จากเศษวัสดุเหลือใช้ ก้าวสู่อนาคตของวัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืน
Materials & Application

จากเศษวัสดุเหลือใช้ ก้าวสู่อนาคตของวัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืน

  • 16 Jan 2025
  • 39

ในยุคที่โลกหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน การจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จึงกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ไม่อาจมองข้าม เศษวัสดุเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเศษไม้ เศษคอนกรีต หรือวัสดุอื่น ๆ ล้วนเป็นผลผลิตจากกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดปริมาณขยะจำนวนมหาศาล การปล่อยปละละเลยให้เศษวัสดุเหล่านี้ถูกทิ้งร้างหรือฝังกลบไม่เพียงก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การปนเปื้อนของดินและน้ำ แต่ยังเป็นการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าไปอย่างเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ การนำเศษวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ยังเป็นการส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ช่วยลดการผลิตของใหม่ และลดปริมาณขยะที่ถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบ

ปัญหาเศษวัสดุเหลือใช้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในวงกว้าง หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสม เศษวัสดุเหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์พาหะนำโรค และก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้ นอกจากนี้ การขาดแคลนพื้นที่ฝังกลบยังเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การนำเศษวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่จึงเป็นทางออกที่ยั่งยืนที่สุด โดยสามารถนำไปแปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้างชนิดใหม่

เราจึงได้หยิบยก 5 วัสดุเศษเหลือทิ้งของวัสดุก่อสร้างจากฐานข้อมูล Material ConneXion มาเสนอให้เป็น

ไอเดียและสร้างโอกาสใหม่ในการพัฒนาวัสดุที่สร้างจิตสำนึกใหม่ให้กับอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยมุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาว การพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืนของวงการก่อสร้างและสถาปัตยกรรม

1. แผ่นลูกฟูกจากเศษหนังรีไซเคิล (MC# 751101) 
Buxkin (Ribbed) โดย Buxkin B.V.

แผ่นวัสดุอเนกประสงค์นี้ผลิตจากเศษหนังที่เหลือจากโรงงานทำรองเท้า เศษหนังถูกบดผสมกับน้ำยางธรรมชาติและสี ก่อนจะถูกขึ้นรูปและติดกับวัสดุปอเพื่อเพิ่มความแข็งแรง วัสดุนี้มีคุณสมบัติในการดูดซับเสียง ยืดหยุ่น ทนทาน เหมาะสำหรับการตกแต่งผนัง ฝ้าเพดาน และเฟอร์นิเจอร์ การเลือกใช้วัสดุ Buxkin ช่วยลดขยะจากอุตสาหกรรมรองเท้าในเยอรมนีและอิตาลี และเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้

2. กระเบื้องเซรามิกเนื้อพรุนจากเศษวัสดุเซรามิก (MC# 1136801)
YiTile and YiBrick โดย YI DESIGN

กระเบื้องและอิฐที่ผลิตจากเศษเซรามิกรีไซเคิลมีความทนทานและน้ำหนักเบา กระเบื้องประกอบด้วยเซรามิกรีไซเคิล 70% และวัสดุยึด 30% ในขณะที่อิฐนั้นลดขยะจากการก่อสร้าง 27% กระเบื้องเหล่านี้มีความพรุน ช่วยระบายอากาศและเก็บกักความชื้น เหมาะสำหรับใช้ปูทางเท้าสวนสาธารณะและพื้นผิวภายนอกอาคาร ทั้งกระเบื้องและอิฐสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

3. วัสดุตกแต่งผนังจากเปลือกข้าว (MC# 1338802) 
WASOO Sustainable Bio Acoustic Material  โดย JARERNTRIBHOP LIMITED PARTNERSHIP ประเทศไทย

WASOO เป็นแผงอะคูสติกที่ผลิตจากเปลือกข้าว ฟางข้าว และเยื่อกระดาษรีไซเคิล ซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ในภาคเกษตรกรรม วัสดุนี้มีคุณสมบัติเด่นในการช่วยดูดซับเสียง ควบคุมความชื้น การออกแบบที่หลากหลายทั้งขนาดและสี ทำให้สามารถสร้างสรรค์งานตกแต่งภายในและภายนอกที่สวยงามและยั่งยืนได้เป็นอย่างดี เมื่อหมดอายุการใช้งาน แผงนี้ยังสามารถรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้อีก ช่วยลดการทิ้งขยะสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

4. กระเบื้องทางเดินจากยางรถยนต์รีไซเคิล (MC# 700101) 
Multibrick Sidewalk Tile โดย Champagne Edition Inc. (Eco-Flex)

กระเบื้องทางเดินนี้ผลิตจากยางรถยนต์รีไซเคิลถึง 95% ผสมกับกาวยูรีเทนและออกไซด์สี วัสดุนี้มีความทนทานสูง ไม่ลื่น และสามารถปรับตัวเข้ากับการเคลื่อนตัวของพื้นดินได้โดยไม่แตกร้าวหรือเสียหาย การใช้งานครอบคลุมตั้งแต่ทางเดิน ลานจอดรถ ไปจนถึงลานบ้าน กระเบื้อง Multibrick ยังได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมหลายประการ ทำให้เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับงานก่อสร้างที่คำนึงถึงความยั่งยืน

5. อีพอกซีนาโนคริสตัลไคตินจากเปลือกหอย (MC# 1355702)
Chitin Nanocrystals: Epoxies โดย Neptune Nanotechnologies

นาโนคริสตัลไคตินที่สกัดจากเปลือกหอยใช้เพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับอีพอกซี ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในงานก่อสร้าง คุณสมบัติเด่นของนาโนคริสตัลนี้ช่วยเพิ่มความแข็งแรงในการดัดงอและความทนทานต่อแรงกระแทกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นวัสดุทางเลือกที่ยั่งยืนและน่าสนใจมากขึ้นในเชิงสิ่งแวดล้อมและการออกแบบ เมื่อเปรียบเทียบกับนาโนวัสดุอนินทรีย์แบบเดิม เช่น คาร์บอนนาโนทิวบ์ ซึ่งมักมีปัญหาด้านการกำจัดและความซับซ้อนในการผลิตที่ใช้พลังงานสูง

ข้อมูลวัสดุ : Material ConneXion
ภาพประกอบ: Material ConneXion
เรียบเรียงโดย: ภูวดล เสงี่ยมมีเจริญ

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: infomaterials@cea.or.th หรือโทร 02-105-7400 ต่อ 241 หรือ 254