ยางพารา พืชเศรษฐกิจ โดดเด่นไกลในระดับสากล
Materials & Application

ยางพารา พืชเศรษฐกิจ โดดเด่นไกลในระดับสากล

  • 10 Oct 2024
  • 563

ต้นยางพาราเป็นไม้ยืนต้น ต้นโตเร็ว ปลูกทดแทนหมุนเวียนได้ไว และที่สำคัญความพิเศษเฉพาะตัวตามธรรมชาติที่อสามารถผลิตน้ำยางพาราเพื่อนำไปต่อยอดได้หลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น ถุงมือยาง ที่นอนหมอนเพื่อสุขภาพ และยางกันกระแทก ฯลฯ ยางพาราจึงจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางและสร้างรายได้ระดับประเทศจากการส่งออกในรูปวัตถุดิบแปรรูปขั้นต้น นอกจากจะได้รับรายได้จากการจำหน่ายน้ำยางพาราธรรมชาติ ยังสามารถจำหน่ายลำต้นยางพาราเพื่อนำไปแปรรูปผ่านกระบวนการออกแบบที่คำนึงถึงฟังก์ชัน ก็นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ไม้ยางพาราไม่น้อย 

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเย็บผ้าเครื่องนอนยางพาราเขาคีริสภายใต้แบรนด์ “เพียงใจไทยสปา” ผู้ผลิตเครื่องนอนจากเศษโฟมยางพาราจากโรงงานอุตสาหกรรมผสานภูมิปัญญาที่เกิดจากการทดลองส่วนตัวกับคนในครอบครัวซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เบาะสานยางพาราที่ใครมีครอบครองแล้วนอกจากจะดีต่อสุขภาพยังดีต่อใจ โดยการนำน้ำยางพาราเข้มข้นมาเป็นวัตถุดิบหลักแล้วผสมสารก่อเจลผ่านกระบวนการผลิตโฟมยางพาราแบบดันลอป (Dunlop Process Latex Mattress) ซึ่งเศษยางพารา 100% ที่เพียงใจไทยสปานำมาเป็นไส้ของเบาะสานหรือเครื่องนอนเพื่อสุขภาพ ได้มาจากเศษเกินระหว่างขั้นตอนขึ้นรูป (Over Flow)  และขั้นตอนสุดท้ายของการตัดแต่งขอบแผ่นฟูกยางพารา จากนั้นนำมาผสานกับงานตัดเย็บภายในกลุ่มจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น เบาะสาน ฟูก เบาะรองนั่งในรถยนต์ หรือหมอนขวาน ฯลฯ

เมื่อน้ำยางถูกกรีดจากต้นยางพาราไปหมดต้นยังคงเหลือไว้ซึ่งไม้ยางพารา ไม้ยางพาราเป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง มีสีสวย และลายไม้ชัดเจน ความอ่อนตัวจึงทำให้ตัดแต่งและดัดได้ง่าย หากอยากให้ผลิตภัณฑ์เป็นสีอื่นก็สามารถย้อม หรือทำสีให้ติดทนตามต้องการ ไม้ยางพาราไม่ได้มีความสวยงามตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียวแต่ยังควบคู่มากับความแข็งแรง อ้างอิงตามข้อมูลจากกรมป่าไม้ที่แสดงผลทดสอบการต้านแรงดัดของไม้ยางพาราที่มีค่าใกล้เคียงกับไม้เนื้อแข็ง ประกอบกับที่ผ่านมาไม้ยางพาราถูกวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการนำไปใช้งานของไม้ยางพาราที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับประเทศ เช่น เพิ่มสมบัติป้องกันมอดและเชื้อราโดยอัดสารเติมแต่งเข้าเนื้อไม้ หรือเทคโนโลยีการเคลือบไม้เพื่อเพิ่มสารหน่วงไฟช่วยยืดระยะเวลาการเผาไหม้ ยืดอายุการใช้งาน ป้องกันรังสี UV ฯลฯ ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงทำให้เกิดอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพาราดังเช่นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย “Egg White” แบรนด์ไข่ขาวที่ตระหนักถึงการสร้างสิ่งใหม่ซักชิ้นให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนทุกวัยผ่านเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราร่วมสมัยที่ไม่ตกยุค เหล่านี้เผยให้เห็นแนวคิดที่ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรที่ถูกจัดสรรได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ดังเช่น Capsule Sofa Armchair ที่ใช้ยางพาราแท้เป็นไส้เบาะสร้างการโอบรับสรีระของผู้ที่ได้นั่งพักผ่อนได้เป็นอย่างดี และแน่นอนในส่วนโครงเฟอร์นิเจอร์ผลิตจากไม้ยางพาราที่กรีดน้ำยางธรรมชาติจนหมดต้นแล้ว

หากจะเล่าถึงเส้นทางไม้ยางพาราที่เติบโตจากสวนยางในประเทศสู่ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ในระดับสากลโดยการเดินทางในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดระยอง หนึ่งในจังหวัดแถบภาคตะวันออกที่มีพื้นที่ปลูกต้นยางธรรมชาติเป็นอันดับสองของประเทศไทยหลังจากที่ลำต้นยางพาราหยุดผลิตน้ำยางธรรมชาติจะถูกนำมาแปรรูปเป็นไม้ยางพาราโดยผ่านเข้าสู่กระบวนการตัดแต่ง ขึ้นรูป ขัด และทรีทเมนต์เพื่อคงคุณภาพและความสวยงามของวัสดุท้องถิ่น ตามการคัดสรรและทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบ นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่างไม้ในชุมชนที่มีทักษะประสบการณ์ขึ้นรูปงานไม้อย่างเชี่ยวชาญโดยการทำงานร่วมกันเกิดขึ้นภายใต้แนวทางการสร้างสรรค์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จนนำไปสู่การมุ่งสู่การจัดการธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Net Zero) 

สามารถสืบค้นข้อมูลวัสดุเพิ่มเติม ได้ที่ www.tcdcmaterial.com

ที่มา : บทความ "ไม้ยางพารา มูลค่าและโอกาสอุตสาหกรรมไม้ไทย" จาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
บทความ "โครงการทดสอบเทคโนโลยีในสวนยางพาราเพื่อการเพิ่มผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง จังหวัดระยอง" จาก คลังปัญญามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เรื่อง : รัชดาภรณ์ ศุภประสิทธิ์