เปิดที่มา “Jolly Roger” สัญลักษณ์โจรสลัดกะโหลกไขว้บนผืนธงสีดำ
Materials & Application

เปิดที่มา “Jolly Roger” สัญลักษณ์โจรสลัดกะโหลกไขว้บนผืนธงสีดำ

  • 02 Oct 2023
  • 4178

ทุกวันนี้ถ้าจะพูดถึงกลุ่มโจรสลัดขึ้นมา หลายคนก็น่าจะนึกไปถึงเรื่องราวการผจญภัยฉบับซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันของกลุ่มโจรสลัดหมวกฟางที่โด่งดังเป็นพลุแตกในตอนนี้อย่าง One Piece

แต่ทีนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโจรสลัดจากการ์ตูนเรื่องนั้น เรื่องไหน หรือไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโจรสลัดที่เคยมีตัวตนจริง ๆ ในอดีตต่างก็จะมี “ธงประจำเรือ” หรือธงประจำกลุ่มของตนเองไม่ต่างกัน และแม้จะมีการตกแต่งธงและสีสันที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็ยังคงไว้ซึ่ง “หัวกะโหลกและกระดูกหรือดาบไขว้บนผืนธงสีดำ” เหมือน ๆ กัน

แล้วสัญลักษณ์ที่ใครเห็นก็รู้ได้ทันทีว่านี่หมายถึง “โจรสลัด” เหล่านี้มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร และแต่ละกลุ่มใช้สัญลักษณ์แทนความหมายอะไรบ้าง ก่อนที่จะกลายมาเป็นสัญลักษณ์สากลเหมือนที่เรารู้กันทุกวันนี้


One Piece (2023 TV series) / Netflix

ยุคทองของโจรสลัดและจุดเริ่มต้นของธงแห่งความตาย
ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงทรัพย์สมบัติกันตลอดมา และแม้จะไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็พอจะคาดเดาได้ว่าอาชีพโจรสลัดก็น่าจะถือกำเนิดขึ้นมาในยุคเดียวกับที่มนุษย์เริ่มมีการเดินทางและขนส่งสินค้าทางเรือนั่นแหละ

ที่พอจะมีบันทึกไว้บ้างก็ต้องย้อนกลับไปถึงยุคกลางตอนต้น ซึ่งเป็นพวก “ไวกิ้ง” ที่จะคอยดักซุ่มอยู่ตามเส้นทางการค้าของกรีกโบราณ และเมื่อมีเรือพาณิชย์โรมันผ่านมา ก็จะทำการบุกจู่โจมเพื่อยึดเอาสินค้าที่บรรทุกมาด้วย ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นเครื่องปั้น เฟอร์นิเจอร์ ธัญพืช และน้ำมันมะกอก

เหตุการณ์ดำเนินอยู่เช่นนี้จนถึงช่วงปี 1650 ที่จำนวนโจรสลัดเริ่มเพิ่มมากขึ้นจนเข้าสู่หลักพันคน แถมยังเริ่มประกาศตัวตนชัดเจน มีอำนาจ มีความน่าเกรงขาม ไม่ได้อยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ เหมือนโจรกระจอกแต่อย่างใด

จนในปี 1720 ซึ่งเป็นช่วงที่อังกฤษต้องเผชิญกับยุคของความเหลื่อมล้ำ เกษตรกรตาดำ ๆ ถูกยึดที่ดินทำมาหากิน คนที่ทำธุรกิจค้าขายก็ไม่สามารถต่อสู้กับเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ที่มีอิทธิพลได้ คนว่างงานเหล่านี้ก็ทยอยเดินทางเข้าไปหางานทำในเมือง ซึ่งเมื่อจำนวนงานมีไม่เพียงพอก็ทำให้ลอนดอนเต็มไปด้วยคนว่างงานจำนวนมาก

ชายหนุ่มที่ว่างงานเหล่านี้ต้องจำใจเลือกเส้นทางทำมาหากิน ระหว่างการไปเป็นลูกเรือในยุคที่มีคนเดินทางด้วยเรือไม่มาก ซึ่งหมายถึงการทำงานหนักเพื่อให้ได้ค่าจ้างเล็กน้อย และยังมีกฎระเบียบและบทลงโทษที่เข้มงวด กับอีกเส้นทางหนึ่งคือการผันตัวไปเป็น “โจรสลัด” ที่นอกจากจะทำให้พวกเขาร่ำรวยได้อย่างรวดเร็วแล้ว นี่ยังเป็นเส้นทางไปสู่อำนาจ ที่ทั้งชีวิตนี้ก็ไม่สามารถหาได้จากการทำงานอื่น ๆ อีกด้วย

เมื่อตัวเลือกชัดเจนขนาดนี้ ช่วงศตวรรษที่ 17 จนถึงต้นศตวรรษที่ 18 จึงกลายเป็นยุคทองของวงการโจรสลัด ที่มีผู้ประกอบอาชีพนี้กว่า 5,000 คน และออกปล้นฆ่ากันทุกวันอยู่ในน่านน้ำโซนยุโรป

ที่มาของ “Jolly Roger” ธงโจรสลัดกะโหลกไขว้ที่เรารู้จักในปัจจุบัน
ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคทองของโจรสลัดนั้น ธงที่โจรสลัดในยุโรปชักขึ้นเสาธงเพื่อประกาศตัวตนในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 นั้นจะเป็นเพียงแค่ผืนผ้าสีดำล้วนหรือสีแดงล้วนเท่านั้น ยังไม่มีหัวกะโหลก ไม่ได้มีลวดลาย หรือดีไซน์อื่น ๆ เหมือนทุกวันนี้

“ธงสีดำ” แน่นอนว่าสีดำเป็นสีที่หมายถึงความตายมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ก่อนที่จะถูกนำมาใช้ในเรือโจรสลัดนั้น ธงสีดำล้วนมักจะถูกชักขึ้นเสาโดยเรือที่มีผู้ป่วยโรคระบาด (น่าจะติดกันทั้งลำ) เหมือนเป็นการสื่อว่า “เรือลำนี้บรรทุกความตายมา” เพื่อช่วยเตือนภัยให้ผู้พบเห็นอยู่ห่าง ๆ เข้าไว้ ซึ่งความหมายก็ดันไปถูกใจโจรสลัดเข้า เรือโจรสลัดจึงเริ่มหันมาใช้ธงดำในความหมายทำนองเดียวกัน

ส่วน “ธงสีแดง” มาจากการที่เรือของทหารรับจ้างชาวอังกฤษถูกกองทัพเรือสั่งให้ชักธงสีแดงล้วน เมื่อล่องเรืออยู่ด้วยกันจะได้แยกออกว่าเรือลำไหนเป็นของกองทัพเรือ และเรือลำไหนเป็นของทหารรับจ้าง จนเวลาผ่านไป เรือของทหารรับจ้างเหล่านี้ส่วนหนึ่งเริ่มผันตัวมาเป็นโจรสลัดและยังคงใช้ธงสีแดงนี้ออกปล้นอยู่นั่นเอง


Rowan Heuvel / Unsplash

จนมาถึงยุคทองของโจรสลัดในช่วงศตวรรษที่ 17 ที่เริ่มมีการนำเครื่องหมายกะโหลก กระดูก ดาบ ปืน และเลือด เข้ามาเสริมความน่ายำเกรงในดีไซน์เฉพาะตัวของโจรสลัดแต่ละกลุ่ม และโจรสลัดก็เริ่มเรียกธงของตนเองไม่ว่าจะดีไซน์ไหนก็ตามว่า “Jolly Roger” จนแพร่หลายกลายเป็นความหมายสากล (คาดว่าเพี้ยนมาจาก “Joli Rouge” ซึ่งแปลว่าสีแดงสวยในภาษาฝรั่งเศสซึ่งใช้ธงแดงบนเรือทหารรับจ้างเช่นเดียวกัน)

ความหมายและธรรมเนียมการชักธงของโจรสลัด
แม้ว่าในยุคนั้นจะไม่ได้มีสหภาพหรือสมาคมโจรสลัดที่ร่วมกันออกข้อบังคับของการใช้ธง และความหมายของสัญลักษณ์บนธงก็จะแตกต่างไปตามกลุ่มโจรสลัดย่อย ๆ ก็ตาม แต่ก็ยังจะมีธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน จนแม้แต่ประชาชนตาดำ ๆ ทั่วไปก็สามารถเข้าใจความหมายได้อยู่

โจรสลัดบางกลุ่มเวลาออกปล้น จะใช้การชักธงสีดำขึ้นเพื่อเป็นการข่มขู่เรือของเหยื่อไว้ในทำนองว่า “ถ้ายอมสละเรือแต่โดยดี จะได้รับการไว้ชีวิต” ถ้าเหยื่อสละเรือก็ค่อยเข้าประชิดและยึดทั้งเรือและทรัพย์สมบัติมาซะ

แต่กลับกัน ถ้ากำลังเข้าประชิดเรือของเหยื่อแล้วชักธงสีแดงขึ้นมา จะเหมือนเป็นการบอกเหยื่อให้ทำใจไว้ได้เลย “ไม่ว่าอย่างไรก็จะฆ่าทิ้งทั้งหมด ไม่ให้มีใครเหลือรอด”

ส่วนดีไซน์อื่น ๆ บนธงที่มีไม่เหมือนกันก็จะให้ความหมายที่แตกต่างกันไป

  • รูปอาวุธ เช่น มีด ดาบ หรือหอก หมายถึงการต่อสู้และความรุนแรง
  • รูปกะโหลกหรือกระดูกหมายถึงความตาย ถ้าเป็นกระดูกหรือกะโหลกสีแดงหมายถึงจะมีการเข่นฆ่าด้วยความโหดร้าย 
  • รูปหยดเลือดบนธง อาจหมายถึงการทรมานให้ตายอย่างช้า ๆ
  • รูปโครงกระดูกมีเขา อาจจะเป็นการบอกว่าตนเองเป็นปีศาจ หรือเทิดทูนซาตาน
  • รูปนาฬิกาทราย (บ้างก็มีปีก) จะหมายถึงเวลากำลังหมด ความตายกำลังใกล้เข้ามา
  • รูปโครงกระดูกที่ยกแก้ว หมายถึงการดื่มให้แก่ความตาย หรือดื่มให้แก่ซาตาน
  • รูปคนเปลือยเปล่า สื่อว่าโจรสลัดบนเรือลำนั้นไม่มีความละอายใด ๆ
  • รูปคนที่มีเสื้อผ้า โดยส่วนมากจะสื่อถึงตัวกัปตันของเรือเอง
  • ตัวอักษรย่ออาจหมายถึงชื่อกัปตัน หรือชื่อย่อของคู่อริที่หมายหัว


Bastianow, Eugene Zelenko, Fred the Oyster, Orem, WarX / Wikimedia Commons

ส่วนธรรมเนียมการชักธงขึ้นเสาอาจจะแตกต่างจากในการ์ตูนหรือภาพยนตร์ที่เราเห็นกันอยู่บ้าง คือโดยปกติแล้วเรือโจรสลัดจะไม่ชักธงโจรสลัดขึ้นเสาตลอดเวลา แต่จะเป็นการใช้ธงสีอื่นเพื่อหลอกให้เหยื่อตายใจ ไม่ว่าจะเป็นสีธงที่แสดงถึงความเป็นมิตร หรือธงสีของประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ

จนกระทั่งเมื่อเริ่มเข้าใกล้เทียบเรือของเหยื่อเท่านั้น เรือโจรสลัดถึงจะชักธงโจรสลัดขึ้นสู่ยอดเสา เพื่อเป็นการข่มขู่โดยที่ไม่ให้เรือของเหยื่อได้ทันตั้งตัว แต่ในขณะนี้เรือโจรสลัดจะยังไม่เริ่มเปิดฉากการต่อสู้ใด ๆ จนกว่าจะเห็นท่าทีว่าเรือของเหยื่อยกธงขาวยอมแพ้แล้วสละเรือแต่โดยดี หรือจะขัดขืนยอมต่อสู้จนตัวตายกันไปข้าง

เพราะถึงแม้การเปิดฉากโจมตีก่อนจะได้เปรียบแค่ไหน แต่การต่อสู้แบบหลังชนฝาของเหยื่ออาจสร้างความเสียหายให้กับเรือทั้งสองลำ รวมไปถึงสินค้าที่บรรทุกมาในเรือจนไม่คุ้มค่าต่อการปล้นก็ได้ อย่างไรก็ตาม โจรสลัดที่อยู่มาได้ยาวนานก็มีฝีไม้ลายมือในการต่อสู้อย่างช่ำชองอยู่แล้ว ที่เรียกว่าไม่ต้องเปิดก่อนก็อาจยังได้เปรียบอยู่ดี

ที่มา : บทความ “Famous Pirate Flags: Beyond the Skull and Crossbones” โดย Glen Nunes จาก https://owlcation.com
บทความ “The Golden Age of Piracy” โดย Royal Museums Greenwich จาก https://www.rmg.co.uk/ 

เรื่อง : สโรชา พรรณพิสิฐ