“ควรบริโภคก่อนวันที่...” เมื่อฟิล์มห่ออาหารสามารถบอกความสดใหม่ของอาหารได้
Materials & Application

“ควรบริโภคก่อนวันที่...” เมื่อฟิล์มห่ออาหารสามารถบอกความสดใหม่ของอาหารได้

  • 17 Aug 2021
  • 3263

หลายครั้งที่เราเลือกซื้ออาหารและเห็นคำว่า “ควรบริโภคก่อนวันที่...” บนบรรจุภัณฑ์ วันที่นั้น ๆ อาจไม่ได้เป็นการการันตีว่าอาหารด้านในยังปลอดภัยที่จะกินจริง ๆ หรือเปล่า 

การพิมพ์ “ควรบริโภคก่อนวันที่...” ซึ่งอาจจะเป็นวันสุดท้ายของอาหารในกล่องนั้น หรือจริง ๆ แล้ว อาหารอาจจะยังกินได้ไปอีกเป็นสัปดาห์ เรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันหลายคนต้องทิ้งอาหารที่ยังสามารถกินได้ไปกว่า 40% นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าวันหมดอายุที่พิมพ์มาจากโรงงานนั้น ไม่อาจบอกคุณภาพอาหารได้ 100% ยิ่งถ้าหากคุณสั่งอาหารออนไลน์ ลองนึกภาพบรรจุภัณฑ์อาหารที่ถูกขนส่งตลอดทางกว่าจะถึงมือเรา ต้องตากแดดหรือตากฝน เจอกับปัจจัยอื่นที่ไม่อาจควบคุมได้ที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพอาหารภายใน

แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าหากตัวบรรจุภัณฑ์เองสามารถบอกคุณภาพอาหารด้านในที่เปลี่ยนไปได้?

ห้องทดลองที่บริษัท IndieBio ในซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ประกอบขึ้นด้วยสมาชิกทีมที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ใช้เวลากว่าหลายเดือนไปกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ชีวภาพเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มคุณสมบัติเรื่องความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์ โดยมีเงื่อนไขว่าบรรจุภัณฑ์นี้ต้องสามารถย่อยสลายได้แม้ในสวนหลังบ้านอีกด้วย 

“พวกเราทำงานร่วมกับกลไกเซนเซอร์ ที่ทำให้วัสดุนั้นสามารถตรวจจับความผิดปกติ อย่างเช่นการเน่าเสียของอาหาร หรือระบบติดตามและแจ้งเตือนอุณหภูมิและความชื้น” Viirj Kan ผู้บริหารแห่ง Primitives กล่าวไว้

Noa Machover และ Viitj Kan

 

Kan และผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Noa Machover ได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีเซนเซอร์เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาที่ MIT ท่ามกลางความหลากหลายในการประยุกต์ใช้งานของเทคโนโลยีนี้ ซึ่งมีสิ่งหนึ่งที่พวกเขาสองคนเห็นตรงกันว่าเป็นศักยภาพที่สำคัญในการใช้งานเซนเซอร์ นั่นก็คือ การผลิตฟิล์มบรรจุภัณฑ์แบบบางให้เป็นวัสดุใหม่ที่สามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องขยะพลาสติก จากฟิล์มพลาสติกแบบเดิมที่ใช้ห่อสินค้าจำพวกกระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ หรือใช้ห่อหุ้มอาหารอย่างเนื้อสัตว์ ฟิล์มเหล่านี้เป็นฟิล์มชนิดที่ยากต่อการนำกลับมารีไซเคิลเพราะว่าประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้นซึ่งแยกออกจากกันได้ยาก แม้ว่าจะมีโครงสร้างวัสดุที่บ่งชี้ว่าสามารถนำมารีไซเคิลได้ก็ตาม 

“เรากำลังพูดถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ดูแลระบบการจัดการของเสีย รัฐบาล ลูกค้าคนสำคัญ เพื่อที่จะทำให้เข้าใจว่าอะไรที่พวกเขาต้องการและจำเป็นต้องมี รวมถึงอะไรคือปัญหาหลักที่ต้องได้รับการแก้ไข สำหรับทีมเรามีจุดมุ่งหมายที่มุ่งเน้นไปที่วัสดุฟิล์มพลาสติกซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาขยะพลาสติกที่ใหญ่ที่สุด” Kan อธิบาย

วัสดุตั้งต้นของฟิล์มนี้ผลิตขึ้นจากแหล่งวัตถุดิบที่หมุนเวียนได้อย่าง “สาหร่าย” ซึ่งมีข้อดีคือเป็นพืชที่ดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต นอกจากนั้นทางบริษัทยังมองหาการใช้แหล่งวัตถุดิบอื่นสำหรับการผลิตสาหร่าย เช่น เศษเหลือทิ้งทางการเกษตร สาหร่ายนั้นเป็นวัสดุชีวภาพที่สามารถปิดกั้นการซึมผ่านของก๊าซออกซิเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าฟิล์มพลาสติกที่ทำจากปิโตรเคมี ซึ่งจะช่วยเพิ่มอายุของอาหารให้สดใหม่ได้นานกว่าปกติ รวมถึงช่วยป้องกันรังสี UV-B ที่เข้ามาทำลายคุณภาพของอาหารได้อีกด้วย

ในช่วงของการทดลอง ทางทีมค้นพบว่าฟิล์มที่ทำจากสาหร่ายมีความสามารถในการย่อยสลายได้ง่ายกว่าพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้โดยทั่วไป โดยทีมได้ออกแบบฟิล์มชนิดนี้ให้สามารถย่อยสลายได้ในสวนหลังบ้าน มากกว่าต้องนำเข้าสู่ระบบการจัดการย่อยสลายในโรงงานอุตสาหกรรม เหมือนกับขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ส่วนมาก

เพื่อทำให้ฟิล์มนี้เป็นบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ บริษัท Startup นี้ได้เพิ่มฟังก์ชันการเลียนแบบกลไกตามธรรมชาติที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม อย่างเช่นวิธีการที่ลูกสนตอบสนองต่อความชื้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนรูปร่างทำให้ปล่อยเมล็ดออกมา หรือวิธีการที่ดอกไม้ปล่อยสารออกมาเพื่อเปลี่ยนสี เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันได้ 

“อาจเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงของอาหารด้วยการเปลี่ยนสี หรือมีฉลากอินซูลินที่ตอบสนองต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นเพื่อบอกผู้ซื้อว่าอาหารภายในนั้นไม่ปลอดภัยที่จะรับประทาน” 

ฟิล์มที่ห่อหุ้มเนื้อวัวหรือโปรตีนจากพืชจะแสดงข้อมูลให้เห็นว่าเนื้อสัตว์นั้น ๆ เริ่มเน่าเสียแล้ว โดยที่เราไม่จำเป็นต้องดมกลิ่นหรือชิมเพื่อทดสอบดู ผลจากการทดลองของบริษัทได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีเซนเซอร์นั้นเป็นไปได้ ขณะนี้ทางบริษัทกำลังต่อยอดเทคโนโลยีนี้ในเชิงพาณิชย์ 

สำหรับผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่บริษัทมีแผนจะเปิดตัวในช่วงปลายปี จะเน้นไปที่ฟิล์มห่ออาหารที่ย่อยสลายได้ก่อน ส่วนการใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ร่วมด้วยนั้นจะเป็นระยะต่อไปของผลิตภัณฑ์ที่จะออกมา  

เครดิตรูปจาก Primitives

อ้างอิง: บทความ “This compostable packaging can tell you when your food is going bad” จากเว็บไซต์ https://www.fastcompany.com