SaltyCo อนาคตแห่งความยั่งยืน ด้วยผ้าจากพืชในน้ำทะเล
ผ้าจากพืชที่ปลูกใต้น้ำทะเล ผลงานการสร้างสรรค์โดยกลุ่มนักศึกษาจาก Royal College of Art เพื่อนำเสนอทางเลือกใหม่ที่มีศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ
เป็นที่ทราบกันดีว่ากระบวนการผลิตเส้นใยฝ้ายทั่วไปนั้นต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาล โดยต้องใช้น้ำจืดมากถึง 20,000 ลิตรในการผลิตเส้นใยฝ้ายเพียง 1 กิโลกรัม การพัฒนาเส้นใยจากพืชที่เติบโตได้ดีในน้ำทะเลนี้จึงเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพมากพอเพื่อใช้ในการออกแบบเสื้อยืด กางเกง หรือใช้เป็นส่วนซับในของเสื้อแจ็กเก็ตหรือหนังเทียม
กลุ่มนักศึกษาจากหลากหลายสาขาวิชาในสถาบัน Imperial College London และ Royal College of Art ได้ร่วมมือกันเพื่อจัดการแก้ปัญหาการบริโภคน้ำจืดทั่วโลกที่มากเกินไปนี้
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียในการมองหาทางเลือกจากพืชที่ทนน้ำเค็ม โดยทำการทดลองและวางแผนที่จะเปิดตัวโปรเจกต์ในฐานะสตาร์ทอัพ ภายใต้ชื่อ SaltyCo เพื่อนำผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ได้พืชนี้ออกจัดจำหน่ายในตลาดจริงได้
“ในตอนแรก พวกเรารู้สึกตกใจมากเมื่อรู้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรน้ำจืด” จูเลียน เอลลิส-บราวน์ วิศวกรเครื่องกลแห่ง SaltyCo ให้สัมภาษณ์กับ Dezeen
“เราได้พาโลกของเรามาถึงขีดจำกัดของการใช้ทรัพยากรแล้ว และตอนนี้ก็มีแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความแห้งแล้ง ทะเลสาบและแอ่งน้ำต่าง ๆ ได้กลายเป็นทะเลทรายหรือกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง มีผู้คนมากมายที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน” เอลลิส-บราวน์ กล่าวเพิ่มเติม
ในขณะที่อุตสาหกรรมแฟชั่นปัจจุบัน พยายามที่จะเน้นการใช้เส้นใยออร์แกนิกหรือวัสดุรีไซเคิล ซึ่งเขาและ SaltyCo ก็มุ่งไปสู่ความท้าทายใหม่ที่รออยู่ในอนาคต
“เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ผู้คนสามารถหาซื้อสินค้าออร์แกนิก วีแกน หรือเส้นใยธรรมชาติได้ อีกทั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้เราก็เริ่มเห็นว่าความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) เป็นมาตรฐานใหม่ของสินค้าต่าง ๆ แต่ในตอนนี้เรากำลังมองหามาตรฐานความยั่งยืนใหม่แห่งอนาคต นั่นก็คือ เส้นใยผ้าที่ผลิตโดยไม่ใช้น้ำจืด”
“เราหวังที่จะผลักดันแบรนด์ต่าง ๆ และดึงดูดผู้นำทางความคิดให้หันมาสนใจวัสดุใหม่นี้ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ที่สำคัญสำหรับสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
SaltyCo ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากพืชที่ทนน้ำเค็ม 3 ชนิด ซึ่งตอนนี้เรายังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลชนิดของพืชได้ เรามีทั้งผ้าทอ ผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-Woven) และเส้นใยตีฟูสำหรับใช้เป็นซับในซึ่งเส้นใยนี้มีความพร้อมที่จะนำออกสู่ตลาดมากที่สุด โดยจะเปิดตัวในรูปแบบชิ้นส่วนสำหรับเสื้อแจ็กเก็ต
เอลลิส บราวน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เส้นใยที่พัฒนาขึ้นนี้มีคุณสมบัติสำคัญคือให้ความอบอุ่น น้ำหนักเบา และไม่ดูดซับน้ำ ทำให้เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นผ้าซับในของเสื้อแจ็กเก็ต
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงรูปแบบของผ้าไม่ถักไม่ทอที่ใช้สำหรับเครื่องประดับหรือใช้ทดแทนวัสดุหนังเทียม และในส่วนของผ้าทอยังต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งหากสำเร็จ ผ้าทอที่ได้จะมีคุณสมบัติคล้ายกับผ้าลินินหรือผ้าฝ้าย
ในขณะนี้ SaltyCo เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Venture Catalyst Challenge ดำเนินการโดย Imperial Enterprise Lab และหวังว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้
เครดิต:
วิศวกรเครื่องกล: Julian Ellis-Brown
นักเคมี: Finlay Duncan
นักออกแบบ: Antonia Jara
นักวางแผนกลยุทธ์ด้านการออกแบบและธุรกิจ: Neloufar Taheri
อ้างอิง: บทความ “RCA students develop SaltyCo sustainable fabrics using seawater” จากเว็บไซต์ https://www.dezeen.com