The Future of Fashion is Here ตอนที่ 1 : แฟชั่นแห่งโลกอนาคต
Technology & Innovation

The Future of Fashion is Here ตอนที่ 1 : แฟชั่นแห่งโลกอนาคต

  • 01 Sep 2014
  • 6100
cover1.1.jpg

 

คำว่า “แฟชั่นแห่งโลกอนาคต” อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว บ่อยครั้งที่เรามักนึกถึงภาพการแต่งกายจากภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในชุดหมีสีเงินเมทัลลิกที่มาพร้อมกับคุณสมบัติในการกันน้ำ ลม ไฟ ซึ่งดูแล้วเหมือนเป็นชุดที่ใส่ไม่ได้จริงและไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ววัน ยิ่งไปกว่านั้น"แฟชั่นแห่งโลกอนาคต" ยังมีคำนิยามที่กว้าง และส่วนหนึ่งถูกนำมาสร้างเป็นเทรนด์และใช้ทางการตลาดของวงการแฟชั่นอีกด้วย

โลกที่หมุนเร็วขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยที่เราไม่รู้ตัว ไม่เว้นแม้กระทั่งภาคส่วนของแฟชั่น ที่ได้ชื่อว่ามีประวัติศาสตร์ยาวนาน ซึ่งแบรนด์ใหญ่หรือไฮแบรนด์มักจะให้คุณค่ากับเรื่องราวเก่าๆ ในอดีตและหยิบขึ้นมาใช้ในการออกแบบอยู่เสมอ ทำให้เกิดเสื้อผ้าสไตล์ “คลาสสิค” ที่เราเห็นคุ้นตากันอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่แท้จริงแล้วในความคลาสสิกนั้นยังมีนวัตกรรมด้านวัสดุและสิ่งทอที่ได้รับการพัฒนาอยู่เสมอ และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงนี้ก็มาพร้อมกับแนวคิดของโลกในวันข้างหน้าที่อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีเงินหมุนเวียนกว่า 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และรูปแบบการบริโภคของผู้คนไปตลอดกาล

 

 

ชุดนักบินอวกาศในโลกอนาคตที่ เจน ฟอนดา (Jane Fonda) ผู้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่องบาร์บาเรลล่า(Barbarella) ในปี 1968 ออกแบบโดย ปาโก ราแบนน์(Paco Rabanne) และ ฌาก ฟอนเทอเรย์(Jacques Fonteray) แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมวัสดุและสิ่งทอล้ำสมัยที่ไม่เคยถูกใช้มาก่อน เช่น การหล่อพลาสติกใสและการใช้ผ้ายืดเนื้อโปร่งคล้ายถุงน่องที่โอบกระชับร่างกาย

เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองวิถีการใช้งาน
การหยิบเอานวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและชูเป็นจุดขายเกิดขึ้นเรื่อยมา โดยเฉพาะการออกแบบเครื่องแต่งกายกีฬาของสปอร์ตแบรนด์ชั้นนำ ที่มุ่งเน้นการเลือกใช้วัสดุหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ของการใช้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และตัวอย่างของการพัฒนาคุณภาพสินค้าด้วยนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของแฟชั่นกีฬาในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 คงหนีไม่พ้นการที่ไนกี้ (Nike) ส่ง "ไนกี้ แอร์ (Nike Air)" ออกมาตีตลาดช่วงทศวรรษ 1990 ด้วยนวัตกรรมการบรรจุแก๊สเข้าไปยังแคปซูลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของส้นรองเท้าผ้าใบ เพื่อรับแรงกระแทกและเพิ่มความเบาสบายในการเคลื่อนไหวยามสวมใส่

การเปิดตัวของไนกี้ แอร์ ที่ออกแบบโดย Tinker Hatfield (คนเดียวกับที่ออกแบบ Air Jordan III) ในตอนนั้นคือนวัตกรรมสุดล้ำที่กระตุ้นวงการสปอร์ตแวร์ให้ตื่นตัวและกลายเป็นธุรกิจทำเงินมากมาย จากวันนั้นจนถึงวันนี้ วงการเสื้อผ้าสไตล์สปอร์ตแวร์ยังคงพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาการดีไซน์ให้มีรูปลักษณ์ที่ล้ำสมัยตามไปด้วย

 

 

 

 

ในปี 2005 อาดิดาส (Adidas) จึงลงทุนจ้าง สเตลลา แมคคาร์ทนีย์ (Stella McCartney) ดีไซเนอร์อังกฤษคนดังมานั่งแท่นออกแบบเสื้อผ้ากีฬาสำหรับผู้หญิง และสร้างไลน์ใหม่โดยใช้ชื่อว่า Stella McCartney for Adidas เพื่อดึงตลาดลูกค้าสายแฟชั่นให้หันมาเลือกอาดิดาส

แมคคาร์ทนีย์ไม่เพียงมุ่งเน้นการดีไซน์ที่มีความเป็นแฟชั่นมากขึ้นเท่านั้น แต่เสื้อผ้าของเธอยังเหมาะกับกิจกรรมกีฬาในแต่ละประเภท เช่น วิ่ง ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ และโยคะ เธอหลงใหลในเทคโนโลยีสิ่งทอและคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิม ในแต่ละฤดูกาล เธอจึงผลักดันให้คอลเล็กชั่นที่ทำร่วมกับอาดิดาสมีพัฒนาการอยู่เสมอ ในคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2014 แมคคาร์ทนีย์เลือกใช้เส้นใยรีไซเคิล (Recycled Yarn) และผ้าฝ้ายออร์แกนิกที่ผ่านกระบวนการย้อมสีซึ่งสร้างของเสียจำนวนน้อย (Low-Waste Dyeing Process) เป็นวัสดุหลัก นำเทคโนโลยีพิเศษของอาดิดาส Climaheat มาปรับใช้กับกางเกงวิ่ง เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายขณะวิ่งท่ามกลางอากาศหนาวแต่ยังระบายเหงื่อได้ดี รวมถึงการใช้เทคโนโลยี Recco Geolocation โปรแกรมบอกจุดพิกัดของผู้สวมใส่มาใช้ในแจ็กเก็ตเล่นสกี

ฤดูใบไม้ผลิ 2014 ไนกี้ออกคอลเล็กชั่นรองเท้า Nike Air Max 90 Jacquard ซึ่งใช้เทคโนโลยีการทอแบบ Jacquard ซึ่งมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เพื่อให้รองเท้ามีความยืดหยุ่นและน้ำหนักเบา

 

 

 

 

การดึงเอาเทคโนโลยีการใช้วัสดุล้ำยุคไม่ได้จบแค่นั้น จากสปอร์ตแบรนด์มาถึงแมสแบรนด์ที่มีเสื้อผ้าดีไซน์เรียบไว้ขายกลุ่มคนหมู่มาก แม้จะไม่เน้นในเรื่องของความล้ำในสไตล์ของเสื้อผ้า แต่แมสแบรนด์ก็ยินดีที่จะทุ่มทุนสร้างเพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเช่นกัน

ในปี 2008 ชื่อเสียงของเสื้อยืดตัวในที่ใส่แล้วช่วยกันหนาวได้เริ่มเป็นที่รู้จัก และทำให้คนจำนวนมากเริ่มหันมาสนใจในเทคโนโลยีของเนื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่ นวัตกรรม HEATTECH มาพร้อมกับคุณสมบัติพิเศษของใยผ้าที่ช่วยดูดความร้อนจากร่างกายมาเก็บกักไว้เพื่อให้ผู้สวมใส่ได้รับความอบอุ่นโดยไม่เก็บกักความชื้น นั่นหมายความว่าเมื่อเสื้อโดนน้ำจะแห้งเร็วเป็นพิเศษ HEATTECH ประกอบด้วยใยผ้าไฟเบอร์ 4 ชนิดที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน เช่น ไมโครอะคริลิกช่วยเก็บกักความร้อน โพลีเอสเตอร์ทอพิเศษทำให้ผ้าแห้งไวขึ้น นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติแอนตี้แบคทีเรียที่ป้องกันกลิ่นอับชื้นอีกด้วย แน่นอนว่ายอดขายเปิดตัวครั้งแรกได้รับการตอบรับอย่างถล่มทลาย จนถึงปี 2013 สินค้ากลุ่ม HEATTECH จำนวนกว่า 300 ล้านชิ้นได้ถูกจำหน่ายออกไปทั่วโลก

 

 

 

 

วันนี้น้อยคนที่จะไม่รู้จัก HEATTECH ซิกเนเจอร์ไอเท็มของ ยูนิโคล่ (Uniqlo) แบรนด์ญี่ปุ่นชื่อดังจากฮิโรชิมาที่ผสมผสานนวัตกรรมเข้ากับผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเมื่อยูนิโคล่มองตัวเองเป็น Technology Company ไม่ใช่ Fashion Company ยูนิโคล่จึงทุ่มเทในเรื่องของเทคโนโลยีมากกว่าที่จะวิ่งตามเทรนด์  ปัจจุบัน ยูนิโคล่ยังมีการพิจารณาคอมเมนต์จากลูกค้าในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์มากกว่า 90,000 คอมเมนต์ต่อปี เช่น การปรับเนื้อผ้าของ HEATTECH ให้นุ่มขึ้นและยังรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังเอาไว้ และยังคงผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น Dry Stretch Pant กางเกงที่ผลิตขึ้นจากใยโพลีเอสเตอร์ที่เบาบางเป็นพิเศษ 100% ซึ่งยูนิโคล่ผลิตร่วมกับโทเร อินตัสตรี (Toray Industrie)

ยูนิโคล่ปฏิวัติการออกแบบเสื้อผ้าศึกษาวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนเป็นหลัก ในปี 2013 ยูนิโคล่ได้เปิดตัวโปรเจ็กต์ “ ไลฟ์แวร์ (Lifewear) “ ซึ่งประกอบไปด้วย 12 โปรเจ็กต์ย่อย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ HEATTECH ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก


อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
The Future of Fashion is Here ตอนที่ 2 : เครื่องมือสนับสนุนการดีไซน์แฟชั่นในวันหน้า
The Future of Fashion is Here ตอนที่ 3 : การสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องกับผู้นำเทรนด์แฟชั่น
The Future of Fashion is Here ตอนที่ 4 : คืนทุนโลกด้วยแฟชั่น