TREND2018: Transportation and Space 01 แรงและเร็ว
Technology & Innovation

TREND2018: Transportation and Space 01 แรงและเร็ว

  • 04 May 2018
  • 12142

©adamskolnick.com
 

Hyperloop

ท่ามกลางวิกฤตสงครามกลางเมือง แม้จะเป็นช่วงยุคมืดแห่งประวัติศาสตร์อเมริกา แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นการเกิดขึ้นของหนึ่งในสงครามอุตสาหกรรมที่แท้จริงครั้งแรกๆ ของโลก เพราะวิกฤตการณ์ครั้งนั้น มีส่วนให้โทรเลข เรือกลไฟ และอาวุธ ถูกผลิตเป็นจำนวนมากและมีการใช้กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งพัฒนาโดยนายพลวิลเลียม ทีคัมเซห์ เชอร์แมน (William Tecumseh Sherman) ในรัฐจอร์เจีย รวมทั้งเส้นทางรถไฟที่เชื่อมรัฐต่างๆ ให้รวมอยู่ด้วยกันระยะทางกว่า 2,000 ไมล์ นับเป็นการสร้างความเป็นไปได้ครั้งใหม่ ทั้งยังเป็นตัวอย่างอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ช่วยสร้างความยิ่งใหญ่ให้สหรัฐฯ ในการก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจในอีก 150 ปีถัดมา

ภายใต้นโยบาย Make America Great Again เส้นทางการเชื่อมต่อที่เคยเกิดขึ้นในอดีตนี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งภายใต้ความสนใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และอีลอน มัสก์ อดีตทีมที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาว ด้วยการอนุมัติให้เดินหน้าก่อสร้างระบบขนส่งแบบ “ไฮเปอร์ลูป” (Hyperloop) ที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองบอสตันต่อเนื่องถึงใจกลางนครนิวยอร์ก และเชื่อมกับกรุงวอชิงตัน ดีซี ระบบการขนส่งสาธารณะความเร็วสูงแบบดังกล่าว อีรอน มัสก์ เรียกว่า “การเดินทางในโหมดที่ 5 (Fifth mode)” ซึ่งหมายถึงการเดินทางในรูปแบบใหม่ที่เหนือกว่าเครื่องบิน รถไฟ รถยนต์ และเรือ โดยใช้สำหรับการเดินทางข้ามเมืองในระยะทางที่น้อยกว่า 1,400 กิโลเมตรในอัตราความเร็วที่สูงมาก โดยหลักการของไฮเปอร์ลูปนั้นจะคล้ายกับระบบรถไฟรางเดี่ยว คือการขนส่งผู้คนแบบยิงตรงจากจุด A ไปยังจุด B แบบไป-กลับในระยะทางที่แน่นอน ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวเป็นคอนเซ็ปต์ที่เคยใช้กับรถไฟใต้ดินกับ Pod ที่ช่วยขนส่งผู้คนในระยะไกลอย่าง 

Vactrain หรือ Swissmetro ที่เคยถูกคิดขึ้นในราวช่วงปี 1960 แต่ระบบ Hyperloopของอีลอน มัสก์นั้น ก้าวล้ำไปอีกหลายขั้น ด้วยนวัตกรรมขดลวดแม่เหล็กที่ใช้ขับเคลื่อนซึ่งอยู่ที่ตัวรถ (ที่เรียกว่า Pod) ในอุโมงค์สุญญากาศซึ่งไร้แรงเสียดทาน จึงสามารถสามารถเพิ่มความเร็วขึ้นได้จนสูงมากถึงระดับเกือบ 300 เมตร/วินาที หรือเร่งความเร็วได้ถึง 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเทียบกับเครื่องบินที่ 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดย Hyperloop นั้นยังใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รวมถึงโซล่าร์เซลล์ที่เป็นพลังงานสะอาด เมื่อเทียบกับเครื่องบินที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง

©bbc.com
ตารางเปรียบเทียบการเดินทางต่างๆ เมื่อเทียบกับไฮเปอร์ลูป ตั้งแต่ช้าสุดโดยรถประจำทาง ไล่มาเป็นรถส่วนตัว เครื่องบิน รถไฟหัวกระสุน และไฮเปอร์ลูป ที่เร็วที่สุด
 

ย้อนหลังกลับไปโปรเจ็กต์เริ่มต้นภายใต้ชื่อแผนงาน Hyperloop Alpha ในปี 2013 หัวข้อคุณสมบัติหลักที่ต้องการนั้น ได้แก่ ความปลอดภัย ความรวดเร็วในการเดินทาง ต้นทุนการผลิตต่ำ ผู้โดยสารใช้งานสะดวก ทนทานต่อสภาพอากาศ และต้องสามารถซับแรงจากแผ่นดินไหวได้ ซึ่งนับว่าเป็นระบบที่ตรงกับความมุ่งหวังของเมืองใหญ่ทั่วโลกที่ต้องการพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะของตนเองภายใต้ความรวดเร็วและราคาไม่แพง ตลอดจนมีทางเลือกใหม่นอกจากการขุดเจาะ สร้างอุโมงค์ หรือพัฒนาระบบเดิม แต่เป็นการพัฒนาการขนส่งแบบท่อขนส่งขนาดเล็กที่สามารถบริการผู้คนได้จริง โดยเมื่อปลายปี 2015 Hyperloop One และสำนักงานรัฐเนวาดาได้เริ่มจัดการด้านพื้นที่เพื่อทดลองใช้งานระบบ Hyperloop โดยใช้พื้นที่ประมาณ 50 เอเคอร์ทางตอนเหนือของลาส เวกัส และกำหนดความเร็วที่ต้องการในเบื้องต้นคือ 335 ไมล์/ชม. หรือประมาณ 539 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วเพียงครึ่งเดียวของระบบ Hyperloop

©alphabet.com
 

นอกจากนี้เมื่อกลางปี 2016 ที่ผ่านมา การลงทุนก่อสร้างระบบ Hyperloop ได้เกิดขึ้นอีกครั้งโดยเป็นการจับมือกันระหว่างบริษัท Hyperloop One และ The Dubai Roads and Transport Authority หรือ RTA หน่วยงานที่ดูแลด้านการคมนาคมขนส่งของดูไบ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นับเป็นหนึ่งในโครงการ Dubai Future Accelerators ซึ่งจะเปิดโอกาสให้บริษัทนวัตกรรมระดับโลกและหน่วยงานรัฐได้ร่วมมือกันทดสอบโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายสำคัญๆในระดับชุมชนเมืองซึ่งการจับมือกันครั้งนี้ยังทำให้ Hyperloop One ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการตกลงเซ็นสัญญาเพื่อใช้งานจริง และเริ่มต้นวางแผนการก่อสร้างตลอดจนทดสอบระบบในตัวเมือง อย่างในเส้นทางที่จะเชื่อมต่อกรุงอาบูดาบีและดูไบเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางจาก 1.2 ชั่วโมง ให้เหลือเพียง 12 นาทีเมื่อเทียบกับการเดินทางโดยรถยนต์ ทั้งนี้มีกำหนดการเปิดใช้งานจริงของเฟสแรกในปี 2020 – 2021 ทั้งยังมีการพิจารณาเพิ่มเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เช่น การ์ตา ซาอุดิอาระเบีย หรือโอมานในอนาคตด้วย เหนือไปกว่านั้น Hyperloop One ยังเตรียมแผนงานสร้าง Pod พร้อมเส้นทางทั้งแบบขนส่งผู้คนและแบบคาร์โกส่งสินค้าในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกด้วย อาทิ ในสหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย โดยในแต่ละแห่งจะเป็นการลงทุนร่วมกับบริษัทในพื้นที่

©timesfreepress.com
 

แต่ใช่ว่า Hyperloop จะเป็นตัวเลือกเดียวในการเดินทางสาธารณะแห่งอนาคต เพราะล่าสุดท่ามกลางกระแสความนิยมระบบท่อสุญญากาศที่กำลังแพร่ขยายไปทั่วโลก จีนก็กำลังวางแผนสร้างรถไฟ MagLev (Magnetic Levitation ระบบคมนาคมที่ใช้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในการขับเคลื่อนโดยปราศจากล้อ) ที่คาดว่าจะสามารถทำความเร็วสูงได้ถึง 2,485 ไมล์ต่อชั่วโมง (หรือราว 4,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) นั่นคือมีความเร็วสูงกว่าความเร็วเสียงถึงประมาณ 3.26 เท่า และถูกเรียกว่า "รถไฟบิน (Flying Train)" โดยมีบริษัท China Aerospace Science and Industry Corp. (CASIC - บรรษัทการบินอวกาศและอุตสาหกรรมจีน) และหัวหน้าวิศวกร Mao Kai เป็นผู้ดูแล แม้จะไม่มีกำหนดการที่ชัดเจนในการดำเนินการ แต่นี่ก็นับเป็นอีกนวัตกรรมทางด้านการเดินทางสาธารณะสำหรับอนาคตที่น่าจับตามอง

ที่มา:
บทความ “Musk's Hyperloop Plan Is Fantasy, We Should Make It Reality Anyway” จาก forbes.com
บทความ “The Hyperloop: Ambitious Goals and Engineering Challenges” จาก allaboutcircuits.com
บทความ “Why Elon Musk’s Hyperloop Is Mostly Hype” จาก fortune.com
บทความ “HIGH-SPEED AMERICAN DREAMS” จาก adamskolnick.com
บทความ “Hyperloop และปัญหาการจราจร (จล) ของ Elon Musk” จาก  motortrivia.com
บทความ “จีน แข่ง Hyperloop สร้างรถไฟบิน ความเร็ว 2,485 ไมล์ต่อชั่วโมง” จาก brandage.com