“Road to Net Zero #2 : Regenerative Materials” มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยวัสดุคาร์บอนต่ำ ครั้งที่ 2
Materials & Application

“Road to Net Zero #2 : Regenerative Materials” มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยวัสดุคาร์บอนต่ำ ครั้งที่ 2

  • 30 Sep 2024
  • 8

รายงานล่าสุดจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ระบุชัดเจนว่า เวลาสำหรับมนุษยชาติในการเปลี่ยนโลกให้กลับสู่สมดุลอีกครั้งนั้นเหลือน้อยเต็มที คำเตือนนี้เกิดขึ้น แม้ว่าหลายประเทศจะมีการลงทุนและประกาศนโยบายที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง

นั่นอาจกล่าวได้ว่า การจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้คงสำเร็จไม่ได้ หากมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยมลพิษที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังละเลยการปล่อยมลพิษที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมการบริโภคอย่างครอบคลุมทั่วทั้งห่วงโซ่ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ 

นั่นจึงเป็นที่มาของกิจกรรมเสวนา “Road to Net Zero #2 : Regeneative Materials” มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยวัสดุคาร์บอนต่ำ ครั้งที่ 2 โดยศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (Material & Design Innovation Center หรือ MDIC) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเชิญผู้ที่สนใจมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้ประกอบการวัสดุสร้างสรรค์สัญชาติไทยจาก 5 แบรนด์ ถึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในวัสดุสร้างสรรค์ชนิดต่าง ๆ 


คุณนิโลบล กิจไกรลาศ จาก Plan Creations

01 Plan Creations โดย คุณนิโลบล กิจไกรลาศ
แปลนทอยส์ (PlanToys) เป็นบริษัทผลิตของเล่นเด็กเพื่อความยั่งยืน โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทแปลน (Plan Group) ที่ก่อตั้งโดยสถาปนิก 7 คน ผู้เชื่อว่าการจะสร้างสังคมที่ดีได้นั้น ต้องเริ่มตั้งแต่การพัฒนาเด็กผ่าน 3 เสาหลัก ได้แก่ การเล่นที่ยั่งยืน (Sustainable Play) การผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Way) และการส่งต่อสู่สังคมที่ยั่งยืน (Sustainable World) 

“ของเล่นเด็กหนึ่งชิ้นมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 3-6 เดือน” คุณนิโลบลกล่าว แปลนทอยส์จึงคิดหาวิธีที่ยืดอายุการใช้งานของเล่นของตัวเอง จากเด็กหนึ่งคนสู่เด็กหลายพันคน สนามเด็กเล่นในชื่อ Forest of Play จึงเกิดขึ้นที่จังหวัดตรัง (ที่เดียวกับโรงงานของแปลนทอยส์) เพื่อขยายจากการผลิตของเล่นเด็กมาสู่การผลิตวิถีการเล่นให้แก่เด็ก ๆ 

ในส่วนของการผลิต คุณนิโลบลกล่าวว่า เราใช้ทุกส่วนของต้นยางพาราตั้งแต่รากยันใบมาผลิตเป็นสิ่งของ โดยเฉพาะในส่วนของลำต้นที่นำมาปอกชั้นไม้ออกมาเป็นแผ่น ๆ เพื่อไปทำเป็นของเล่นไม้

“ในกระบวนการผลิตมันก็จะมีเศษขี้เลื่อยจากการเจาะ ตอนเราทำของเล่น แรก ๆ เราก็ดูดเอาขี้เลื่อยออกมาเป็นกอง ๆ และขายให้โรงงานทำธูป ต่อมาเราร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คิดค้นวัสดุที่เรียกว่า Planwood” 

คุณนิโลบลกล่าวต่อว่า Planwood เกิดจากการนำขี้เลื่อยมาผสมกับผงสีออร์แกนิกและกาวที่ปราศจากสารฟอร์มาดีไฮด์ แล้วนำมาขึ้นรูปเป็นของเล่น ซึ่งนอกจากจะเป็นการอัปไซเคิลจากวัสดุเหลือใช้แล้ว ยังมั่นใจได้อีกด้วยว่า ปลอดภัยจากการสัมผัสของเด็กเล็ก จากที่กล่าวมาทั้งหมด ขมวดรวมได้ในเสาหลักสุดท้ายนั่นคือ ช่วยสร้างเสริมให้เกิดสังคมที่ยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกขั้นตอน รวมทั้งการไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อทั้งตัวเด็กและสิ่งแวดล้อม 


คุณสิทธิเทพ นราทอง จาก NARATHONG

02 NARATHONG โดย คุณสิทธิเทพ นราทอง
คุณสิทธิเทพ เจ้าของโรงงานแปรรูปไม้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เริ่มต้นการบรรยายถึงวัฏจักรของต้นไม้ในกระบวนการเติบโตของต้นไม้หนึ่งต้น ว่าจะมีทั้งการผลิตอาหารจากการสังเคราะห์แสงและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ในใบจะมีคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ที่ 1%, กิ่งไม้ 11%, ลำต้น 62% และรากไม้ 26% ยิ่งนานวันเข้า ต้นไม้ก็โรยรา เปรียบเสมือนมนุษย์ ทำให้ความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ลดน้อยลง ดังนั้นหนทางที่จะสร้างการเจริญเติบโตของต้นไม้ให้ยั่งยืน จึงเป็นการตัดไม้มาแปรรูปและปลูกขึ้นใหม่เพื่อทดแทน 

ต่อมาเมื่อนำไม้มาแปรรูป เป็นธรรมดาที่จะเกิดเศษวัสดุจากโรงงานแปรรูปดังเช่น ขี้เลื่อย ขี้กบ เศษไม้ ปีกไม้ เป็นต้น ทางนราทองก็ได้นำเศษเหลือใช้เหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เช่น การนำขี้เลื่อยหรือขี้กบมาอัดขึ้นรูปเพื่อมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ และที่สำคัญคือการพัฒนา ทดลองนำศาสตร์ทางวิศวกรรมเข้ามาบูรณาการเข้ากับการแปรรูปไม้ เช่น เทคนิคที่เรียกว่า เทอร์โมวูด (Thermowood) 

 คุณสิทธิเทพยกตัวอย่างจากต่างประเทศถึงนวัตกรรมการแปรรูปไม้ที่ก้าวหน้าไปกว่าบ้านเรา เทอร์โมวูดคือการนำไม้ไปผ่านกระบวนการให้ความร้อนมากกว่า 180 องศา เพื่อละลายสารในเนื้อไม้ ได้แก่ เซลลูโลส ลิกนิน และเฮมิเซลลูโลส โดยเฉพาะชนิดสุดท้ายที่เป็นแหล่งอาหารของเชื้อราและแมลง ดังนั้นเมื่อสารเหล่านี้สลายไปแล้ว ไม้ชนิดนี้จึงสามารถนำไปใช้ประกอบเฟอร์นิเจอร์ได้ทั้งในบ้านและกลางแจ้ง 


คุณธนะภัทร์ พูนวุฒิกุล จาก RES

03 RES โดย คุณธนะภัทร์ พูนวุฒิกุล
RES คือการรีแบรนด์ใหม่จากบริษัทเดิมคือ KUN Decorate ปรับดีไซน์ใหม่จากเดิมที่ทำเก้าอี้จากเหล็กมาเป็นวัสดุอื่น ๆ เช่นอะลูมิเนียม และเพิ่มเป้าหมายหลักให้แก่ทุกการออกแบบนั่นคือเพื่อมอบความยั่งยืนแก่โลก

อะลูมิเนียมคือวัสดุที่ RES นำมาฟื้นฟูศักยภาพใหม่ เริ่มจากคุณสมบัติสำคัญของอะลูมิเนียมคือมีน้ำหนักเบาเมื่อเทียบกับโลหะชนิดอื่น ๆ และไม่เป็นสนิม ส่วนข้อเสียคือหากจะนำไปดัดหรือเชื่อม จะทำได้ยากกว่าเหล็กและมีความเปราะกว่าเหล็ก รวมถึงนำความร้อนได้ดี  

นอกเหนือจากการนำอะลูมิเนียมมาใช้ คุณธนะภัทร์ยังได้เน้นย้ำถึงกระบวนการคิดของบริษัทเพื่อความยั่งยืนด้วยหลัก 5R ได้แก่ Redesign, Rethink, Reduce, Reuse และ Recycle ตัวอย่างเช่น ก่อนจะลงมือทำ ทาง RES จะคิดไว้เลยว่า เมื่อเราทำแล้วจะเหลือเศษอะไรบ้าง อยู่เท่าไร แล้วเราจะนำเศษเหลือนั้นไปใช้ทำอะไรต่อ รวมไปถึงขั้นตอนของการขนส่งสินค้าให้สิ้นเปลืองพลังงานน้อยที่สุด หรือแม้กระทั่งสุดชีวิตของวัสดุ ที่หากใครซื้อสินค้ากับทางบริษัทไป ก็จะมีบริการรับซ่อมฟรีไปตลอดอายุการใช้งาน หรือหากไม่ต้องการผลิตภัณฑ์นั้น ๆ แล้ว ทางบริษัทก็จะรับซื้อต่อเพื่อไปจัดการอย่างถูกวิธีต่อไป  


คุณปวีย์ธิดา สุพรวุฒิพัฒน์ จาก POKYPAPER

04 POKYPAPER โดย คุณปวีย์ธิดา สุพรวุฒิพัฒน์
“POKY แปลว่า ช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป เมื่อมารวมกับ PAPER ที่แปลว่า กระดาษ เราจึงอยากสื่อถึงการนำกระดาษมาทำงานสร้างสรรค์อย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมซึมซับคุณค่าในระหว่างทาง” คุณปวีย์ธิดา สุพรวุฒิพัฒน์ เล่าที่มาของชื่อแบรนด์

ส่วนจุดตั้งต้นนั้นเกิดจากการเห็นกองกระดาษ ปฏิทิน และลอตเตอรี่ที่ถูกทิ้งเกลื่อนในบ้าน จึงเกิดไอเดียนำมาแปลงเป็นคุณค่าใหม่ ๆ โดยปราศจากการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าหรือสารเคมี 

โดยขั้นตอนการทำเริ่มจากการคัดกระดาษที่ได้รับมา นำไปแช่น้ำฝน ชะล้างสิ่งสกปรก จากนั้นนำไปผสมสีที่หามาได้จากธรรมชาติ สุดท้าย นำมาจัดรูปทรงและไปผึ่งแดด เท่านี้ก็สามารถยืดอายุการใช้งานกระดาษเหลือทิ้ง เป็นการเพิ่มคุณค่าให้วัสดุได้ใหม่ผ่านงานออกแบบศิลปะ ทั้งยังได้ผลลัพธ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร


คุณนิธิภา ทองปัชโชติ และคุณนคร แขฉายแสง จาก PLAPLUS

05 PLAPLUS โดย คุณนิธิภา ทองปัชโชติ และคุณนคร แขฉายแสง
ในปัจจุบัน ร้านกาแฟหลายร้านหันมาใช้แก้วที่ทำจากพืชและย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หนึ่งในพลาสติกชนิดที่นำมาใช้ผลิตแก้วกาแฟคือพลาสติกชนิด PLA ซึ่งคุณนิธิภาเล่าว่า มันย่อยสลายได้ก็จริง แต่ต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาขึ้นไป ซึ่งดินบ้านเราไม่มีทางถึงอยู่แล้ว และที่สำคัญที่สุดก็คือ บ้านเรายังไม่มีโรงงานที่จะมาย่อยสลายพลาสติกชนิดนี้อย่างถูกวิธี 

ขั้นตอนที่ PLAPLUS ทำ คือการเก็บแก้วเหล่านี้มาสับเป็นเกล็ดเล็ก ๆ จากนั้นนำไปทำเป็นเส้นด้ายฟิลาเมนต์ เพื่อนำไปใช้พิมพ์สำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อขึ้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามการออกแบบ เหมาะแก่การนำไปเป็นของตกแต่งบ้าน เนื่องจากตัววัสดุเองจะไม่ทนความร้อนและรับน้ำหนักได้ไม่มากนัก

“ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า ที่เราทำกันมานั้น จริง ๆ มันควรจะต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐ แต่ตอนนี้ก็ยังเป็นเอกชนและประชาชนที่ทำกันเองอยู่” คุณนิธิภากล่าวทิ้งท้ายการนำเสนอ พร้อมหวังว่าเสียงจากประชาชนจะช่วยให้สังคมตระหนักว่า บ้านเรายังไม่สามารถทำวัฏจักรการรีไซเคิลพลาสติกชนิดนี้ได้อย่างครบวงจร จึงเสี่ยงต่อการเกิดขยะที่ล้นเกินในอนาคตอันใกล้ หนำซ้ำยังแพร่กระจายไมโครพลาสติกได้อีกด้วย

สุดท้าย หากใครยังไม่จุใจกับบทสรุปการเสวนาในครั้งนี้ สามารถเข้าชม Showcase จากผู้ประกอบการไทย 23 ราย ภายใต้แนวคิดเดียวกันคือ Regenerative Material ได้ระหว่างวันที่ 10 กันยายน 2567 – 19 มกราคม 2568 เวลา 10.30 - 19.00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ TCDC กรุงเทพฯ ห้องศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (MDIC) ชั้น 2 

เรื่อง : คณิศร สันติไชยกุล