แกลเลอรี เดอ หิมพานต์ แบรนด์เก๋ที่จับความเป็นไทยใส่ลงในพัดจีบ
Materials & Application

แกลเลอรี เดอ หิมพานต์ แบรนด์เก๋ที่จับความเป็นไทยใส่ลงในพัดจีบ

  • 29 Sep 2023
  • 1709

ยุคนี้มีตัวช่วยคลายร้อนมากมาย แล้วจะมีใครอยากพกพัดติดตัวอยู่ไหมนะ หลายคนอาจสงสัยเช่นนั้นเมื่อเห็นพัดจีบวางอยู่ตรงหน้า ทว่าสำหรับ “นิก” ศมภู อังสนันท์ ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ แกลเลอรี เดอ หิมพานต์ (Galerie de Himmapan) กลับมองว่าพัดไม่ใช่แค่อุปกรณ์คลายร้อน แต่เป็นแอกเซสซอรีเสริมสง่าราศีที่เติมเต็มสไตล์ให้กับผู้ถือ จึงหยิบเอาสิ่งของซึ่งคนอื่นมองข้ามมาเพิ่มความเก๋ด้วยการบรรจงวาดเขียนลายไทยลงไปอย่างวิจิตร จนกลายเป็นโปรดักส์ระดับมาสเตอร์พีซมากมูลค่าที่มีความไทยจ๋าแต่ดูไม่ล้าสมัย ทั้งกลับงดงามน่าใช้จนใคร ๆ ก็อยากมีไว้ในครอบครองสักชิ้น

เมื่อถามถึงเส้นทางของการเป็นดีไซเนอร์ที่มีมุมมองไม่เหมือนใคร นิกบอกว่า “จริง ๆ ผมไม่ได้เรียนทางด้านออกแบบดีไซน์มาโดยตรง เพียงแต่เคยลงเรียนคอร์สเกี่ยวกับจิลเวลรีและดีไซน์เครื่องประดับ และมีความสนใจในศิลปวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่เด็ก ชอบไปวัด ดูจิตรกรรม และที่ชอบมากคือการไปดูงานศิลปาชีพ ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้ได้เห็นความวิจิตรงดงามของงานหัตถกรรมและงานประณีตศิลป์ชั้นสูง จนเกิดเป็นความชื่นชมและชื่นชอบที่ฝังอยู่ในใจมาตลอด” นั่นคือคำตอบแรกที่ทำให้คลายสงสัยได้ว่า ทำไมชิ้นงานของแบรนด์นี้ถึงมีกลิ่นอายความเป็นไทยอย่างชัดเจน ก่อนที่คำถามถัดไปจะค่อย ๆ เผยให้เห็นความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่และสืบสานต่อยอดศิลปะไทยของเขา

ทำไมถึงคิดจะหยิบเอาความเป็นไทยมาทำให้ร่วมสมัย
ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน ตอนที่เพิ่งเรียนจบปริญญาโทจากประเทศจีน ผมได้พบกับอาจารย์ช่างทองหลวง ซึ่งประกาศรับลูกศิษย์ที่อยากเรียนรู้การทำทองโบราณเข้าพอดี ด้วยความที่สนใจในงานด้านนี้อยู่แล้วผมจึงตัดสินใจสมัครเรียนทันที และคอร์สการทำเครื่องประดับทองโบราณครั้งนั้นก็ทำให้ผมได้เจอกลุ่มเพื่อนที่มีความสามารถทางศิลปะในหลากหลายสาขา ซึ่งแต่ละท่านก็มีความเก่งเฉพาะตัวคนละแบบ จนเกิดความคิดว่าถ้านำองค์ความรู้ทางศิลปะเหล่านี้มาประยุกต์เป็นโปรดักส์ที่สามารถใช้งานได้จริงคงน่าสนใจไม่น้อย จึงเป็นที่มาของการเปิด แกลเลอรี เดอ หิมพานต์ ขึ้นมา โดยผมทำหน้าที่เป็นดีไซเนอร์และมีช่างเขียนอีกคนทำงานร่วมกัน

ที่มาของชื่อแบรนด์แสนเก๋ แกลเลอรี เดอ หิมพานต์
ที่ตั้งเป็น “แกลเลอรี” เพราะไม่อยากจำกัดตัวเองอยู่แค่สินค้าประเภทเดียว คืออยากทำชิ้นงานหลายประเภทและในอนาคตหากมีผลงานที่น่าสนใจจากช่างฝีมือท่านอื่นก็สามารถนำมาวางในร้านได้ แล้วทำไมต้องเป็น “หิมพานต์” ก็เพราะหิมพานต์เป็นป่าใหญ่ในวรรณคดีที่เต็มไปด้วยสารพัดสัตว์และสิ่งวิเศษต่าง ๆ หลากหลาย พอพูดถึงป่าหิมพานต์จึงรู้สึกถึงภาพป่าอันกว้างใหญ่ที่ไม่จำกัดขอบเขตว่าสื่อถึงสินค้าใดสินค้าหนึ่ง แต่มีหลายอย่างที่งดงามอยู่ในนั้น และบางสิ่งบางอย่างอาจจะเหนือความคาดหมายจนทำให้รู้สึกอัศจรรย์ใจได้เลยทีเดียว

ผลงานของ แกลเลอรี เดอ หิมพานต์ มีอะไรบ้าง
ตั้งแต่แรกเริ่มทำแบรนด์ เราวางโปรดักส์ไว้ 4 หมวดด้วยกัน คือหมวดพัสตราภรณ์ ซึ่งเป็นงานเสื้อผ้า งานปักสะดึงกรึงไหม การปักซอยหน้าหมอน ผ้าคลุมไหล่ที่เขียนลายแบบไทย หมวดที่สองเป็นงานจิตรกรรมภาพเขียน หมายถึงการนำลวดลายไทยมาเขียนลงบนโปรดักส์อื่น ๆ เช่น กระเป๋ากระจูด หรือตาลปัตร หมวดที่สามคืองานถนิมพิมพาภรณ์ หรือเครื่องประดับที่ออกแบบให้มีกลิ่นอายความเป็นไทย และหมวดสุดท้ายคือพัดจีบเขียนลายไทย ซึ่งเป็นโปรดักส์ที่ทำให้คนรู้จักแบรนด์เรามากขึ้น

พัดจีบเป็นโปรดักส์ที่แทบไม่เคยเห็นแบรนด์อื่นทำ อะไรทำให้นึกอยากทำพัดขึ้นมา
ก่อนหน้านี้ผมได้เห็นพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เป็นภาพพระองค์ท่านทรงโจงกระเบนสีแดง เบื้องหลังเป็นพระปรางค์วัดอรุณ และในพระหัตถ์ทรงถือพัดจีบด้ามหนึ่งอยู่ ซึ่งผมเคยเห็นจากพระฉายาลักษณ์อื่น ว่าด้านในพัดเขียนเป็นรูปแบบลายไทยสวยงามมาก เลยคิดอยากลองทำพัดดูสักครั้ง ประกอบกับตอนไปเรียนที่ประเทศจีนได้เห็นว่ามีแหล่งวัสดุอุปกรณ์ในการทำพัดอยู่ในเมืองปักกิ่ง เลยไปซื้อมาลองทำโดยคิดว่าไม่น่ายาก เพราะการเขียนลาย ช่างของเราก็เคยเขียนบนผ้าไหมและกระจูดมาแล้ว เปลี่ยนมาเขียนบนพัดจึงไม่น่าจะมีปัญหา แต่ปรากฏว่าชิ้นแรกไม่ประสบความสำเร็จ เพราะจิตรกรรมไทยมีเทคนิคเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น ต้องรองพื้นด้วยสีขาวก่อน เสร็จแล้วจึงวาดรูปลงไป กลายเป็นว่าพอแห้งปุ๊บภาพแตกลายงา เนื้อกระดาษเป็นขุย ใช้งานไม่ได้ พอลองชิ้นที่สองเนื้อกระดาษก็หนาเกินไป กางออกมาแล้วแข็งไม่ถูกใจ เลยต้องค่อย ๆ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ

ผมทำแบรนด์มา 7-8 ปี ใช้เวลาลองผิดลองถูกทำพัดไปแล้ว 5 ปี จนตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่าไม่ลงตัว ยังไม่สุด ถ้าถามว่า ณ วันนี้พอใจกับพัดจีบที่ทำประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ ผมให้ 80% เพราะคิดว่ายังไปได้สุดกว่านี้อีก

นอกจากเทคนิคการเขียนลาย ความท้าทายในการทำพัดยังมีอะไรอีกบ้าง
ความท้าทายอย่างหนึ่งคือการเลือกใช้วัสดุในการทำ พัดจีบนั้นมีหลายวัสดุมาก ถ้าสังเกตจะเห็นว่าพัดจีนชอบใช้กระดาษเป็นวัสดุหลัก ซึ่งกระดาษก็มีหลายประเภท หลายคุณภาพ แต่ละชนิดซึมซับสีไม่เท่ากัน บางครั้งสีที่ลงไปเกิดเอฟเฟ็กต์ออกมาไม่ได้ดั่งใจก็มี และพัดของเราก็ไม่ได้จำกัดแค่กระดาษ ยังมีผ้าไหม ไหมผสมฝ้าย ผ้าฝ้าย ผ้าสังเคราะห์ ซึ่งผ้าธรรมชาติทุกผืนทอแล้วจะมีเส้นใยที่ขรุขระไม่ราบเรียบสม่ำเสมอ เวลาวาดสีลงไป เส้นที่วาดจะไม่ตรงและเป็นขุย นั่นคือปัญหาที่เราต้องเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีตัวด้ามที่ทำจากไม้หลากหลายประเภท ทั้งไม้ไผ่ ไม้นอก ซึ่งให้ความหนักเบาไม่เท่ากัน ลวดลายไม่เหมือนกัน บางอันแข็งแรง บางอันกรอบหักง่าย คือตอนทำแรก ๆ เราก็ไม่รู้หรอกว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องเรียนรู้หน้างานเยอะมากกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่ที่สุด

ทำยากขนาดนี้ แต่ละล็อต แต่ละคอลเล็กชัน ผลิตออกมามากน้อยแค่ไหน
ต้องบอกก่อนว่าผมเป็นคนขี้เบื่อ ไม่ชอบทำอะไรซ้ำ และคิดว่าลูกค้าเองก็คงไม่อยากได้ของซ้ำ ๆ เหมือนกัน แต่ละท่านน่าจะอยากได้ผลงานที่เป็นชิ้นพิเศษที่มีความเฉพาะและไม่เหมือนใคร ดังนั้นในแต่ละคอลเล็กชันจึงทำออกมาจำนวนจำกัดและไม่ซ้ำกันเลย อีกอย่างพัดแต่ละชิ้นใช้เวลาทำนาน เพราะผมมีช่างเพียงคนเดียวกำลังการผลิตจึงไม่มาก อีกทั้งงานจิตรกรรมก็เป็นงานที่มีความละเอียดและผูกกับอารมณ์ของผู้ทำ ต้องปล่อยให้ช่างเขียนได้ผ่อนคลาย ทำงานอย่างมีความสุข ผลงานจึงจะออกมาดี อย่างล่าสุดคอลเล็กชัน “เทวาวาส” ทำออกมาเพียง 8 ด้าม โดยเริ่มทำตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 มาแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมปี 2566 เฉลี่ยคือทำด้ามละสองเดือน เพราะต้องค่อย ๆ ทำ มีกระบวนการ มีคอนเซ็ปต์ มีธีม มีการกำหนดโทนสี เรียกได้ว่ากว่าจะตกผลึกมาเป็นชิ้นงานที่เห็นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดังนั้นปี ๆ หนึ่งเราจึงออกคอลเล็กชันใหญ่เพียงคอลเล็กชันเดียว และมีชิ้นงานแยกเดี่ยวอีกประมาณ 6-7 ชิ้นต่อปี บางปีอาจจะมีพัดพิมพ์ลายที่ตั้งใจทำในราคาย่อมเยาออกมาบ้างสำหรับบางท่านที่อยากจะใช้งานทุกวัน แต่ก็ทำออกมาไม่เยอะ ลายละประมาณ 20 กว่าด้าม เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ซ้ำใคร

ลูกค้าของแกลเลอรี เดอ หิมพานต์ คือใคร
บอกตามตรงว่าผมไม่เคยเจอลูกค้าที่ซื้องานของผมเลย ไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าคนที่ซื้อไปเป็นใคร เพราะส่วนใหญ่สั่งจองและซื้อทางออนไลน์ อีกทั้งผมยังไม่เคยเห็นใครหยิบพัดจีบของเราออกมาใช้ เรียกว่าส่งงานเสร็จก็หายเงียบไปเลยทุกชิ้น มีอยู่ครั้งหนึ่งผมได้พบกับลูกค้าหน้างานที่จัดแสดง จึงถามว่าซื้อเอาไปใช้ในงานอะไร เขาบอกแค่ว่าอยากเอาไปเก็บไว้ เพราะสวย และจะนำมาใช้เมื่อมีความสุข ผมเลยเข้าใจว่ากลุ่มลูกค้าที่ซื้อพัดของเราอาจจะเป็นนักสะสมที่ชื่นชมในงานประเภทนี้ หรือบางส่วนอาจจะซื้อเป็นของขวัญให้คนรู้จัก ให้ผู้ใหญ่ที่นับถือ ซึ่งสำหรับผมดีใจและภูมิใจมากที่ผลงานที่เราทุ่มเททำออกมาอย่างดีที่สุด ได้ไปอยู่ในความครอบครองของคนที่ชมชอบและเห็นในความตั้งใจของเรา

แรงบันดาลในการสร้างสรรค์ชิ้นงานส่วนใหญ่มาจากไหน
แรงบันดาลใจหลัก ๆ มาจากเหตุการณ์ที่ใกล้ตัว หรือสิ่งที่ผมพบเห็น จากนั้นจึงนำมาเชื่อมโยงกับความชอบในศิลปะและวัฒนธรรมไทยของตัวผมเอง ซึ่งองค์ความรู้เรื่องศิลปะและวัฒนธรรมไทยนั้นมีอยู่มากมายเทียบได้เป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่มีกุ้งหอยปูปลาสารพัดให้เลือกสรรมาเป็นแรงบันดาลใจ มีทั้งลวดลายบนฝาผนังวัดวาอาราม  เรื่องราวของวรรณคดีไทย เช่นรามเกียรติ์ หรือเรื่องเล่านิทานพื้นบ้านชาดกต่าง ๆ ผมจะค่อย ๆ คิดว่าตอนนั้นผมสนใจอะไรและอยากเห็นอะไรบนชิ้นงาน ยกตัวอย่างคอลเล็กชัน “เทวาวาส” ซึ่งเป็นการรวมคำว่า “เทวดา” เข้ากับคำว่า “วาส” จากนิวาสสถาน รวมกันเป็นบ้านของเทวดาหรือก็คือสรวงสวรรค์ เกิดจากการที่ผมรู้สึกว่าช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาทุกคนดูเครียดและหม่นหมองกันมาก จึงอยากทำชิ้นงานที่ดูหวาน สดใส และเป็นมงคลขึ้นมา ประกอบกับเวลาไปต่างประเทศแล้วได้เห็นจิตรกรรมปูนเปียก (Fresco) ในโบสถ์หรือวิหารซึ่งนำเสนอภาพสรวงสวรรค์อันเกี่ยวกับศาสนาและเทพปกรณัม เลยคิดว่าอยากจะสร้างสรรค์สรวงสวรรค์ในแบบของเราบ้าง โดยจินตนาการให้มีทวยเทพหลายองค์หลายรูปแบบที่แตกต่างกันอยู่ในนั้น จนเกิดเป็นภาพสรวงสวรรค์ที่แปลกตาด้วยรูปแบบการนำเสนอทว่าคุ้นเคยด้วยเทคนิคการเขียนจิตรกรรมแบบไทย

แท้จริงแล้วจุดมุ่งหมายของการทำแบรนด์นี้คืออะไร
ส่วนตัวผมทำแบรนด์นี้เพื่อสนองความต้องการของตัวเองที่ชอบความท้าทาย ด้วยการนำเอาสิ่งที่คนคิดว่าใช้ยากมาทำให้ใช้ง่ายและเพิ่มมูลค่าให้ของธรรมดากลายเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดา เช่น ผ้าไหมที่คนทั่วไปมักจะคิดถึงแค่การตัดเสื้อ ชุด กระเป๋า แต่ผมเอามาทำเป็นหน้าหมอนอิงโดยปักลายและใส่ปีกแมลงทับรวมถึงไข่มุกจริงลงไปด้วย หรือเอามาเขียนด้วยมือเป็นผ้าคลุมไหล่ลายรามเกียรติ์ที่วิจิตรงดงาม ทำให้ผู้คนได้เห็นว่าสิ่งที่คุ้นชินสามารถเพิ่มมูลค่าและทำอะไรได้มากกว่าที่เคยเห็น เป็นการหยิบของธรรมดาภูมิปัญญาของประชาชนคนไทยที่ถูกลืมหรือถูกละเลย มาสร้างสรรค์ให้ไม่ธรรมดา ส่วนอุดมการณ์ของแบรนด์ ตั้งแต่แรกเริ่มของแกลเลอรี เดอ หิมพานต์ คือการสนองพระปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอนุรักษณ์และฟื้นฟูศิลปะไทยทุกมหาสาขาให้วัฒนาถาวรเป็นมรดกให้กับปวงชนชาวไทย อยากให้คนได้เห็นและสนใจที่จะอนุรักษ์ศิลปะหรืองานฝีมือไทยมากขึ้น ซึ่งจะต่อยอดให้เขาอยากหาความรู้ด้วยการอ่าน โดยผลงานทุกชิ้นของแบรนด์ผมจะเขียนเรื่องราวประกอบไว้ให้เป็นข้อมูลด้วย ถ้าใครอ่านก็จะได้ความรู้ จุดประกายความสนใจ และถ้าอยากรู้มากขึ้นไปอีก ก็จะเกิดแรงกระตุ้นให้ไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ ผมคิดว่าวิธีนี้จะช่วยเผยแพร่ความรู้และต่อยอดให้ศิลปะไทยมีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปได้

จุดหมายต่อไปที่อยากเห็นแกลเลอรี เดอ หิมพานต์ ก้าวไปให้ถึง
ความคาดหวังสูงสุดของแบรนด์คือการได้ไปจัดแสดงผลงานในต่างประเทศ อยากนำเอางานที่เราทำ ทั้งพัสตราภรณ์ งานจิตรกรรมบนโปรดักส์ต่างๆ เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ที่เราออกแบบ และพัดสวย ๆ ที่มีศิลปะความเป็นไทยอยู่ในนั้นไปจัดแสดงให้ชาวต่างชาติได้รู้ว่า บ้านเมืองของเรามีศิลปะอันรุ่งเรือง มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่งดงาม ถ้ามีโอกาสก็อยากไปให้ถึงจุดนั้น

Creative Ingredients
แบบอย่างของแกลเลอรี เดอ หิมพานต์
ต้นแบบและแรงบันดาลใจของผมคืองานศิลปาชีพใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทุกชิ้นคือศิลปะบริสุทธิ์ที่ผมมองว่าอยู่เหนืองานฝีมือทุกอย่าง เป็นสุดยอดของงานหัตถกรรมที่ผมยกให้เป็นแบบอย่าง โดยนำมาปรับทอนให้เข้าถึงได้ง่าย และจับต้องได้มากขึ้น

ที่มาของสีหวาน ๆ ในผลงาน
ประมาณ 3 ปีก่อน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงจัดทำหนังสือ Thai Textile Trend ที่รวบรวมสีไทยโทนจากธรรมชาติ พระราชทานให้ประชาชนและช่างทอผ้านำไปต่อยอดใช้งาน ผมจึงนำโทนสีเหล่านั้นมาสร้างสรรค์ผลงาน เพราะอยากให้คนทั่วไปได้รู้ว่าเรามีสีไทยโทนอยู่เยอะ และเป็นตัวอย่างให้คนทำงานด้านศิลปะหรือคนที่เกี่ยวข้องกับการใช้สีได้เห็นถึงความสวยงามของสีสันเหล่านี้ด้วย

วิธีเติมไฟจุดแรงบันดาลใจ
ผมชอบเดินทางทั้งในและต่างประเทศ พอออกไปนอกประเทศ เราจะเห็นสิ่งที่ผู้คนบนโลกนี้เขาคิดกัน โดยเฉพาะงานศิลปะหรืองานที่ล้ำสมัย แล้วเอากลับมาคิดว่าจะปรับใช้กับงานไทยได้ไหม อย่างไร ส่วนการเดินทางในประเทศ ผมจะเน้นไปในชุมชน เข้าถึงท้องถิ่น เพื่อดูว่าชาวบ้านทำอะไร สามารถนำสิ่งที่เขาทำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ไหม และอีกอย่างที่ชอบมากคือการไปเดินงานแสดงสินค้า OTOP ต่าง ๆ เพื่อเลือกหยิบจับเอางานฝีมือแบบไทย ๆ มาผสมผสานกับองค์ความรู้ของเรา แล้วสร้างออกมาเป็นโปรดักส์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง

ความท้าทายต่อไป
อยากทำงานประดับปีกแมลงทับแบบของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่เคยเห็นในงานศิลปาชีพให้ได้ เพราะมองว่าเป็นงานที่มหัศจรรย์มาก จริง ๆ เป็นงานแรกที่เห็นแล้วอยากทำ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังทำไม่ได้ พยายามศึกษามาหลายปีแล้วก็ยังรู้สึกว่ายากมาก นอกจากมีเทคนิคเฉพาะแล้ว ยังต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะสูงอีกด้วย

ภาพ : Galerie de Himmapan

เรื่อง : สุรางค์รัตน์ แก่นบุบผา