กล้วย 1 ต้นทำอะไรได้บ้าง : รวมวัสดุจากต้นกล้วยที่ไม่ใช่แค่เรื่องกล้วย ๆ
Materials & Application

กล้วย 1 ต้นทำอะไรได้บ้าง : รวมวัสดุจากต้นกล้วยที่ไม่ใช่แค่เรื่องกล้วย ๆ

  • 26 Oct 2022
  • 19605

50 ล้านปี คือระยะเวลาที่สืบย้อนกลับไปได้ถึงวิวัฒนาการของพืชเศรษฐกิจอย่าง “กล้วย” ผลไม้สีเหลืองชนิดนี้นับเป็นพืชที่มีประโยชน์มหาศาล เพราะทุกส่วนของกล้วยล้วนใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเพื่อการบริโภคหรือการปรุงอาหาร เช่น ผลกล้วย หัวปลี แม้แต่แกงหยวกกล้วยที่ใช้ลำต้นอ่อนมาเป็นวัตถุดิบ จนกระทั่งใบตองสารพัดประโยชน์ ใช้ห่ออาหารหรือใช้ในงานพิธีต่าง ๆ 

นอกจากเราจะใช้กล้วยในบริบทเดิม ๆ ที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว คุณสมบัติของกล้วยยังเป็นได้มากกว่านั้น โดยผู้ประกอบการที่มีความผูกพันกับต้นกล้วยได้ต่อยอดไอเดียในการนำมาพัฒนาเป็น “วัสดุสำหรับงานออกแบบ”  ที่พร้อมนำมาใช้สำหรับงานตกแต่งได้หลากหลาย รวมไปถึงยังมีคุณสมบัติ “กันกระแทก” อย่างที่หลายคนนึกไม่ถึง


หนังกาบกล้วย

หนังกาบกล้วย” เป็นนวัตกรรมหนังจากธรรมชาติจากแบรนด์ตานีสยามที่เลือกหยิบกล้วยตานี สายพันธุ์ที่เหมาะแก่การนำใบมาทำบายศรี เพราะมีคุณสมบัติเหนียวและฉีกขาดได้ยาก เพื่อที่จะรักษาความเชื่อและวิถีชีวิตของช่างบายศรีในชุมชนที่มีมาแต่โบราณ เจ้าของแบรนด์จึงคิดหาทางหยิบวัตถุดิบท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นวัสดุที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากกว่าเดิม โดยเลือกใช้กาบหรือเปลือกต้นกล้วยตานีเป็นวัตถุดิบหลัก ที่สามารถใช้ทดแทนหนังสัตว์เพื่อผลิตเป็นสินค้าแฟชั่นต่าง ๆ เช่น กระเป๋า หมวก ปกสมุด เคสโทรศัพท์ หรือแม้แต่พัฒนาไปเป็นวัสดุปิดผิวใช้สำหรับการตกแต่งภายใน อย่างแผ่นรองโต๊ะ หรือวอลล์เปเปอร์ก็ได้


ใยกล้วยอัด

หลังจากกล้วยหมดอายุขัย แบรนด์ Hyperdesign Lab เลือกหยิบต้นกล้วยในท้องถิ่นไปบ่มเพื่อเร่งกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ พร้อมเป็นการสร้างวัสดุใหม่อย่าง “ใยกล้วยอัด” ที่มาจากใยกล้วยซึ่งผ่านการบ่มให้คลอโรฟิลล์หมดไป ก่อนจะนำมาอัดเป็นเยื่อกระดาษที่สามารถนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ไม่รู้จบ เช่น ผนังประดับ แจกัน โต๊ะ เก้าอี้ ทั้งยังย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วด้วย


ผ้าใบตองแห้ง

เช่นเดียวกับเจ้าของสวนกล้วยอีกรายที่ปลูกกล้วยไว้หลายสายพันธุ์ และเกิดไอเดียในการหยิบเอา “ใบตอง” มาเป็นวัสดุตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา กระทั่งต่อยอดมาจนเกิดเป็นแบรนด์ P.a.d Banana Leaf ที่ผสมผสานใบตองแห้งจากกล้วยถึง 7 สายพันธุ์ในการสร้างลวดลายให้กับวัสดุ “ผ้าใบตองแห้ง” โดยใช้ประโยชน์จากยางกล้วยมาประสานและเคลือบตัวแผ่นวัสดุให้แข็งแรงโดยไม่ต้องพึ่งพากาวเคมีใด ๆ ผสานกับการตัดเย็บที่ช่วยรักษาสภาพของใบตองได้โดยง่าย ในกรณีที่เกิดรอยยับ เพียงใช้ความร้อนจากเตารีดมารีดทับก็ช่วยให้ผ้าใบตองแห้งกลับมาเรียบสวยงามได้เหมือนเดิม 

อีก 1 วัสดุจากกล้วยที่จะปฏิวัติวงการขนส่งก็คือ “วัสดุกันกระแทกจากก้านกล้วย” จากแบรนด์กล้วยช่วยโลกที่กำลังกลายเป็นหนึ่งไอเดียเด็ดในการเลือกใช้วัสดุกันกระแทกจากธรรมชาติที่ผลิตจากก้านกล้วย 100% สามารถใช้ทดแทนพลาสติกหรือโฟมเพื่อลดปัญหาขยะจากการขนส่งที่กลายเป็นปัญหาสำคัญของโลกแห่งเดลิเวอรีในทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี ด้วยคุณสมบัติที่มีรูพรุนคล้ายฟองน้ำจึงช่วยกันกระแทกได้ดี นอกจากนี้การใช้วัสดุจากธรรมชาติ ยังเป้นการช่วยเหลือชุมชนชาวสวนกล้วย โดยการรับซื้อต้นกล้วยเหลือทิ้งจากสวนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาทำเป็นวัสดุที่มีคุณค่าและมูลค่าอีกครั้ง นอกจากนี้ เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วก็ยังสามารถนำไปใช้เป็นวัสดุคลุมดินได้อีกทอดหนึ่ง 


วัสดุกันกระแทก

การหยิบวัสดุบ้าน ๆ อย่างกล้วยมาพัฒนาเป็นวัสดุเหล่านี้ ไม่เพียงช่วยให้พันธุ์ไม้คู่วิถีชีวิตชุมชนอย่าง “กล้วย” ยังคงมีวิวัฒนาการต่อไปโดยไม่หยุดอยู่แค่การเป็นผลไม้ที่ไว้ใช้กินหรือการริดใบมาใช้ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ เท่านั้น แต่กล้วยยังพร้อมที่จะเป็นทั้ง “พืชเศรษฐกิจ” ที่สามารถสร้างสรรค์และขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าในมิติใหม่ ๆ ให้กับชุมชนและประเทศชาติต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุดอีกด้วย 

สามารถสืบค้นข้อมูลวัสดุไทย เพิ่มเติมได้ที่ www.tcdcmaterial.com 

ที่มา : http://hs.pbru.ac.th/phocadownloadpap/hs_magazine/1_2560/5.pdf

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร