วัสดุ Upcycling เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าจับตามองในปัจจุบัน
Materials & Application

วัสดุ Upcycling เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าจับตามองในปัจจุบัน

  • 20 Nov 2024
  • 482

ในยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นสำคัญ การสร้างสรรค์วัสดุใหม่ ๆ ที่มีความยั่งยืนได้กลายเป็นแนวโน้มที่น่าจับตามองในอุตสาหกรรมวัสดุ วัสดุใหม่เหล่านี้ไม่เพียงแต่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัสดุ Upcycling คือการนำวัสดุเหลือทิ้งหรือขยะที่ดูเหมือนไม่มีค่า มาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าและใช้ประโยชน์ได้ เช่น การนำขวดพลาสติกเก่ามาทำกระเป๋า หรือการใช้เศษไม้มาทำเฟอร์นิเจอร์ ที่ไม่เพียงช่วยลดขยะแต่ยังช่วยประหยัดทรัพยากรในการผลิต แต่ยังสนับสนุนการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเราจึงหยิบยก 5 วัสดุที่เหมาะสำหรับเป็นไอเดียต่อยอดจากฐานข้อมูล Material ConneXion มานำเสนอให้ทุกคนได้รู้จักกัน

1. กระเบื้องอัดแผ่นรีไซเคิลจากแผงกระจกโซลาร์เซลล์ (MC 1356301)
Sunstone โดย Vitriform3D

กระเบื้องอัดแผ่นเหล่านี้รีไซเคิลจากกระจกและแผงโซลาร์เซลล์ตามบ้านเรือน เทคโนโลยีนี้ช่วยแก้ปัญหาขยะเศษกระจก โดยเฉพาะจากแผงโซลาร์เซลล์ที่เก่าล้าสมัย ในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว มีขยะแก้วถูกทิ้งไว้ในลานฝังกลบปริมาณหลายล้านตันต่อปี แต่กลับมีอัตราการรีไซเคิลทั่วประเทศเพียง 33% กระเบื้องอัดแผ่นนี้เป็นการนำกระจกมาใช้ใหม่ ซึ่งแตกต่างจากการรีไซเคิลแก้วแบบดั้งเดิม วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องหลอม ดังนั้น แก้วที่ได้มาจึงไม่จำเป็นต้องคัดแยกสีก่อน สามารถนำมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ได้โดยตรง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีรูพรุนซึ่งสามารถผสมวัสดุเติมแต่งและสีต่าง ๆ ได้ สามารถกำหนดสีสัน ความโปร่งแสง และผิวสัมผัสตั้งแต่ละเอียดไปจนถึงหยาบได้ตามรูปลักษณ์ความงามที่ต้องการ กระบวนการนี้จะเน้นการใช้กระจกใสที่สามารถเติมสีสันเพื่อความสดใสได้ กระเบื้องมีขนาดมาตรฐาน 8 x 8 นิ้ว สามารถสั่งทำขนาดพิเศษได้ถึง 11.8 x 11.8 นิ้ว กระเบื้องนี้เหมาะสำหรับการตกแต่งผนังภายในโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถติดตั้งแสงให้ส่องจากด้านหลังเพื่อเพิ่มความสวยงามดึงดูดใจ นอกจากนี้ยังสามารถสั่งขัดผิวเงาเพื่อใช้ทำแผ่นปิดบนเคาน์เตอร์ได้อีกด้วย

2. เม็ดพลาสติกโพลีโพรพีลีน (PP) รีไซเคิลจากกันชนรถยนต์ (MC 1356401)
HiPrene® RMT63 โดย GS Caltex

เม็ดพลาสติกโพลีโพรพีลีน (PP) รีไซเคิลจากกันชนรถยนต์ ประกอบด้วย PP 50% หินทัลค์ 30% และสารเติมแต่ง 20% ทำให้มีส่วนประกอบของวัสดุรีไซเคิล 70% แต่ยังทนทานต่อสารเคมีและมีอัตราการหดตัวต่ำ กระบวนการผลิตเริ่มจากการแปรรูปวัสดุหุ้มกันชนรถยนต์ให้เป็นวัตถุดิบรีไซเคิล นำไปผสมกับทัลค์และสารเติมแต่ง ในเครื่องอัดรีดแบบเกลียวคู่ ได้เป็นเม็ดพลาสติกสำหรับการฉีดขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย โดยมีหลากหลายสีในโทนดำและเทา และมีใบรับรองมาตรฐาน ECV โดย Underwriter Laboratories (UL) ที่จะตรวจรับรองด้านสิ่งแวดล้อมอย่างอิสระเพื่อหลีกเลี่ยงการฟอกเขียว และมาตรฐานนี้ให้การรับรองกระบวนการรีไซเคิลเศษวัสดุเหลือใช้ของผู้ผลิตรายนี้ วัสดุนี้เหมาะสำหรับทำตัวถังของอุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวเรือนและชิ้นส่วนภายนอกของรถยนต์

3. หนังเทียมโพลียูรีเทนสูตรน้ำที่ได้จากวัสดุชีวภาพ (MC 1356601)
Bio-based PU Leatherโดย Dongguan Huawang Leather Technology Co., Ltd.

หนังเทียมโพลียูรีเทน (PU) สูตรน้ำที่ได้จากวัสดุชีวภาพและมีผ้าเส้นใยทางเลือกเป็นแผ่นรองหลัง ประกอบด้วยเส้นใยไผ่ 59% และ PU 41% และมีชนิดผสมเส้นใยไผ่ 38% ให้เลือกvud ด้วย นอกจากนี้ แผ่นรองหลังอาจผลิตได้จากเส้นใยว่านหางจระเข้และเส้นใยข้าวโพด ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีปริมาณคาร์บอนจากชีวภาพสูงถึง 59% ขณะที่ปริมาณคาร์บอนในผลิตภัณฑ์คล้ายกันโดยทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 20 - 30% หนัง PU มีจำหน่ายเป็นม้วน โดยมีความยาว 45.72 เมตร และกว้าง 137.16 เซนติเมตร หนาตั้งแต่ 0.5 ถึง 1.2 มิลลิเมตร สิ่งทอมี 20 สีให้เลือก สามารถกำหนดความหนา สีสัน และรูปแบบพิเศษได้ตามความต้องการเฉพาะของลูกค้า สิ่งทอได้รับการรับรองจาก USDA ผ่านการทดสอบความคงทนของสีในการขัดถูแบบเปียกและแบบแห้ง สามารถต้านทานการขัดถูได้ 300 รอบ และผ่านการทดสอบความทนทานต่อแอลกอฮอล์ ได้ 200 รอบ ผ่านการทดสอบความทนทานต่อน้ำและความทนทานต่อการลอกตัว เหมาะสำหรับใช้ทำเคสโทรศัพท์ กระเป๋าถือ วัสดุบุผิวและกระเป๋าสตางค์ประเภทต่าง ๆ

4. เยื่อเซลลูโลส (MC 1229301)
Iroony® cellulose pulp โดย Iroony Co., Ltd.

เทคโนโลยีใหม่ในอุตสาหกรรมเส้นใยด้วย “เยื่อเซลลูโลส” ที่ตอบโจทย์การเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้พืชกัญชงและป่าน 100% เป็นหลัก ทั้งยังสามารถผสมผสานกับพืชอื่น ๆ อย่างหญ้ามิสแคนทัส เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ เยื่อเซลลูโลสนี้มีคุณประโยชน์มากมาย ไม่เพียงแต่ช่วยในการสนับสนุนการหมุนเวียนผลผลิตของพืชกัญชงและป่านอย่างยั่งยืน แต่ยังมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์น้ำ ดึงดูดคาร์บอน ฟื้นฟูดิน และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยแบรนด์เลือกใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรในท้องถิ่น ทำให้สามารถติดตามแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้อย่างชัดเจน เยื่อเซลลูโลสนี้ยังสามารถนำไปผลิตบรรจุภัณฑ์โดยใช้กระบวนการผลิตตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งวัตถุดิบจะถูกจัดส่งในรูปแบบของเยื่อหรือแผ่นเยื่อขนาด 100 กรัม โดยมีความยาวเส้นใย ระดับความสว่าง และความบริสุทธิ์ที่แตกต่างกันตามความต้องการของลูกค้า สามารถนำไปใช้ใช้งานได้หลากหลาย ตั้งแต่เสื้อผ้า สิ่งทอทางเทคนิค คอมโพสิต บรรจุภัณฑ์จากเยื่อที่ขึ้นรูป จนถึงฟิล์มและเยื่อเซลลูโลส

5. เส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล SEAQUAL (MC 849901)
SEAQUAL™ โดย Seaqual Initiative

“เส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลพรีเมียม” มีส่วนผสมจากขยะพลาสติกในทะเลที่เก็บเกี่ยวโดยชาวประมงจากใต้ทะเล 5-10% ของวัสดุมาจากขยะพลาสติกจากทะเลที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ และ 90-95% จาก PET ที่รีไซเคิลหลังการบริโภค ซึ่งทางบริษัทได้สร้างเครือข่ายเพื่อเก็บวัตถุดิบนี้ ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งทำความสะอาดมหาสมุทร โดยชาวประมงจะนำขยะพลาสติกที่ติดมากับอวนกลับมาที่ชายฝั่ง เพื่อทำการเก็บรวบรวมและขนส่งไปยังศูนย์เฉพาะทาง จากนั้นขยะพลาสติกนี้จะถูกทำความสะอาด คัดแยก และทำความสะอาดอีกครั้ง ก่อนที่จะนำมาเปลี่ยนเป็นเส้นใยเพื่อใช้ผลิตผ้าที่มีคุณภาพสูงแบบยั่งยืน

เส้นใยที่ได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ PET ใหม่และมีให้เลือกหลากหลายขนาดและการตกแต่ง ทั้งแบบเส้นใยต่อเนื่องและเส้นใยมาตรฐาน เส้นใยมาตรฐานนี้สามารถผสมกับเส้นใยที่ยั่งยืนอื่น ๆ เช่น ฝ้ายออร์แกนิก ฝ้ายรีไซเคิล Tencel Refibra และผ้าลินิน ในขณะที่เส้นใยแบบฟิล์มก็มีให้เลือกในหลายขนาดของเส้นใยและมีตัวเลือกสีที่ทำจาก Masterbatch และการย้อมสีในกระบวนการผลิตวัสดุนี้ผ่านการรับรอง GRS และ Oeko-Tex Standard 100 และมีจำหน่ายทั้งในรูปแบบเส้นด้าย และผ้าต่อเมตร การใช้งานของวัสดุนี้ครอบคลุมตั้งแต่เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน การบุพรมในรถยนต์ จนถึงผ้า Non-Woven

ข้อมูลวัสดุ : Material ConneXion
ภาพประกอบ: Material ConneXion
เรียบเรียงโดย: ภูวดล เสงี่ยมมีเจริญ
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: infomaterials@cea.or.th หรือโทร 02 105 7400 ต่อ 241 หรือ 254