บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจาก ฟางข้าว ของเหลือที่ไม่ทิ้ง
Materials & Application

บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจาก ฟางข้าว ของเหลือที่ไม่ทิ้ง

  • 10 Oct 2024
  • 537

สิ่งที่หลายคนตั้งตารอในช่วงปลายปีนอกจากจะเป็นวันหยุดยาวแล้ว ก็อากาศหนาวนี่แหละที่ อยากให้อยู่กับเรานานๆ แต่เดี๋ยวก่อนหมอกฟุ้ง ๆ ที่มองเห็นในช่วงหน้าหนาวนั้น อาจจะต้องสังเกตให้ดีว่า แท้จริงคือหมอกของลมหนาว หรือ PM 2.5 กันแน่ อย่างที่รู้กันดีว่าสาเหตุส่วนใหญ่ฝุ่น PM2.5 มาจากสภาพอากาศที่แห้งเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้หรือไม่ก็มาจากการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทางการเกษตรทั้งจากฝั่งเพื่อนบ้านและในประเทศไทยเองเรียกได้ว่า ยังคงวนเวียนเป็น วัฎจักรให้เรากังวลได้อย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะหมดไปง่ายๆ 

จากการสํารวจพบว่าในปีพ.ศ. 2566 ไทยพบจุดความร้อนที่มาจากการเผาไหม้เยอะที่สุดติดอันดับโลกซึ่งส่งผลเสียโดยตรงต่อสุขภาพของเรา นอกจากนี้ก็ยังมีองค์ประกอบอื่นที่ส่งผลต่อปริมาณค่าฝุ่นในแต่ละวัน เช่น ควันจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือการเผาไหม้จากท่อไอเสียรถยนต์ การก่อสร้างอาคารต่าง ๆ แต่ปัจจัยหลักที่ทั้งภาครัฐและเอกชนกําลังหาทางออกกันอยู่คือเรื่องของการเผาเศษวัสดุธรรมชาติเพื่อเตรียมพื้นที่ทางการเกษตร ทั้งนี้ยังมีอีกหนึ่งทางเลือกเล็กๆ ที่สามารถเป็นกําลังในการแบ่งเบาปัญหาได้คือ การนําเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเหล่านั้นมาทําให้เกิดประโยชน์แทนการเผาทําลาย

LEEV คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นบรรจุภัณฑ์จากเยื่อฟางข้าว 100% เป็นแบรนด์ใหม่ใส่ใจโลก ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าพัฒนาทดสอบผลิตภัณฑ์กว่า 3 ปี จนปี พ.ศ. 2566 จึงได้เริ่มผลิตบรรจุภัณฑ์จากเยื่อฟางข้าวจริงด้วยคุณสมบัติของฟางข้าวที่เป็นวัสดุธรรมชาติจึงมั่นใจได้ในเรื่องของความปลอดภัย หากจะนํามาทําเป็นบรรจุภัณฑ์สําหรับใส่อาหารที่ยังมีความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งาน ไม่เปื่อยยุ่ยง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติอีกทั้งยังย่อยสลายได้เอง ไม่เหลือเป็นขยะและไม่สร้างมลพิษ แต่กว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกภายใต้แบรนด์ LEEV นั้นไม่ง่ายเลยเพราะมีหลายขั้นตอนในการผลิต และแต่ละขั้นตอนช่างพิถีพิถันมีการตรวจสอบคุณภาพเพื่อให้ผู้บริโภคได้มั่นใจในบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดนอาหารหรือเครื่องดื่ม เริ่มต้นผลิตจากการเตรียมวัตถุดิบคือฟางข้าวที่เหลือใช้มาสับและอัดก้อนจากนั้นนําไปต้ม เพื่อคัดแยกเฉพาะเส้นใยของเยื่อฟางข้าว แล้วนําไปรีดเป็นแผ่นเพื่อตรวจสอบคุณภาพและนําไปปั่นเป็นนํ้าเยื่อวัตถุดิบอีกครั้ง โดยจะเติมสารฟู้ดเกรด (FoodGrade) ลงไปในขั้นตอนนี้เพื่อเพิ่มคุณสมบัติ  การกันน้ำและน้ำมันให้กับบรรจุภัณฑ์ และตรวจสอบคุณภาพอีกครั้ง ก่อนนําเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์โดยใช้อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 250 องศาเซลเซียส    จะได้บรรจุภัณฑ์ที่มีสีนํ้าตาลอ่อนซึ่งเป็นสีจากธรรมชาติของเยื่อฟางข้าว

ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ที่ได้จากฟางข้าวได้แก่ กล่องใส่อาหาร จาน แก้วนํ้าผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นจาก LEEV ผ่านการทดสอบมาตรฐานในระดับสากลได้แก่ EN 12497:2005 EN 12498:2005 และ ISO15320:2011 ในฐานะของผู้บริโภคจึงมั่นใจเรื่องของความปลอดภัยได้ 100% จะใช้ในงานจัดเลี้ยงของบริษัทหรือใช้ในงานปาร์ตี้ที่บ้านก็สนุกได้ไม่รู้สึกผิดต่อโลก ถ้าถามถึงเรื่องการตลาดของบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติในอนาคตหลายฝ่ายมองว่าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สามารถแตกไลน์ผลิตได้อย่างหลากหลายและน่าจับตามองเป็นอย่างมากทั้งในแง่ของการช่วยลดปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่สามารถนํามาสร้างมูลค่าได้ ดีกว่าการทําลายหรือเผาทิ้งไม่สร้างขยะและมลพิษให้ต่อโลกที่สําคัญยังปลอดภัยต่อผู้บริโภค และหากในอนาคตมี นวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตหรืองานวิจัยที่สนับสนุนการต่อยอดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรออกมาเพิ่มเติม ปัญหาเรื่องฝุ่นควัน มลพิษจาก PM 2.5 ที่เกิดขึ้นอยู่ในทั้งไทยและทั่วโลกก็อาจจะเบาบางลงจนหมดไปในที่สุด 

ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุธรรมชาติอื่นๆที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซต์ www.tcdcmaterial.com

เรื่อง : รัชดาภรณ์ ศุภประสิทธิ์