“ฝึกชาวบ้านให้เป็นหมอ” กับแอพพลิเคชั่น DoctorMe
เรื่อง : สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์
ในความเข้าใจของใครหลายๆ คน “พาราเซตามอล” ดูเหมือนจะเป็นยาวิเศษที่สามารถรักษาได้สารพัดโรคตั้งแต่ ปวดหัว แน่นหน้าอก ปวดท้อง เรื่อยไปจนถึงรักษาอาการหวัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ยา “พาราเซตามอล” มีฤทธิ์เพียงเพื่อบรรเทาอาการปวดหรือลดไข้ได้เท่านั้น ไม่สามารถรักษาอาการกล้ามเนื้อเกร็ง บวมแดง หรือโรคข้ออักเสบได้ด้วยตัวมันเอง และจำเป็นต้องใช้ยาประเภทอื่นเข้าร่วมในการรักษาด้วย ส่วนยาแก้หวัดหรือยาแก้แพ้ที่ถูกต้องนั้น เราควรทานยา “คลอร์เฟนิรามีน” ที่มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม และช่วยแก้อาการแพ้ต่างๆ เช่น ลมพิษหรือผื่นคัน เป็นต้น
ความเชื่อข้างต้นเกี่ยวกับ “พาราเซตามอล” นี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างถูกต้อง ซึ่งก็พอจะเดาต่อลางๆ ได้ว่าเมื่อเราหรือคนรอบข้างเกิดเจ็บป่วย เช่น ตาพร่ามัว คลื่นไส้อาเจียน เจ็บคอ ใจสั่น ปวดข้อ ปวดเข่า ถ่ายเป็นมูก เป็นลม หรือได้รับอุบัติเหตุ เช่น ผึ้งต่อย ต่อต่อย ฯลฯ เราก็ไม่ค่อยจะทราบวิธีดูแลรักษาเบื้องต้น หรือแม้แต่จะเข้าใจสาเหตุของอาการเหล่านั้นด้วย
นิตยสารหมอชาวบ้าน โครงการเพื่อสังคมรุ่นเดอะ
“การเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกต้องนั้นเป็นหนทางที่จะช่วยให้เราสามารถดูแลรักษาสุขภาพทั้งของตนเองและคนรอบข้างได้อย่างง่ายๆ”
นี่คือที่มาของการจัดตั้งนิตยสาร “หมอชาวบ้าน” นิตยสารรายเดือนที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ “ชาวบ้านตาดำๆ ทั่วไป” ได้พัฒนาทักษะและความเข้าใจในการดูแลสุขภาพตนเอง (พูดง่ายๆ ก็คือเพื่อฝึกชาวบ้านให้เป็นหมอขั้นต้นนั่นแหละ) หมอชาวบ้านฉบับแรกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 โดยคณะผู้ก่อตั้งในยุคแรกประกอบไปด้วย ศ.นพ.ประเวศ วะสี, ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์, ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว และอีกหลายๆ ท่าน จวบจนถึงปัจจุบันนิตยสารหมอชาวบ้านมี รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานุภาพ ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิหมอชาวบ้านดูแลอยู่
เมื่อความรู้ 30 ปีบนหน้ากระดาษ…แปลงร่างสู่หน้าเว็บ
เมื่อสังคมไทยก้าวเดินมาถึงยุคที่ข้อมูลไม่ได้ถูกตีกรอบไว้แค่ในหนังสือหรือนิตยสาร การแปลงฐานข้อมูลและเนื้อหาอันดีเยี่ยมของ “หมอชาวบ้าน” เข้าสู่โลกออนไลน์จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการส่งผ่านองค์ความรู้นี้ให้เข้าถึงผู้คนในวงกว้างขึ้น ง่ายขึ้น และสะดวกยิ่งขึ้นต่อการใช้งาน
บริษัท Opendream ในฐานะผู้พัฒนาระบบ (System developer) ได้ทำการแปลงข้อมูลเนื้อหาจากหนังสือหมอชาวบ้านที่วางขายบนแผงมาตลอด 30 ปี (มากถึง 20,000 บทความ) เข้าสู่แพลทฟอร์มใหม่บนอินเทอร์เน็ตภายใต้ชื่อ www.doctor.or.th โดยแค่ภายในเดือนแรกที่เปิดตัว (พ.ศ.2552) ก็มียอดเข้าชมเว็บไซต์พุ่งสูงถึง 1 แสน 5 หมื่นครั้ง
ถึงวันนี้เว็บหมอชาวบ้านมียอดผู้เข้าชมราว 4 แสนครั้งต่อเดือน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สะท้อนได้ดีถึงความตื่นตัวในการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของคนในสังคม โดยผู้ใช้เว็บจะสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับโรค ยา สมุนไพร การปฐมพยาบาล และแหล่งข่าวสุขภาพได้อย่างง่ายดาย พร้อมเปิดช่องถาม-ตอบปัญหาสุขภาพกับคุณหมอ โดยคุณสามารถโพสต์คำถามฝากไว้ที่เว็บไซต์ จากนั้นก็จะมีคุณหมอมาช่วยตอบข้อสงสัย ฯลฯ
รู้สู้โรค…ในยุคสมาร์ทโฟนครองโลก
นอกจากข้อมูลทางเว็บไซต์แล้ว ต่อมามูลนิธิหมอชาวบ้านยังได้มอบหมายให้ Opendream พัฒนา “แอพพลิเคชั่น” สำหรับใช้งานบนสมาร์ทโฟนภายใต้ชื่อ “DoctorMe” เพื่อใช้เป็นคู่มือสำหรับการดูแลรักษาสุขภาพในเวอร์ชั่นพกพาอีกโครงการหนึ่ง
แอพพลิเคชั่น DoctorMe ที่ว่านี้ทำอะไรได้บ้าง? อันดับแรกคือมันจะช่วยบอก “วิธีปฏิบัติตัว” เพื่อให้คุณสามารถดูแลรักษาอการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้อย่างง่ายๆ ผ่านคำแนะนำเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล, ประเภทของความเจ็บป่วยต่างๆ, โรค, การใช้ยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร ฯลฯ
วิธีการใช้งาน DoctorMe นั้นก็ง่ายแสนง่าย ในหน้าแรกของแอพฯ นี้จะแบ่งกลุ่มอาการความป่วยไข้ออกเป็น 3 ส่วน คือ ที่ศรีษะ ที่ลำตัว และที่ลำตัวส่วนล่าง เพื่อให้คนสามารถตัดสินใจคลิกใช้งาน (navigate) ได้สะดวก และแอพนี้ก็พาคุณเจาะลึกลงไปสู่เนื้อหาที่ตรงกับอาการที่คุณพบมากที่สุด พร้อมกันนี้มันยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการไม่สบายทั่วไปที่พบบ่อย เช่น ไข้หวัด ผื่นแพ้ที่ผิวหนัง ฯลฯ
ที่น่าสนใจอีกข้อคือแอพ DoctorMe มีระบบ “แจ้งเหตุฉุกเฉิน” ในกรณีที่คุณต้องการความช่วยเหลือแบบเร่งด่วนด้วย (ผ่านหมายเลข 1669 เพื่อติดต่อไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) มันสามารถแจ้งตำแหน่งของคุณผ่านระบบ GPRS หรือสามารถบอกตำแหน่งของโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดให้กับคุณได้ทันที
ต้องขอบอกว่าจากจุดเริ่มต้นของนิตยสารรายเดือนอย่าง “หมอชาวบ้าน” ที่เพียงต้องการเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพให้กับประชาชนทั่วไป ทุกวันนี้ความรู้อันมีค่าเหล่านั้นได้ถูกปรับเปลี่ยน “รูปแบบการนำเสนอ” ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนปัจจุบันมากขึ้น แต่คุณว่ามั้ยว่าแม้วิธีการสื่อสารจะเปลี่ยน เหล่าคุณหมอหันมาใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้คนมากขึ้น แต่โครงการการเผยแพร่ความรู้สู่สังคมที่มีอายุกว่า 30 ปีนี้ ดูเหมือนพวกเขาไม่เคยเปลี่ยนจุดมุ่งหมายอันเป็นหัวใจสำคัญเลย ทุกลมหายใจตลอดสามทศวรรษของหมอชาวบ้าน ก็ยังคงเป็นไปเพื่อการ “ฝึกชาวบ้านให้เป็นหมอ” ไม่ว่าจะในอดีต วันนี้ หรือในอนาคตก็ตาม
อ้างอิง : คลิปเกี่ยวกับมูลนิธิหมอชาวบ้าน. หมอชาวบ้าน