God is in the Data ความหวังใหม่สู่แดนศิวิไลซ์
Technology & Innovation

God is in the Data ความหวังใหม่สู่แดนศิวิไลซ์

  • 01 Aug 2014
  • 4609
เมื่อระบบการจ่ายเงินด้วยโทรศัพท์มือถือเข้ามาในชีวิตชาวไนจีเรีย แม้ว่าจะไม่ได้พลิกชีวิตคนทั้งประเทศให้อยู่ดีกินดี แต่อย่างน้อยก็ทำให้พวกเขามีความปลอดภัยขั้นพื้นฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินมากกว่าในอดีตที่ต้องพกเงินสดซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกจี้ปล้น ความสะดวกสบายจากการเชื่อมต่อข้อมูลเข้าด้วยกันนี้ไม่เพียงเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวไนจีเรีย แต่กำลังขยายผลไปสู่การสร้างโลกใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง

It Starts with a Chip
เมื่อเทคโนโยลีการผลิตแผงวงจรรวม (Integrated Circuit Technology) ได้รับการพัฒนาจนมีขนาดเล็กระดับ 1 ในล้านของเมตร หรือที่เรียกว่า ระบบไฟฟ้าเครื่องกลจุลภาค (Micro-Electro-Mechanical System: MEMS) นั่นเท่ากับเปิดประตูให้กับโลกใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยอุปกรณ์สำคัญ 2 ชนิด คือเซ็นเซอร์ตรวจจับข้อมูล และแอคซูเอเตอร์ (กลไกควบคุมและสั่งการตามการเปลี่ยนแปลงของสถานะต่างๆ เช่น อุณหภูมิ สนามแม่เหล็ก เป็นต้น) ที่สามารถแฝงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นผิวของวัตถุต่างๆ อย่างไม่คาดคิดมาก่อน
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย ระบบเซ็นเซอร์ และการประมวลผลที่ล้ำหน้า ทำให้เสื้อผ้า รองเท้า แก้วน้ำ หรืออุปกรณ์ต่างๆ กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่ามหาศาลจากข้อมูล ด้วยการเก็บ วิเคราะห์ และส่งสัญญาณถึงกันอย่างไม่ผิดพลาด จนกลายเป็นเครือข่ายของสิ่งของที่สามารถสื่อสารระหว่างมนุษย์และอุปกรณ์ ไปจนถึงการสื่อสารกันเองระหว่างอุปกรณ์ (Machine to Machine) ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจนถึงระบบการผลิต เกิดเป็นสภาพแวดล้อมใหม่ที่ส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า “อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง (Internet of Things)” ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกที

ไอดีซี (International Data Corporation) บริษัทวิจัยตลาดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศคาดว่า เครือข่ายของอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง จะเติบโตจากการเชื่อมต่ออุปกรณ์ 30 พันล้านชิ้นในปัจจุบัน เป็น 212 พันล้านชิ้นในปี 2020 ขณะที่มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Standley) บริษัทหลักทรัพย์อเมริกันวิเคราะห์ว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมที่ข้อมูลของทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมต่อกันนี้น่าจะสูงถึง 14.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า และได้แนะนำให้นักลงทุนสนใจบริษัทที่เกี่ยวข้องแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้ไม่พลาดโอกาสเหมือนเมื่อครั้งแอปเปิลและแอมะซอนขายหุ้นตั้งแต่ครั้งแรก

Butler of Everything
บางครั้งมูลค่ามหาศาลของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง ที่ประมาณการณ์โดยเหล่านักวิเคราะห์อาจจะต่ำไป เมื่อเทียบกับวิถีแห่งการใช้ข้อมูลเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจในการมัดใจลูกค้า และเจตนารมณ์ที่ดีในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และการรักษาโลกใบนี้ ตลอดจนความกระตือรือร้นของเหล่าสตาร์ทอัพในการสร้างตัวจากเทคโนโลยี การบริหารจัดการเมืองและโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องการความแม่นยำ จนถึงการขยายตัวของพลเมืองที่ตอบรับข้อมูลจากอุปกรณ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

คริส แดนซี่ (Chris Dancy) วัย 45 ต้องการดูแลสุขภาพตัวเองให้ดียิ่งขึ้น จึงเริ่มต้นเก็บข้อมูลชีวิตตัวเองมาตั้งแต่ 5 ปีก่อน ทุกวันเขาจะติดอุปกรณ์ประมาณ 10 ชนิดเพื่อเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหว ตั้งแต่ระดับความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ การนอนหลับ การออกกำลังกาย อาหาร รวมถึงกิจกรรมออนไลน์ เช่น ถ่ายภาพ ส่งอีเมล และซื้อของจากเว็บไซต์แอมะซอน ข้อมูลทุกอย่างจะถูกบันทึกเป็นแถบสีตามวันและเวลาในปฏิทินกูเกิล โดยแบ่งเป็นหมวดสุขภาพ สภาพแวดล้อม บันเทิง สื่อออนไลน์ การทำงานเกี่ยวกับความรู้ การท่องเที่ยว ความคิดเห็น การสร้างเนื้อหา เงิน และจิตใจ เมื่อนำมาข้อมูลทั้ง 5 ปีมาร้อยต่อกันก็จะช่วยให้เขาเห็นภาพอุปนิสัยในการใช้ชีวิตที่ต้องปรับปรุง เช่น การกินอาหารและสภาพอากาศจะส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ จนในที่สุดเขาสามารถลดน้ำหนักลงเกือบ 10 กิโลกรัม และดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้นได้ เขาตัดสินใจเปลี่ยนสายงานจากด้านไอทีมาเป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับ “ข้อมูลเพื่อการดำรงชีวิต (Assisted Living Data)” ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีในกลุ่มผู้บริโภค ทั้งนี้จากการศึกษาของสถาบันวิจัย พิว รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ (Pew Research Center) พบว่าร้อยละ 46 ของคนที่สามารถติดตามข้อมูลสุขภาพของตัวเอง ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อทำให้สุขภาพดีขึ้น
Local-Warming-3-1.jpg
 
ในกรณีที่ไม่สามารถสังเกตตัวเองได้อย่างแดนซี่ ในท้องตลาดเริ่มมีอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ที่สามารถส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์ของศูนย์การแพทย์ที่เป็นเจ้าของไข้อยู่ ให้มอนิเตอร์และส่งข้อความเตือนตั้งแต่การนัดหมายแพทย์ไปจนถึงเวลารับประทานยาได้อย่างต่อเนื่อง

อุปกรณ์การเก็บและส่งข้อมูลด้านสุขภาพนอกจากจะใช้ในการตรวจวินิจฉัยสุขภาพตัวเองแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามความเป็นไปของคนในครอบครัว เช่น ผลิตภัณฑ์ของมิโมเบบี้ส์ (MimoBabies) ที่จับกลุ่มพ่อแม่เวลาน้อยแต่ต้องการรู้ว่าลูกน้อยมีชีวิตอย่างไรมากกว่าการดูจากกล้องวงจรปิด

 

BsquT5UCAAE7rV5.jpg

 

 

มิโมเบบี้ส์เป็นความร่วมมือระหว่างอินเทล ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ โดยพัฒนาขึ้นจากมิโมกิโมโน (Mimo Kimono) ผลงานของคาร์สัน ดาร์ลิง (Carson Darling) ศิษย์เก่าเอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology) และสตาร์ทอัพผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเรสต์ ดีไวซ์ (Rest Device) ในการนำระบบเซ็นเซอร์มารวมกับชุดเด็กเพื่อติดตามการหายใจ อุณหภูมิ ท่านอน และข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับ “เอดิสัน” คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ล่าสุดของอินเทล ซึ่งมีขนาดเล็กเท่ากับเอสดีการ์ด (SD card) ทำหน้าที่เก็บและประมวลข้อมูล ก่อนจะส่งสัญญาณไปยังสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของพ่อแม่ที่อาจจะกำลังอยู่ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อบอกว่าหนูน้อยเหล่านี้มีอุณหภูมิร่างกายปกติและนอนหลับสุขสบายแค่ไหน

นอกจากนี้ ระหว่างเดินทางกลับบ้าน พ่อแม่ที่ยุ่งกับงานอาจจะไม่ได้สังเกตว่ารถยนต์ที่นั่งไปนั้นมีอาการผิดปกติมานานแล้ว รถจึงอาจเสียกลางทาง แต่ปัญหานี้จะได้รับแก้ไขถ้าหากรถยนต์คันดังกล่าวใช้ แจสเปอร์เทคโนโลยี (Jasper Technologies)

จาฮังกีร์ โมฮัมเหม็ด (Jahangir Mohammed) คิดค้นแจสเปอร์ เทคโนโลยี ขึ้นมาเมื่อเขาประสบปัญหารถยนต์เสียและต้องยืนรอช่างเป็นเวลา 3 ชั่วโมง จึงเกิดไอเดียในการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการเตือนที่สามารถนำไปใช้กับเครื่องใช้ต่างๆ เช่น รถยนต์ที่ถึงเวลาเข้าอู่ซ่อม เครื่องขายน้ำอัดลมอัตโนมัติของโคคา-โคลาที่ต้องถึงเวลาเติมโซดา ตลอดจนลูกค้ากว่า 1,000 รายที่นำซอฟต์แวร์ดังกล่าวนี้ไปประยุกต์ใช้กับสินค้าและบริการ รวมถึงการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ เช่น การจับมือระหว่างเจเนอรัล มอเตอร์ส ที่ใช้แจสเปอร์และบริการเอทีแอนด์อี (AT&T) เพื่อให้รถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดกลายเป็นจุดรับสัญญาณวายฟายที่สามารถรองรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ถึง 7 ชนิด โมเดลความร่วมมือเหล่านี้ทำให้บริษัทของโมฮัมเหม็ดมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว เขาเชื่อว่าเมื่อทุกอย่างเชื่อมต่อกันก็จะกลายเป็นบริการ และเปิดโอกาสให้ทุกคนทำเงินไปด้วยกัน

The World and I
ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลไม่เพียงถูกแปรเปลี่ยนเป็นบริการที่สร้างรายได้ให้เหล่าสตาร์ทอัพและธุรกิจ แต่ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรโลก อย่างเช่นที่แปซิฟิก แก๊ส แอนด์ อิเล็กทริก คอมพานี (Pacific Gas and Electric Company-PG&E) ในสหรัฐอเมริกา ใช้ระบบ สมาร์ท มิเตอร์ (Smart Meter) โดยอาศัยข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟของบ้านเรือนและโรงงานแบบเรียลไทม์ มาใช้ในการทำโปรโมชั่นให้ลูกค้าเลือกใช้ไฟในช่วงที่ความต้องการน้อย (off-peak) ซึ่งประหยัดค่าไฟฟ้ามากกว่าการใช้ในช่วงความต้องการสูง

 

 

howitworks.ca-28.jpg.jpeg

 

 

อย่างไรก็ตาม วิธีการของผู้ผลิตไฟฟ้าดังกล่าวนั้น สิทธิในการเลือกใช้ยังเป็นของผู้บริโภค แต่สำหรับพื้นที่สาธารณะ ผู้ให้บริการสามารถเลือกที่จะประหยัดพลังงานได้ด้วยผลงานงานใหม่ล่าสุดจากศูนย์วิจัยด้านประสาทสัมผัสเอ็มไอที (MIT SENSEable City Lab) ที่คิดค้นเครื่องทำความอบอุ่นเฉพาะคน (Local Warming) ขึ้นจากการใช้ระบบวายฟายในการค้นหาตำแหน่งคนแบบเรียลไทม์ หลังจากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังเครื่องทำความร้อนทีมีหลอดกำเนิดคลื่นอินฟราเรดและกระจกรวมแสง เพื่อให้ส่งความร้อนมายังตัวคนที่เดินเข้ามาภายในอาคารเสมือนเครื่องทำความร้อนส่วนตัวแทนที่จะกระจายความร้อนไปทั่ว วิธีนี้ช่วยให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น เพราะความร้อนจะกระจายอยู่ที่ตัวคน และปล่อยให้พื้นที่ว่างรอบๆ ยังคงเย็นเช่นเดิม

 

 

Local-Warming-3.jpg

 

 

คาร์โล ราตติ (Carlo Ratti) หัวหน้าวิจัยโครงการกล่าวถึงที่มาว่า ภายในอาคารมีพลังงานจำนวนมากที่สูญเสียไปกับส่วนที่ไม่มีใครอยู่อย่างเช่นมุมห้อง เทคนิคนี้จะทำให้การทำความร้อนสมดุลกับผู้อาศัยอยู่ในอาคารมากขึ้น แม้ว่าจะยังอยู่ในขั้นของการทดลองแต่ราตติเชื่อว่าราคาจะไม่แพงเกินกว่าทจะนำมาใช้ได้จริง ผลงานนี้จะจัดแสดงขึ้นครั้งแรกในงานเวนิส อาร์คิเทคเชอร์ เบียนนาเล่ (14th Venice Architecture Biennale) ครั้งที่ 14 ในปี 2014 นี้

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยอุปกรณ์ไร้สายเอ็มไอที (MIT’s Wireless Center) ยังร่วมกับศูนย์วิจัยคอมพิวเตอร์เอไอ (Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory: CSAIL) พัฒนาระบบการติดตามจากการผสม ระบบไร้สายกับระบบการเอ็กซเรย์ ซึ่งสามารถตรวจจับแม้กระทั่งการกระเพื่อมขึ้นลงของหน้าอกเวลาหายใจเข้า ออกและอัตราการเต้นของหัวใจได้ถูกต้องถึงร้อยละ 99 ระบบนี้ยังสามารถทะลุทะลวงเข้าไปในห้องที่ปิดมิดชิด และสามารถแยกแยะความแตกต่างของคนได้ถึง 4 คนในเวลาเดียวกัน

 

 

15173_602782266457132_8288391834731907204_n.jpg

 

 

ในแง่หนึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวนี้จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาบริการต่างๆ เพื่อประโยชน์ตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละบุคคลไปจนถึงนโยบายระดับสากล เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อม และการป้องกันการก่อการร้าย ทว่ายิ่งข้อมูลถูกเก็บอย่างละเอียดและถูกนำไปใช้ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นเท่าไร นั่นยิ่งทำให้ข้อมูลนั้นไม่สามารถใช้ระบบการบริหารจัดการแบบเดิมที่ผ่านมาและนำไปสู่การลงทุนครั้งใหญ่ของโลกอีกครั้ง

Who Moved My Data?
ข้อมูลปริมาณมหาศาล (Big Data) ที่ถ่ายโอนไปมาระหว่างวัตถุตามแนวคิดอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง ซึ่งพึ่งพาระบบคลาวด์เป็นตัวขับเคลื่อนในการเก็บ ส่งต่อ ประมวล แสดงผล และจัดเก็บข้อมูลนั้น ไม่ได้ว่างเปล่าดังชื่อเรียก ทว่าต้องพึ่งพาวัสดุขนาดใหญ่หลากหลายในการบริหารจัดเก็บภายในศูนย์ข้อมูล (Data Center) รวมทั้งการสร้างเครือข่ายแบนด์วิธ (Bandwidth) เพื่อรองรับความเร็วในระดับเรียลไทม์และข้อมูลระดับเพตะไบต์ (Petabyte หน่วยใหญ่กว่าเทราไบต์ อัตรา 1 PB = หนึ่งพันล้านล้านไบต์) ซึ่งทั้งศูนย์ข้อมูลและระบบที่ใช้ในปัจจุบันได้เดินทางจนถึงขีดสุดและต้องการการพัฒนาครั้งใหญ่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใหม่

แม้ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคุณภาพชีวิตและช่วยลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ทว่าในอีกแง่หนึ่งมันอาจจะเป็นเครื่องจักรใหม่ที่เร่งการเผาผลาญพลังงาน ทั้งนี้มาร์ก มิลส์ (Mark Mills) ซีอีโอของดิจิทัล พาวเวอร์ กรุ๊ป บริษัทลงทุนและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี ประมาณการณ์ว่าคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบคลาวด์ (Cloud) ในปัจจุบันนั้นใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 1,500 เทราวัตต์ต่อปี เทียบเท่ากับพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งโลกในปี 1985 หรืออาจจะมากกว่าพลังงานที่ใช้ในอุตสาหกรรมการบิน

ดังนั้นในการลงทุนครั้งใหม่ของบริษัทที่ต้องเกี่ยวข้องกับศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งไมโครซอฟต์ เฟซบุ๊ก และกูเกิล ล้วนแต่ต้องคำนึงถึงการรักษาสมดุลของระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม พร้อมกับระบบนิเวศแห่งไอทีเพื่อการให้บริการที่สมบูรณ์ที่สุด

เฟซบุ๊กเปิดตัวศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในเมืองลูเลีย (Lulea) สวีเดน เมืองที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุดที่ระดับ -41 องศาเซลเซียส บนพื้นที่ 27,000 ตารางเมตร ด้วยสรรพคุณว่าเป็นศูนย์ที่ทรงประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อความยั่งยืนที่สุดจากการใช้พลังงานน้ำและการพัฒนาผ่านโครงการโอเพ่น คอมพิวเตอร์ (Open Computer Project) โครงการที่เปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสาธารณูปโภคสำหรับคอมพิวเตอร์ โครงการดังกล่าวทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์ข้อมูลเฟซบุ๊กนั้นดีกว่าศูนย์ข้อมูลอื่นถึงร้อยละ 38 แต่มีต้นทุน ต่ำกว่าร้อยละ 24 ขณะที่ศูนย์ข้อมูลของกูเกิลที่ตั้งอยู่ในมลรัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา ก็ใช้พลังงานลมเป็นหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีปริมาณมากพอสำหรับรองรับการขยายตัวของข้อมูลที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น

 

 

remote_image_1332918777.jpg

 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคตที่อุปกรณ์เครื่องใช้อาจเชื่อมต่อกันมากกว่า 50 พันล้านชิ้น สภาพสังคมและเศรษฐกิจจะเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่คำนึงถึงผู้ใช้เกือบทุกย่างก้าวของชีวิตและความยั่งยืนของโลกใบนี้ แต่ความสะดวกสบายดังกล่าวก็มาพร้อมความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลที่อาจจะต้องมีการบริหารจัดการเช่นกัน

สหภาพยุโรปได้จัดตั้งกลุ่มวิจัยอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง ยุโรป (IoT European Research Cluster) เพื่อพัฒนาแผนการลงทุนสาธารณูปโภคต่างๆ ด้วยเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในการสร้างภาษากลางของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สำหรับสิ่งของ (Internet of Things) คน (Internet of people) สื่อ (Internet of Media) และบริการ (Internet of Service) ให้สามารถสื่อสารกันอย่างไร้รอยต่อ ดังนั้น การวางแผนเพื่อส่งเสริมงานวิจัยที่ผลิตขึ้นจึงไม่มีแค่ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการสร้างมาตรฐาน แต่ยังต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยของข้อมูลและการป้องกันความเป็นส่วนตัว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานในการปล่อยให้ข้อมูลส่วนตัวนั้นถูกเก็บจากเซ็นเซอร์ที่มีอยู่รอบทิศทางและไม่ให้ถูกนำไปใช้อย่างบิดเบือน

 

 


Bye Bye Data Slavery
ในโลกที่เฟซบุ๊ก แอมะซอน สามารถเก็บข้อมูลของลูกค้าผ่านพฤติกรรมการใช้งาน และการแชร์เรื่องราวไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อกลับมาเสนอบริการที่โดนใจ เจนนิเฟอร์ ลิน มอโรน (Jennifer Lyn Morone) จึงคิดว่าทำไมคนเราไม่เอาข้อมูลของตัวเองมาหาเงินเสียเอง

เธอตั้ง บริษัทเจแอลเอ็ม อิงค์ (JLM Inc) ขึ้นเพื่อแสดงใหเห็นว่าทุกคนสามารถเป็นซีอีโอบริษัทขายข้อมูลของตัวเองได้ โดยเธอร่วมกับเพื่อนชาวเทคโนโลยีพัฒนาระบบมัลติเซ็นเซอร์ที่เธอจะสวมไว้ตลอดเวลา และแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า โดม (Database of Me หรือ DOME) เพื่อเก็บและบริหารข้อมูลของเธอ ทั้งชีวิต ประสบการณ์ ความสามารถ รวมถึงข้อมูลทางพันธุกรรมและศักยภาพอื่นๆ แล้วนำมาตั้งราคาขาย
เป้าหมายของเจนนิเฟอร์คือการสร้างแพลตฟอร์มที่ผู้คนทั่วไปจะใช้แอพพลิเคชั่นนี้เป็นนายหน้าขายตัวเอง เพราะแอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยในการกำหนดราคาในการขาย ให้เช่า หรือแลกเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่น เธอขายพลาสมาในเลือดที่ราคา 1,650 บาท (50 เหรียญสหรัฐฯ) การบริจาคไขกระดูกมูลค่า 168,300 บาท (5,100 เหรียญสหรัฐฯ) และไข่ในราคาที่แพงมาก 5,610,000 บาท (170,000 เหรียญสหรัฐฯ) ด้วยเหตุผลที่ว่ามีจำนวนจำกัดตามอายุที่มากขึ้น อย่างไรก็ดีแม้กิจการของเธอยังอยู่ในช่วงทดลอง เพราะบริการบางอย่างยังอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์และตั้งราคา แต่อย่างน้อยความพยายามของเธอก็ทำให้ตระหนักว่าข้อมูลส่วนบุคคลนั้นมีค่ามากกว่าที่หลายคนคิด และถ้าหากเราสามารถควบคุมข้อมูลของเราได้เอง ก็จะสามารถหาเงินได้ไม่ต่างจากบริษัทต่างๆ ที่นำหน้าเรื่องการใช้ข้อมูลของคนทั่วไปมาทำธุรกิจไปแล้ว
ที่มา: เรียบเรียงจาก jenniferlynmorone.com และบทความ “Who Owns Your Personal Data?” จาก economist.com


เรื่อง: มนฑิณี ยงวิกุล

ที่มา