สรรสีให้โลกสวยกับ 2 แบรนด์สีกุ๊กกิ๊กใจที่หยิบเอาวัสดุรอบกายมาระบายเป็นสีสัน
Materials & Application

สรรสีให้โลกสวยกับ 2 แบรนด์สีกุ๊กกิ๊กใจที่หยิบเอาวัสดุรอบกายมาระบายเป็นสีสัน

  • 26 Oct 2022
  • 2759

หลายหมื่นปีมาแล้ว มนุษย์ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของ “สี” และหยิบเอาเม็ดสีจากดินหรือผงถ่านมาวาดลวดลายและเติมแต่งพื้นที่ว่างเปล่าให้มีเรื่องราวขึ้น ก่อนที่จะพบว่ายังมีสีสันอีกมากที่เราอาจหยิบยืมได้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไปจนถึงการค้นพบสีใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็นจากการทดลองและความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแห่งยุคสมัย 

เมื่อศิลปะผูกโยงกับโลกยุคอุตสาหกรรม “สีจากธรรมชาติ” อาจตอบโจทย์น้อยกว่า “สีสังเคราะห์” ที่ผลิตได้ในปริมาณที่มากกว่า ราคาถูกกว่า และมีเฉดสีที่หลากหลายคงที่กว่า แต่หากใช้โดยขาดความเข้าใจและความพอดี สีสังเคราะห์เหล่านี้ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งตัวผู้ใช้และสภาพแวดล้อมได้ อย่างเช่น สีเขียวเชเลอ (Scheele’s Green) ที่มีสารประกอบของสารหนูผสมอยู่จนคร่าชีวิตคนในยุควิคตอเรียน ด้วยฉากหน้าที่สว่างสดใส ดูไม่มีพิษมีภัยและราคาถูก 

กลับกันกับความสวยงามและเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของสีธรรมชาติ จะพบว่าตลอดหลายหมื่นปีที่ผ่านมา สีจากธรรมชาตินั้นแทบไม่เคยทำร้ายใคร หากในวันนี้ เราจะเริ่มหยิบจับมันมาใช้อีกครั้ง ก็อาจเป็นการช่วยลดการทำร้ายธรรมชาติที่ดีกับเรามาโดยตลอดด้วย

ระบายเฉดจากพื้นถิ่นไปด้วยสีน้ำของ Craft Colour
ทั่วโลกมีหินดินทราย แต่ไม่มีที่ไหนสักที่ในโลกที่มีหินดินทรายก้อนเดียวกัน พืชพรรณและผืนดินในแหล่งหนึ่ง ๆ ล้วนมีเอกลักษณ์ที่ให้สีสันที่ไม่เหมือนใคร ในปี 2562 เจ้าของแบรนด์ Craft Colour เริ่มผลิต “สีน้ำ” หลายเฉดสีจากเม็ดสีท้องถิ่นที่หาง่าย ไม่ว่าจะเป็นกรวด หิน ดิน หรือพืชที่อยู่รอบตัวเรา โดยไม่ได้แตะกับสารเคมีแม้แต่น้อย เม็ดสีแต่ละสีนั้นเกิดจากการนำวัตถุดิบแต่ละชนิดมาต้มแล้วทำให้ตกตะกอนด้วยตัวกลางที่ต่างกัน จากนั้นจึงนำไปตากหรืออบให้แห้งแล้วทำเป็นผง ต่อด้วยการใช้กระบวนการอันเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่เรียกว่า “การปรุงสี” เข้ามาผลิตเป็นสีน้ำต่อไป ในกระบวนการนี้ผงสีธรรมชาติจะถูกผสมเข้ากับกาวจากยางกระถินเพื่อให้สียึดเกาะกับพื้นผิว และเพิ่มน้ำผึ้งในการรักษาความชุ่มชื้น แตกต่างจากสีน้ำเชิงพาณิชย์ทั่ว ๆ ไปที่นิยมใช้ยางอารบิก (Gum Arabic) หรือไกลคอลสังเคราะห์เป็นตัวช่วยยึดเกาะ ผนวกกับเม็ดสีสังเคราะห์ที่อาจทำจากสารเคมีและสารประกอบปิโตรเลียม 

สีน้ำที่ Craft Colour ผลิตได้จะไม่มีวันหมดอายุ เนื่องจากเม็ดสีเก็บด้วยตัวกลางที่ตกตะกอนและมีน้ำผึ้งที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้านทานรังสี UV และยังติดทนนานอีกด้วย ปัจจุบันสีน้ำนี้ได้ผลิตออกมาเป็น “พาเลทท้องถิ่น” จากพื้นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น อีสานโทน ห้วยพ่านโทน ที่ประกอบไปด้วยสีจากหินหรือดินตามลำน้ำและผืนดินในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงสีสันอื่น ๆ จากพืชพรรณอย่างใบมะม่วง รงทอง ดาวเรือง และคราม ข้อจำกัดเพียงเล็กน้อยของสีน้ำชนิดนี้ คือกำลังการผลิตที่อาจจะน้อย ต้องใช้วัตถุดิบมากในการผลิตเม็ดสีที่เข้มข้น และควรเก็บในที่แห้งเพื่อป้องกันรา แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะสามารถเช็ดออกและนำไปสรรสร้างเป็นงานศิลปะได้เหมือนเดิม 

Lukyang แบรนด์ดีไซน์เพื่อนรักสิ่งแวดล้อมผู้สร้างสีโปสเตอร์จากอาหาร
เพราะผงกาแฟชงได้แค่ครั้งเดียว เช่นเดียวกับผงชงอื่น ๆ ที่กรองกับน้ำแล้วรสชาติก็จืดจางไป แต่แบรนด์ Lukyang มองเห็นอะไรมากกว่านั้น เพราะสีและกลิ่นยังคงไม่จางหาย ให้ทิ้งไปเป็นขยะก็คงเสียเปล่า “สีโปสเตอร์” เฉดใหม่ ๆ จากของเก่า ๆ ในครัวเรือนและธรรมชาติรอบตัวจึงถูกผลิตขึ้น โดยเริ่มจากการนำวัสดุไม่ว่าจะเป็นของกินอย่างผงกาแฟ ผงชาเขียว หรือธรรมชาติรอบตัวอย่างดอกไม้หลากสีมาสกัดสีด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การขยี้หรือผ่านกระบวนการความร้อนแล้วนำไปผสมกับส่วนผสมที่เหลือเพื่อให้สีติดกระดาษและมีความเหนียว

ความพิเศษของสีโปสเตอร์ทำมือ นอกจากจะมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ตามวัสดุที่นำมาใช้ ไม่เหมือนสีในตลาดที่เป็นกลิ่นเคมีแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป สีที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติเหล่านี้ก็อาจแปรเปลี่ยน สร้างอารมณ์ที่สดใหม่แก่ผู้ที่มองเห็นอีกด้วย เช่น สีฟ้าจากดอกอัญชันที่ผ่านกาลเวลาจะมีสีอมเขียวแซมเข้ามา ไม่เพียงเท่านั้นสีบางสีอย่างเช่นสีจากดอกกระเจี๊ยบเมื่ออยู่ในขวดก็มีสีชมพูสดแบบหนึ่ง แต่เมื่อทาออกมาแล้วกลับกลายเป็นสีม่วง เป็นต้น ซึ่งข้อจำกัดของสี Lukyang อยู่ที่อายุการใช้งานที่จะแตกต่างกันตามวัสดุสกัดสี และอาจต้องเก็บรักษาให้ดีตามสภาพอากาศเพื่อรักษาอายุของสีให้ได้เต็มที่สำหรับการใช้งานวาดรูปทั้งบนกระดาษและผ้าใบ

ความสวยงามของศิลปะอาจไม่ใช่เพียงแค่ผลงานในกระดาษแต่อาจเป็นในยามที่ศิลปะได้ผลิบานพร้อมกับสร้างเสริมและเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น สีทั้งสองแม้ต่างที่มาแต่ก็ช่วยสะท้อนให้เห็นความสวยงามรอบตัวพร้อมกับการใช้ทุกทรัพยากรที่โลกได้มอบให้อย่างคุ้มค่า นี่จึงนับเป็นก้าวที่ดีสำหรับวงการศิลปะที่จะแต่งแต้มโลกใบนี้ให้สวยงามต่อไปด้วยความยั่งยืน

สามารถสืบค้นข้อมูลวัสดุไทย เพิ่มเติมได้ที่ www.tcdcmaterial.com 

ที่มา : บทความ “Types of Watercolor Paint and How It's Made” โดย Lisa Marder จาก liveabout.com 
บทความ “A Brief History of Color in Art” โดย Sarah Gottesman จาก artsy.net 
บทความ “สีโปสเตอร์” จาก digitalschool.club

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร