Another I
Technology & Innovation

Another I

  • 01 Oct 2018
  • 11566

มนุษย์รู้จักสรรหาและสร้างสรรค์เครื่องไม้เครื่องมือนานาชนิดมาช่วยให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ จากเครื่องมือหินของมนุษย์โบราณ งานหัตถกรรมจักสานเพื่อการประกอบอาชีพทางการเกษตร มาจนถึงการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้คนทุกระดับของสังคมเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องลงมือผลิตด้วยตนเอง และการเข้าสู่โลกเสรีของอินเทอร์เน็ต ตลอดจนวิวัฒนาการล่าสุดอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่ก้าวเข้ามาข้องเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนทั่วไปมากขึ้น จนเรียกได้ว่าอยู่ในแทบทุกมิติของชีวิตเรา

เราต่างชื่นชมยินดีกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้ชีวิต ซึ่งช่วยทั้งประหยัดเวลา ลดต้นทุน ประหยัดทรัพยากร และหลายต่อหลายครั้งที่มันรู้ใจและเข้าถึงความต้องการลึกๆ ของเราได้อย่างน่าประหลาด เราไว้เนื้อเชื่อใจและพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นที่เราเองก็อดที่จะรู้สึกแคลบแคลงกับวิวัฒนาการเหล่านี้ไม่ได้ว่า เมื่อ AI วิวัฒน์ไปถึงจุดที่ฉลาดเหนือมนุษย์แล้ว นั่นจะเป็นจุดจบของมนุษยชาติหรือไม่

มีงานวิจัยมากมายที่กล่าวถึงวิวัฒนาการของ AI ในหลากหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นการก้าวสู่ Super AI ที่มีพัฒนาการในขีดสุดทั้งระดับสติปัญญา ระดับจิตสำนึก และระดับการหยั่งรู้ตนเอง การพยายามค้นหาคำตอบว่าคอมพิวเตอร์จะสามารถ “คิด” ได้หรือไม่ และหากมันสามารถคิดได้เช่นเดียวกับมนุษย์ หรือแม้กระทั่งมีความฉลาดทางอารมณ์ และเข้าใจความรู้สึกต่างๆ ของคน AI ที่ยิ่งขยับเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์เช่นนี้ จากผันตัวเองจากบทบาทของการเป็น “ผู้ช่วยอัจฉริยะ” มาสู่อะไรที่มากกว่านั้นได้อย่างไม่จำกัดจริงหรือเปล่า

ยิ่งมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด มีขีดความอดทนต่ำ ไม่สม่ำเสมอ ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ไม่มากเท่าเครื่องจักร แถมยังเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่คาดเดาได้ยาก ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เราเริ่มหวาดกลัวว่า เมื่อ AI ก้าวข้ามความเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะของมนุษย์มาได้ มันจะกลายมาเป็นผู้ที่ทำงานทดแทนเราได้อย่างสิ้นเชิงหรือไม่ และแม้แต่กลายเป็นผู้ที่คุกคามมนุษย์ได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวคิดอีกมากมายที่เชื่อมั่นว่า AI ยังคงไม่สามารถวิวัฒน์มาสู่การเป็นภัยคุกคามของมนุษย์ ตราบใดเรายังมีทักษะอีกมากที่ปัญญาประดิษฐ์(ยัง)ไม่สามารถก้าวตามได้ทัน โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ทักษะการรับรู้และการตอบสนองที่ซับซ้อน ความคิดสร้างสรรค์ หรือทักษะทางสังคมขั้นสูง เช่น การทำเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง (empathy) ที่ AI ยังไม่สามารถทำได้ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่งนับจากนี้ และแทนที่เราจะมานั่งวิตกกังวลกับความก้าวล้ำของ AI ก่อนจะถึงเวลานั้น เราอาจต้องเริ่มจากการละวางอคติลงก่อน เพราะสุดท้ายแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ก็คือภาพสะท้อนถึงวิวัฒนาการและความต้องการอันเป็นเนื้อแท้ของมนุษย์นั่นเอง

เมื่อมนุษย์ยังคงสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นต่อกันและกันได้ หรืออีกทางคือ ตราบใดที่มนุษย์ยังเป็นภัยต่อมนุษย์ด้วยกันเอง การสร้าง AI ที่สามารถเลียนแบบมนุษย์ได้แทบทุกอย่างจะมีค่าอะไร ถ้าเราไม่พัฒนาเผ่าพันธุ์ของเราเองให้ดีเสียก่อน

กิตติรัตน์ ปิติพานิช
บรรณาธิการอำนวยการ