่าวกลับอยู่ที่เพียงร้อยละ 35 เท่านั้น ซึ่งหมายความว่ามีคดีถึงร้อยละ 65 ที่เหยื่อไม่ได้รับความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นเพราะการถูกดึงคดีให้เกิดความล่าช้าไปหลายปี หรือเพราะไม่มีการยื่นฟ้อง  

เหตุการณ์สาดน้ำกรดในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง เช่น ปากีสถาน อัฟกานิสถาน อิหร่าน อินเดีย และกัมพูชา นั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ โดยส่วนใหญ่ล้วนเชื่อมโยงกับปัญหาพื้นฐาน เช่น การเลือกปฏิบัติทางเพศและปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งน้ำกรดนั้นเป็นสิ่งที่หาซื้อได้ง่าย จึงมักกลายเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ข่มขู่ทำร้ายร่างกายสตรี เช่น Mumtaz สาวน้อยอายุ 18 ปี จากอัฟกานิสถาน ที่ถูกทำร้ายเพราะเธอไม่ยอมตกลงแต่งงาน หลังจากที่ครอบครัวของเธอปฏิเสธคำขอแต่งงาน ฝ่ายชายตัดสินใจว่าถ้าหากเขาไม่ได้แต่งงานกับเธอ ก็จะไม่มีใครได้แต่งงานกับเธอเช่นกัน 

หลังจากเหตุการณ์ถูกทำร้ายทำให้เหยื่อหลายคนต้องทนอยู่กับความอัปยศ หวาดกลัว และไม่มั่นใจในตนเอง ซึ่งจะยิ่งทวีคูณขึ้นเมื่อต้องออกไปผจญกับแสงแดดและโลกภายนอก เพราะต้องรับมือกับอาการแสบคันผิวหนังเนื่องจากความแห้งกร้านบริเวณที่เป็นแผลไหม้ โดยเฉพาะในเคสที่ต่อมเหงื่อถูกทำลาย Mosskin จึงเป็นการเพิ่มฟังก์ชั่นทางเลือกให้กับผ้าพันคอหรือผ้าคลุมหน้าซึ่งเหยื่อบาดแผลไหม้สวมใส่อยู่แล้ว จึงเพิ่มประโยชน์เป็นสองเท่า ในฐานะยาสมานแผลและสินค้าแฟชั่น

เมื่อผ้าชนิดนี้เปียก มันจะเผยให้เห็นคุณลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร แต่เมื่อผลิตภัณฑ์แห้งตัวลง เราจะไม่เห็นมอสที่ฝังอยู่ด้านใน ทำให้ผ้าดูไม่โดดเด่นเตะตาและเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ที่อาศัยอยู่ในสังคมอนุรักษ์นิยม เพราะแลดูเหมือนเป็นสิ่งทอทั่วไปเมื่อไม่โดนน้ำ 

สแฟกนั่มมอส เป็นวัสดุจากธรรมชาติที่มนุษย์สามารถนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพในหลาย ๆ ด้านมาตั้งแต่ในอดีต บันทึกแรกของการใช้วัสดุนี้คือกลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันยุคแรกที่ใช้มอสเป็นกระบวยตักน้ำและผ้าอนามัย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทหารเยอรมันนิยมใช้มอสเป็นวัสดุทำแผลเนื่องจากมีคุณสมบัติดูดซับของเหลวและป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา อย่างไรก็ตามเมื่อมนุษย์ค้นพบยาปฏิชีวนะสมัยใหม่อย่างเพนนิซิลลิน การนำมอสไปใช้ในแง่ของสุขภาพและยาก็ลดลง ปัจจุบันเราใช้สแฟกนั่มมอสในการทำสวนเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน แต่การที่ต้องนำมาทำความสะอาดเพื่อกำจัดสิ่งตกค้างอื่น ๆ เป็นกระบวนการที่ยุ่งยากและเสียเวลาจึงไม่เป็นที่นิยมในสังคมสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงความจำเป็นของเหยื่อความรุนแรงเหล่านี้ และประวัติของสแฟกนั่มมอสแล้ว โครงการนี้จึงได้ลองสำรวจทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นไปได้ ในการทำความสะอาดและเตรียมวัสดุ เพื่อดึงวิธีการใช้วัสดุแบบโบราณนี้มาใช้ในบริบทร่วมสมัย 

สแฟกนั่มมอส มี Hyaline Cell ขนาดใหญ่ทำให้สามารถดูดซับน้ำได้มากถึง 20 เท่าของขนาดมวลเอง และมากเป็นสองเท่าของฝ้าย ไม่ว่าเซลล์จะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม ขณะที่มันดูดซับน้ำ มอสจะขยายขนาดเซลล์ออก และแม้จะมีความสามารถในการกักเก็บน้ำในปริมาณมาก แต่มันจะไม่คายน้ำออกมาจนกว่าจะถึงขีดความจุสูงสุดที่สามารถรับไว้ได้ มอสชนิดนี้ยังมีคุณสมบัติในการกำจัดแบคทีเรีย ทำให้มั่นใจได้ว่าผิวที่สัมผัสกับมอสจะปราศจากเชื้อโรค นอกจากนี้ มอสยังเติบโตได้ดีในสภาพที่เป็นกรดเล็กน้อย (pH 5.6-6.3) ซึ่งเข้ากับสภาพผิวหนังที่เสียหาย โดยมันจะช่วยเสริม pH ให้กับผิว และเมื่อผิวหนังฟื้นคืนสภาพดีขึ้น ระดับ pH ของผิวที่ถูกทำลายก็จะปรับลงอยู่ในระดับปกติ

Tay Tze Yu เจ้าของโครงการนี้ ได้ศึกษาวิจัยพืชที่มีอยู่มากมาย เช่น สาหร่าย สาหร่ายทะเล และมอส ซึ่งพบว่า สแฟกนั่มมอส มีคุณสมบัติพิเศษและมีศักยภาพที่ควรจะได้รับการค้นคว้าต่อมากที่สุด โดยเฉพาะความน่าทึ่งที่มันสามารถตอบสนองกับผิวหนังของเราได้เป็นอย่างดี 

คุณค่าของโครงการนี้อยู่ที่การใช้ประโยชน์สูงสุดจากวัสดุธรรมชาติ เราสามารถนำสแฟกนั่มมอสไปอบแห้งและนำกลับมาใช้งานใหม่ได้แม้ว่าเซลล์พืชจะตายแล้วก็ตาม ผลิตภัณฑ์นี้เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสำหรับการผลิตสารให้ความชุ่มชื้นสังเคราะห์ ซึ่งโดยสแฟกนัมมอสที่นำมาใช้ต้องผ่านกระบวนการเพาะปลูกที่สะอาด และควรผลิตออกมาเป็นรูปแบบของผืนผ้าสิ่งทอไฮบริด เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ยุ่งยาก และเมื่อถึงวันที่เรามีเทคโนโลยีการเพาะปลูกที่สะอาดมากพอแล้ว ต้นทุนการผลิตก็น่าจะไม่แพงไปกว่าผ้าพันคอธรรมดามากนัก

ทุกวันนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าร่วมกับแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความจำเป็นที่เราต้องลดขยะสังเคราะห์ที่ไม่จำเป็นและยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ออกไป จึงทำให้มีโอกาสที่จะค้นพบและยืดขีดจำกัดของธรรมชาติออกไปได้

เจ้าของโครงการนี้คาดการณ์ว่า ในอีกเกือบ 20 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2035 ด้วยความนิยมและความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นการปรับรื้อระบบครั้งใหญ่ของวงการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ส่วนบุคคล ที่จะถูกออกแบบใหม่ตามสภาพผิวของแต่ละบุคคลตามองค์ประกอบและประเภทของเชื้อที่แตกต่างกันบนผิวหนังของเรา

เราเองพร้อมที่จะเปิดรับและใช้ธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ไปได้ไกลแค่ไหน