อัปเดตวัสดุแห่งอนาคต — บทสรุปจากเวทีเสวนา MATERIAL FUTURES 2025 by CEA“
Materials & Application

อัปเดตวัสดุแห่งอนาคต — บทสรุปจากเวทีเสวนา MATERIAL FUTURES 2025 by CEA“

  • 20 Mar 2025
  • 111

ในยุคที่ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น การออกแบบวัสดุและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพกลายเป็นสิ่งสำคัญ MATERIAL FUTURES 2025 by CEA จึงเปิดเวทีรวบรวมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมวัสดุและเทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนมาร่วมนำเสนอแนวคิดและการพัฒนานวัตกรรมด้านวัสดุหลากหลายประเภท เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 

ความน่าสนใจนั้นมีตั้งแต่การใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนที่เน้นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างมูลค่าจากเยื่อกระดาษที่เหลือใช้ สู่การสนับสนุนชุมชนและเศรษฐกิจสีเขียว การนำเส้นใยธรรมชาติและสีย้อมจากพืชท้องถิ่น มาพัฒนาเป็นสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการวิจัยและพัฒนาวัสดุจากไมซีเลียมที่มีศักยภาพในการเป็นวัสดุแห่งอนาคต

และใครที่พลาดงานบรรยายไป “คิด” Creative Thailand ได้รวบรวมเนื้อหาสำคัญมาให้ได้อัปเดตกันอย่างครบถ้วนแล้วที่นี่


คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ และผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ QUALY บริษัท นิว อาไรวา จำกัด

1. “การใช้พลาสสติกอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน”
คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์

ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ และผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ QUALY บริษัท นิว อาไรวา จำกัด
แบรนด์ QUALY นำเสนอแนวคิดการออกแบบเพื่อโลกที่ยั่งยืน กับการตั้งคำถามว่าเราจะใช้พลาสติกอย่างไรให้ยั่งยืน โดยคำว่า “ยั่งยืน” คือ 1) ไม่สร้างปัญหา ใช้แล้วต้องรับผิดชอบ 2) ไม่ขาดแคลน ใช้แล้วต้องนำกลับมาหมุนเวียน และ 3) ไม่ขาดทุน สร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่า 

รวมถึงแนวทางการใช้พลาสติกอย่างสร้างสรรค์ 3 วิธี คือการแทนที่พลาสติกใหม่ โดยเน้นการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่, การใช้แทนวัสดุอื่น เช่น กระจก ไม้ หิน และ การใช้วัสดุพร้อมบวก คือ นำไปใช้ร่วมกับวัสดุอื่น ๆ เช่น แก้ว เซรามิก

โดยคุณธีรชัยกล่าวว่า “ผมให้ความสนใจกับขยะประเภทที่ไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบได้ง่าย ๆ เช่น ขยะบางประเภทที่อนุญาตให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ยังมีขยะอีกมากที่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการฝังกลบหรือเผาทำลาย 

เราพยายามมุ่งเน้นไปที่ “ขยะที่ด้อยโอกาส” หรือขยะที่ไม่มีระบบรองรับในการนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อหาทางดึงกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตให้เกิดการใช้งานมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่เรามองว่ามีศักยภาพในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม”

ความยั่งยืนที่สำคัญที่สุดของการใช้พลาสติกนั่นคือ ความรับผิดชอบ ในการผลิตและบริโภค หากช่วยกันก็จะมีจุดเริ่มต้นที่ดี และได้ความร่วมมือจากพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพ ก็จะช่วยเกิดการใช้อย่างสร้างสรรค์ได้


คุณธนากร สุภาษา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PAPA PAPER และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด

2. “TURN WASTE to WORK – The Future of Fiber เยื่อกระดาษที่ไม่ได้หยุดแค่กระดาษ”
คุณธนากร สุภาษา

ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PAPA PAPER และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด
ปาป้า เปเปอร์ คราฟต์ เริ่มต้นจากการสร้างธุรกิจกระดาษสาทำมือที่หมู่บ้านต้นเปาในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านหัตกรรมที่ส่งกระดาษสาให้กับหมู่บ้านบ่อสร้างได้นำไปผลิตพัดและร่ม เพื่อต่อยอดพัฒนาเป็นของฝากให้นักท่องเที่ยว ทั้งยังสร้างรายได้และพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืนของชุมชนกระดาษสา 

โดยคุณธนากรได้ให้ความเห็นว่า “ในมุมมองของผม แค่การนำวัสดุเหลือใช้ เช่น เปลือกข้าวโพดหรือกากอ้อย กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็นับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากแล้ว วัสดุเหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาเป็นสินค้าหลายประเภท ซึ่งผมเองก็เคยทดลองทำและพบว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถขายได้จริง 

ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด เช่น ‘กระดาษจากเปลือกข้าวโพด’ หากมองเผิน ๆ มันก็คือกระดาษธรรมดา แต่ถ้านำมาผ่านกระบวนการทำให้เป็นชิ้นงานศิลปะ หรือเพิ่มลูกเล่นลงไป ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้”

ปัจจุบัน ปาป้า เปเปอร์ ผลักดันการนำวัสดุเหลือทิ้งจากเส้นใยพืชธรรมชาติมาเปลี่ยนเป็นกระดาษและบรรจุภัณฑ์ เพื่อฟื้นฟูและสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจชุมชน กลายเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของระบบเศรษฐกิจสีเขียวหมุนเวียน (Circular Green Economy) ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศน์เชิงบวก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ให้ชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมตอบรับกับเทรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product Global Trend) ที่กำลังเติบโตในตลาดโลก ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน การผลิตวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการนำไปประยุกต์ใช้ในโครงการสร้างเมืองอัจฉริยะ

เมื่อเยื่อกระดาษไม่ได้เป็นเพียงวัสดุสำหรับการผลิตกระดาษอีกต่อไป แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญสู่อนาคตของนวัตกรรมที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรภาคเกษตรอย่างมีคุณค่า


ผศ.ดร. ธีระยุทธ์ เพ็งชัย ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (Fabric and Textile Creative Design Center : FTCDC)

3. “เส้นใยธรรมชาติและสีย้อมสิ่งทอ ชุมชนจากพืชท้องถิ่น”
ผศ.ดร. ธีระยุทธ์ เพ็งชัย

ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (Fabric and Textile Creative Design Center : FTCDC)
ผศ.ดร. ธีระยุทธ์ เริ่มต้นแสดงความคิดเห็นว่า “สิ่งที่เราจะดำเนินการอย่างจริงจังต่อจากนี้คือการแก้ปัญหาการเผาในภาคเกษตรกรรม ซึ่งปัจจุบัน การเผายังคงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับเกษตรกร หากสามารถช่วยให้ชุมชนเห็นคุณค่าและนำเศษวัสดุไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ ก็จะช่วยลดปัญหาการเผา ลดปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ  

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ทันที แต่หากสามารถลดการเผาลงได้อย่างต่อเนื่อง และขยายแนวคิดนี้ให้กลายเป็น ‘หัตถอุตสาหกรรม’ ที่ช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชน ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อพื้นที่และระบบนิเวศโดยรวม”

ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ซึ่ง FTCDC เป็นองค์กรการศึกษาที่นำความเป็นท้องถิ่นเข้ามาผสมผสานกับอุตสาหกรรมสิ่งทอชุมชน   โดยมีห้องปฏิบัติการที่คาดว่ามีเพียงเแห่งเดียวในภาคอีสานที่ส่งผลให้เกิดการสร้างมาตรฐานและการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) ขึ้นมาเป็นรายแรกในประเทศไทย โดยเน้นความเป็นเอกลักษณ์จากวัสดุของท้องถิ่น และใช้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์หรือวัสดุในชุมชนของไทย 

ซึ่งวัตถุดิบหลักของผลิตภัณฑ์ต้องไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสามารถนำมาหมุนเวียนใช้อีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนได้ โดยในปัจจุบันมีชุมชนที่ได้รับมาตรฐานนี้แล้วกว่า 150 ผลิตภัณฑ์ เป็นการสร้างการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ พร้อมสร้างรายได้และความยั่งยืนให้กับชุมชนอย่างแท้จริง

ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้ชุมชนนำผลผลิตจากธรรมชาติมาใช้กับเสื้อผ้าและสิ่งทอ ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนได้อีกมาก


ดร.จิราวรรณ คำซาว นักวิจัยและพัฒนาด้านจุลชีววิทยา และประธานกรรมการ บริษัท ถิ่นนิยม จำกัด

4. “ราไมซีเลียม ความหวังอนาคตที่ยั่งยืน”
ดร.จิราวรรณ คำซาว 

นักวิจัยและพัฒนาด้านจุลชีววิทยา และประธานกรรมการ บริษัท ถิ่นนิยม จำกัด
ไมซีเลียม (MYCELIEM) เป็นโครงสร้างที่อยู่ในเห็ด มีความเหนียวและมีสีสันที่หลากหลาย ปัจจุบันมีการนำมาใช้พัฒนาในหลายวงการ เช่น บรรจุภัณฑ์ สิ่งทอ กันเสียง วัสดุก่อสร้าง และงานออกแบบต่าง ๆ ซึ่งทั่วโลกเริ่มมีการนำไมซีเลียมมาใช้พัฒนาวัสดุใหม่ ๆ อีกมากมาย 

ด้วยคุณสมบัติของไมซีเลียมทำให้ ถิ่นนิยม มีแนวคิดที่ต้องการนำไมซีเลียมมาพัฒนาในประเทศไทยโดยเริ่มจากพื้นที่อำเภอเชียงดาว ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ ถิ่นนิยมได้นำไมซีเลียมมาผสมผสานกับวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ  ที่ช่วยลดการเผาไหม้ได้มากขึ้น รวมทั้งคัดเลือกหัวเชื้อมาทำเส้นใยที่มีความทนทานและยืดหยุ่นมากกว่าไม้เนื้ออ่อนและไม้อัด  ออกแบบเป็นตัวอย่างโลงศพสัตว์เลี้ยง โดยมีการวิจัยด้านความทนทาน รวมถึงตอนฝังได้มีการเคลือบจุลินทรีย์ช่วยย่อยที่ทำให้สามารถย่อยสลายได้จนหมดภายใน 2 ปี ซึ่งตอบโจทย์การย่อยสลายซากที่อยู่ในโลงศพและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีงานออกแบบบวกกับนวัตกรรม ซึ่งทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน และกำลังวิจัยพัฒนาไมซีเลียมกับสิ่งทอ รวมถึงงานวิจัยการดูดซับเสียงในอาคารอีกด้วย

โดยดร.จิราวรรณ กล่าวว่า “เรากำลังดำเนินการเกี่ยวกับ การจัดการขยะเปียก เนื่องจากขยะประเภทนี้คิดเป็น 50% ของขยะทั้งหมด และเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ระบบการจัดการขยะติดขัด ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนขยะเปียกให้เป็นปุ๋ยไม่ใช่เป้าหมายเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องมองให้ลึกไปกว่านั้น ว่าปุ๋ยที่ได้สามารถเพิ่มคุณภาพของวัตถุดิบทางอาหารได้มากน้อยเพียงใด 

ดังนั้นนอกจากการจัดการขยะเปียกแล้วเรายังศึกษาถึงหัวเชื้อและจุลินทรีย์ที่สามารถช่วยย่อยสลายขยะได้สูงสุด และจะลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรลงอย่างต่อเนื่อง กระบวนการนี้ ไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะ แต่ยังช่วยให้เรามี วัตถุดิบที่ปลอดภัย อาหารที่มีคุณภาพ และนำไปสู่สุขภาพที่ดีขึ้นของทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว”

ถิ่นนิยม อยากจะเป็นเกษตรกรที่กลับมาทำเรื่องภาคการเกษตรให้กับท้องถิ่นบ้านเกิด เพื่อผลักดันในเรื่องนิเวศน์เกษตร เป็นการทำเกษตรกรรมแต่สามารถสร้างมูลค่าได้ในพื้นที่จำกัด

เรียบเรียงโดย : Bangkok Design Week