TREND2018: Transportation and Space 02 ความก้าวหน้าของยานยนต์ไร้คนขับ
Technology & Innovation

TREND2018: Transportation and Space 02 ความก้าวหน้าของยานยนต์ไร้คนขับ

  • 05 May 2018
  • 13738

The Driverless Revolution

รูปข้างต้นที่เห็น ไม่ใช่ฉากหลังของภาพยนตร์เรื่องใด แต่เป็นเมืองจำลองในชื่อ Mcity หรือที่รู้จักกันในนาม The University of Michigan’s Mobility Transformation Center ที่บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เนรมิตพื้นที่ขนาดราว 32 เอเคอร์ ใช้สำหรับทดสอบรถยนต์แบบไร้คนขับ ครบครันด้วยรูปแบบถนนตั้งแต่ 2 ถึง 4 เลน รวมถึงสี่แยกไฟแดงและสัญญาณจราจรอื่นๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีแบบไร้คนขับ (หรือ AV: Autonomous Vehicle) นั้น เป็นจริงได้ในท้องถนน แม้ว่าคนส่วนใหญ่ยังคงคิดว่ารถยนต์ไร้คนขับเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายต่างยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบการใช้งานนี้อย่างไม่หยุดยั้ง ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานด้านยานยนต์ (Department of Motor Vehicles : DMV) ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกาเอง ที่เพิ่งออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่ออนุญาตให้นำรถยนต์ไร้คนขับมาวิ่งได้อย่างถูกกฎหมาย เช่นเดียวกับกฎหมายของรัฐมิชิแกนซึ่งออกมาเมื่อปลายปี 2016

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการพัฒนาระบบ AV ได้ก้าวหน้าไปอย่างมาก ในเดือนพฤษภาคม 2017 บริษัท Waymo ซึ่งมีบริษัทแม่เดียวกันกับ Google คือ Alphabet Inc. ได้เปิดเผยผลการทดลองระบบไร้คนขับบนถนนจริงมากกว่า 2 ล้านไมล์ และพบว่าเกิดความผิดพลาดน้อยมาก ในขณะเดียวกัน ซีอีโอของ Tesla หรืออีรอน มัสก์ก็ให้คำมั่นว่า ระบบไร้คนขับใหม่จะสามารถขับเคลื่อนรถ Tesla จากนครนิวยอร์กไปถึงนครลอสแอนเจลิสในระยะทางราว 2,800 ไมล์ได้โดยไม่ต้องใช้คนขับเลย เช่นเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Apple ที่ก็เข้ามาร่วมพัฒนาระบบ AV นี้ด้วยโดยใช้ชื่อโครงการว่า Project Titan ขณะที่ค่ายรถยนต์อย่าง BMW ด้านหัวหน้าฝ่ายศึกษาวิจัยและการพัฒนา ก็ออกมาระบุว่าทางค่ายมุ่งที่จะปล่อยรถยนต์รุ่น iNext  ในปี 2021 ที่มีจุดเด่นสำคัญคือระบบปฏิบัติการแบบไร้คนขับระดับสูง ซึ่งคาดว่าจะเป็นเลเวล 5 ซึ่งหมายถึงรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติซึ่งมีความสามารถในการขับขี่เทียบเท่ามนุษย์นั่นเอง

จะเห็นได้ว่าทั้งบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่หรือบริษัทหน้าใหม่ที่มีศักยภาพทางด้านการสร้างนวัตกรรมต่างกำลังลงทุนพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ พร้อมสร้างกลุ่มร่วมทุนใหม่ๆ ซึ่งมีเทคโนโลยีที่เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการดังกล่าวให้รุดหน้า แสดงให้เห็นว่าตลาดได้เปิดรับกลุ่มผู้เล่นใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังแสดงให้เห็นถึงนโยบายของภาครัฐที่เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับยานยนต์ไร้คนขับ ที่คาดว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ในประเด็นหลักๆ ตามที่ Business Insider ไว้สรุปไว้ ตั้งแต่ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุ สืบเนื่องจากระบบอัตโนมัติที่สามารถตอบสนองต่อสภาพภายนอกได้อย่างรวดเร็วกว่ามนุษย์ จึงช่วยให้การขับขี่มีความปลอดภัยมากขึ้น ขณะที่งานวิจัยจาก Eno Centre for Transportation กล่าวว่า หาก 90 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาเป็นรถอัตโนมัติ จะช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และยังจะช่วยลดอัตราการใช้พลังงานด้วยระบบการตัดสินใจอัตโนมัติของรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยการเบรกและการเร่งเครื่องยนต์แบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น ตลอดจนมีการคาดการณ์ว่ายานยนต์ประเภทนี้ยังจะลดอัตราการเกิดคาร์บอนได้สูงถึง 300 ล้านตันต่อปี และเมื่อรถยนต์ขับเคลื่อนได้โดยอัตโนมัติ ผู้ใช้งานก็สามารถใช้เวลาที่เหลือจากการเดินทางไปทำเรื่องอื่นๆ ได้อย่างสบายมากขึ้น ช่วยลดการเกิดรถติด และจะทำให้เราใช้เวลาในการเดินทางสั้นลงอีกด้วย

©motiondigest.com
 

ไม่เพียงด้านนวัตกรรมที่รุดหน้า แต่ยังหมายถึงโมเดลของการครอบครองหรือเป็นเจ้าของด้วย ค่ายรถยนต์ฟอร์ด ได้เปลี่ยนการนิยามตัวเองว่าเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนย้าย (Mobility) และมุ่งเน้นสร้างทางเลือกเพื่อการแก้ปัญหา จิม แฮกเก็ตต์ (Jim Hackett)  ซีอีโอและหัวหน้าฝ่าย Mobility Unit ระบุว่า ยานยนต์ไร้คนขับของฟอร์ดจะนำเสนอตนเองในฐานะผู้ให้บริการด้านการขนส่งร่วมกัน (Ride Hailing Scheme) มากกว่าการซื้อรถยนต์แบบส่วนบุคคล เช่นเดียวกับบริษัท General Motor ที่ลงทุนกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อมีส่วนใน Lyft หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการเรียกรถ ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของ Uber ในสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างกลยุทธ์ด้านเครือข่ายบนธุรกิจผู้ให้บริการเรียกรถแบบไร้คนขับ โดยมุ่งหวังจะตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนเมืองใหญ่ในรูปแบบใหม่ที่นิยมการโดยสารรถร่วมกัน (Car Sharing) อันเป็นอีกทางเลือกในการเดินทางที่น่าสนใจกว่าเพียงการเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ส่วนตัว

และสิ่งที่น่าจับตามองสำหรับยานยนต์ไร้คนขับในไม่กี่ปีจากนี้ก็คือ รถยนต์แบบไร้คนขับจะกลายเป็นยานพาหนะทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้วตั้งแต่ปี 2030 ด้วยบริษัทผู้ผลิตที่หลากหลายจะเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดตั้งแต่ปี 2020 และจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยมีกีฬาโอลิมปิคในปี 2020 ในโตเกียวเป็นกุญแจสำคัญที่จะผลักดันกลไกตลาดรถยนต์แบบไร้คนขับของ Toyota ให้ขับเคลื่อนเข้าสู่ตลาดหลักอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ของคนทั่วไป ขณะที่ระบบปฏิบัติการทั้งจอแบบเอชดี จอแสดงแผนที่แบบเรียลไทม์ ระบบข้อมูบต่างๆ จะทยอยได้รับการพัฒนาและแก้ไขจุดบกพร่องให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับการใช้งานแบบเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา :
บทความ “Ford’s Testing Self-Driving Cars In a Tiny Fake Town” (13 พฤศจิกายน 2015) โดย Alex Davies จาก wired.comบทความ “ทำความรู้จัก Self-Driving Car ฉบับเบื้องต้น” (20 เมษายน 2017) จาก techtalkthai.com
บทความ “รถยนต์ไร้คนขับอาจมาถึงเร็วเกินคาด?” (19 มิถุนายน 2017) โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ รวบรวมและหาข้อมูลโดย ณิชมน รุ่งโรจน์ จาก bangkokbiznews.com