วัสดุไม้ทางเลือกจากเปลือกมันฝรั่ง
Materials & Application

วัสดุไม้ทางเลือกจากเปลือกมันฝรั่ง

  • 19 Jan 2021
  • 20291

โรแวน มิงคลี (Rowan Minkley) และโรเบิร์ต นิโคล (Robert Nicoll) สองนักออกแบบจากกรุงลอนดอน สร้างสรรค์วัสดุไม้ทางเลือกจากเปลือกมันฝรั่งเหลือทิ้ง ชื่อว่า “Chip[s] Board” ภายใต้แนวคิดที่ต้องการลดปัญหาภาวะโลกร้อนจากการเผาทำลายแผ่นไม้อัด ไม่ว่าจะเป็นไม้อัดอย่าง MDF หรือแผ่นชิปบอร์ด

ชื่อ Chip[s] Board นี้ เป็นการเล่นคำระหว่างคำว่า Chips ที่หมายถึงมันฝรั่งทอด และต้องการที่จะสื่อถึงแผ่นไม้อัดชิปบอร์ด ซึ่งวัสดุทางเลือกชนิดนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งกระบวนการผลิต และเมื่อใช้งานวัสดุนี้เสร็จแล้วก็สามารถนำไปย่อยสลายทางชีวภาพได้ ซึ่งแตกต่างจากแผ่นไม้อัดแบบเดิมอย่างสิ้นเชิงตรงที่ไม่มีส่วนผสมของสารฟอร์มัลดีไฮด์ หรือสารเคมีที่เป็นพิษอื่น ๆ

แม้ว่าก่อนหน้านี้ไม้ MDF จะเป็นวัสดุที่ใช้ประโยชน์จากการนำเศษขี้เลื่อยเหลือใช้จากไม้มาอัดเพื่อเพิ่มมูลค่า แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องนำไปย่อยสลายก็เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของสหราชอาณาจักรมีการกำจัดหรือเผาไม้ MDF ประมาณ 140,000 ตันต่อปี เนื่องจากไม้อัดชนิดนี้เป็นวัสดุที่ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

นักออกแบบทั้งสองเชื่อว่าแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ควรเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบผลิตภัณฑ์และวัสดุใหม่ทุกชิ้น ทั้งคู่ต้องการที่จะรวมปัญหาทั้งจากขยะวัสดุที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้นี้เข้ากับปัญหาเปลือกมันฝรั่งเหลือทิ้ง ซึ่งมีปริมาณสูงถึง 1 ใน 3 ของเศษอาหารทั้งหมดที่พบได้ในถังขยะ ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาคือไม้ทางเลือกจากเปลือกมันฝรั่งที่ผ่านการแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร

สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวส่งผลให้สถาบัน Royal Academy of Engineering Enterprise Hub มอบรางวัล "ผู้ประกอบการวิศวกรรมรุ่นเยาว์ผู้มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จที่สุดในสหราชอาณาจักร" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน Launchpad Competition ประจำปี ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวหันมาริเริ่มธุรกิจวิศวกรรมของตัวเอง

หลังจากรวบรวมขยะเปลือกมันฝรั่งจากผู้ผลิต พวกเขานำเปลือกมันฝรั่งดิบนี้ไปเข้าสู่ผ่านกระบวนการปรับแต่งเพื่อสร้างสารยึดเกาะที่ใช้กับเส้นใยต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเปลือกมันฝรั่ง ไม้ไผ่ ไม้รีไซเคิล หรือฮอปส์ จากนั้นจึงนำคอมโพสิตไปรีดร้อนจนกลายเป็นแผ่นบอร์ดที่แข็งแรง ซึ่งสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลากหลาย เช่นเฟอร์นิเจอร์และวัสดุก่อสร้าง เมื่อหมดอายุการใช้งาน ก็สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปยังอุตสาหกรรมปุ๋ยหมักเพื่อย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยในฟาร์มซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของมันฝรั่งเหล่านี้

เนื่องจากคู่หูนักออกแบบเพิ่งยื่นจดสิทธิบัตรกระบวนการผลิตที่พวกเขาคิดค้น จึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตวัสดุนี้ได้มากนัก อย่างไรก็ตามพวกเขาอธิบายว่ากระบวนการขึ้นรูปและอัดรีดนั้นได้ดัดแปลงมากจากขั้นตอนการผลิตไม้ MDF ยกเว้นตรงส่วนประกอบของเรซินที่เป็นสารฟอร์มาลดีไฮด์ซึ่งเป็นพิษ จะถูกแทนที่ด้วยสารยึดเกาะที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพซึ่งทำมาจากขยะเหลือทิ้งเช่นกัน

มิงคลี และนิโคล อธิบายเพิ่มเติมว่า “ในฐานะที่เราจบจากมหาวิทยาลัยคิงส์ตัน เราใช้แนวทางแบบ “คิดไปทำไป” ในการสร้างต้นแบบ ในช่วงเริ่มแรกของกระบวนการพัฒนา เราลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน เต็มไปด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านเคมีและการคาดเดาอย่างมีหลักการ รวมไปถึงกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมวัสดุ"

สิ่งนี้เองที่ส่งผลให้ทั้งคู่สามารถพัฒนาบอร์ดที่แข็งแกร่งและใช้งานได้จริง โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้ร่วมก่อตั้ง เกร็ก คูเปอร์ (Greg Cooper) ซึ่งมีพื้นฐานด้านชีวเคมี เขาได้ช่วยทำการทดลองกับบอร์ดแต่ละแผ่น และช่วยขัดเกลาจนกระทั่งเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมสำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์นี้

นอกจากนี้ พวกเขากำลังพัฒนาวัสดุทางเลือกที่ยั่งยืนชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นไปที่พลาสติกชีวภาพซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากนักออกแบบต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมแฟชั่น

 

ที่มา: บทความ “Rowan Minkley and Robert Nicoll recycle potato peelings into MDF substitute” จาก Dezeen.com