คิดลึก (ซึ้ง) เปลี่ยนเปลือกสัตว์ทะเล ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชั้นนำ
Materials & Application

คิดลึก (ซึ้ง) เปลี่ยนเปลือกสัตว์ทะเล ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชั้นนำ

  • 18 Sep 2024
  • 427

ขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลจำพวกเปลือกของสัตว์น้ำเปลือกแข็งมีสีสันเฉพาะตัว โดยเฉพาะเปลือกสัตว์ทะเลบางชนิดมีสารประกอบชีวภาพที่ใกล้เคียงกับสารประกอบ อนินทรีย์ของวัสดุที่มีการใช้ในครัวเรือน อุตสาหกรรมเวชสำอาง อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบร่วมกับวัสดุประเภทอื่น ซึ่งปริมาณเปลือกสัตว์ทะเลในประเทศที่เป็นขยะจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลมีปริมาณสูงหลายหมื่นตันต่อปี ดังนั้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงมุ่งผลักดันการแปรรูปขยะจากเปลือกสัตว์ทะเลสู่วัตถุดิบตั้งต้นเพื่อนำไปต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง นับเป็นช่องทางสำคัญในการลดขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) และให้วัสดุเกิดใหม่ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นตราบใดที่ยังมีการบริโภคอาหารทะเลเท่ากับเราก็มีสารตั้งต้นที่ได้จากธรรมชาติโดยไม่ต้องรบกวนทรัพยากรบนโลกมากนัก ตัวอย่างงานวิจัยจากการนำเปลือกแข็งของสัตว์น้ำมาวิจัยและพัฒนาต่อยอดจนเกิดผลิตภัณฑ์ อาทิเช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในอีกซีกโลก โดยบริษัทสตาร์ทอัพ Shellworks ณ กรุงลอนดอน ที่เล็งเห็นคุณสมบัติของเปลือกกุ้งล็อปสเตอร์ที่สามารถต้านทานแบคทีเรียและเชื้อรา ทำโดยสกัดไบโอพอลิเมอร์ที่มีอยู่ในเปลือกแข็งของกุ้งล็อปสเตอร์ที่เรียกว่าไคติน จากนั้นนำไคตินมาผสมกับสารเติมแต่งอื่น ๆ แล้วขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ ข้อดีของบรรจุภัณฑ์จากเปลือกแข็งของสัตว์น้ำแน่นอนว่าช่วยลดปริมาณขยะจากเปลือกแข็งของสัตว์น้ำจากอุตสาหกรรมอาหารได้เป็นอย่างดี ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และที่ประทับใจผู้ใช้งานมากที่สุดเห็นจะเป็นความแข็งแรงที่เทียบเท่ากับพลาสติกทั่วไป 

อย่างไรก็ตามการผลิตไบโอพอลิเมอร์จากขยะต้องใช้หลายขั้นตอนในการผลิต และใช้ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าการผลิตพลาสติกทั่วไป ในประเทศไทย จึงมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ชุบชีวิตขยะเปลือกหอยแมลงภู่จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสกัดเอาสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเป็นสารประกอบหลักกว่า 95% ในเปลือกแข็งหอยแมลงภู่ ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น สารเคลือบกันน้ำบนกระดาษ ฟองน้ำดูดซับน้ำมันในครัวเรือน สารเคลือบแผ่นกรองในระบบบำบัดน้ำ ฯลฯ นอกจากนี้การพัฒนาแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ให้มีรูปทรงแบบ ‘อะราโกไนต์’ ระดับนาโนเมตร ยังสามารถต่อยอดใช้เป็นสารประกอบในกลุ่มอุตสาหกรรมเวชสำอางได้อีกด้วย 


(nstda.or.th)

ในขณะที่ มุมมองของนักออกแบบสายรักษ์โลก จะเริ่มจากการทดลองพัฒนาวัสดุจากขยะเปลือกสัตว์ทะเลผ่านกระบวนการคิดต่างๆของ ThinkkStudio (https://www.tcdcmaterial.com/th/search-location/0/all/entrepreneur/1130/Thinkk%20Studio) จนท้ายสุด นำมาผสมวัสดุที่ช่วยเชื่อมประสาน จนนำมาสู่ Seamix Collection ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยวัสดุจากเศษการประมง และอุตสาหกรรมอาหารทะเล ซึ่งมีขยะะเหลือทิ้งในปริมาณมากโดยเศษเหลือทิ้งดังกล่าวได้แก่ กระดองปู เปลือกหอยนางรม และเปลือกหอยแมลงภู่ จากสีสันและความวาวบางส่วนของเปลือกจากสัตว์ทะเลเหล่านี้ช่วยเติมความโดดเด่นให้ชิ้นงานได้ไม่น้อย ทั้งยังเป็นการลดปริมาณซีเมนต์มากถึง 25% จากการใช้เปลือกสัตว์ทะเลทดแทน สำหรับขั้นตอนการสร้างแต่ละชิ้นงานเริ่มจากนำเปลือกสัตว์ทะเลมาบดล้างทำความสะอาดก่อนนำไปหล่อขึ้นรูปในแม่พิมพ์ร่วมกับซีเมนต์และสารเติมแต่งอื่น ๆ รอให้ซีเมนต์เซ็ทตัวให้แห้งแล้วจึงนำไปขัดแต่ง และเคลือบผิวเพื่อเพิ่มความทนทาน ลักษณะชิ้นงานที่ได้จึงมีลวดลายคล้ายหินขัดธรรมชาติที่เผยให้เห็นร่องรอยของเศษเปลือกจากสัตว์ทะเล 

จุดเด่นของงานสร้างสรรค์ระหว่างเปลือกสัตว์ทะเลกับซีเมนต์คือไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของความกว้างและความยาว แต่หากในกรณีที่ชิ้นงานมีขนาดใหญ่จะมีการเสริมเหล็กเส้นเพื่อเพิ่มความแข็งแรงสำหรับรับน้ำหนักของตัววัสดุเองและรับน้ำหนักตามการใช้งานหากผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ 

ท่านสามารถศึกษารายละเอียดของวัสดุจากธรรมชาติเพิ่มเติมได้ที่ www.tcdcmaterial.com

เรื่อง : รัชดาภรณ์ ศุภประสิทธิ์