เพลิดเพลินอย่างสร้างสรรค์ที่ PLEARN Space
Technology & Innovation

เพลิดเพลินอย่างสร้างสรรค์ที่ PLEARN Space

  • 01 Oct 2018
  • 24532

เราได้ยินกันอยู่ตลอดว่า “การศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน” และคงจะดีไม่น้อย หากจะมีพื้นที่ที่ทั้งสะดวกสบายและปลอดภัยไว้รองรับเวลาที่ต้องการพักผ่อน อ่านหนังสือ เขียนรายงาน นั่งประชุมระดมความคิด หรือแม้แต่จะจัดกิจกรรมเล็กๆ ที่สร้างสรรค์ภายในรั้วมหาวิทยาลัยของเราเอง โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล

สิ่งที่กล่าวทั้งหมดได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดตัวสถานที่ใหม่ชื่อว่า “PLEARN Space” โดยร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย สร้างพื้นที่สร้างสรรค์สุดเพลินให้กับนิสิตยุคใหม่ได้เข้ามาใช้เวลาและทำกิจกรรมมากมายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภายใต้รูปแบบ Digital Co-learning Space โดย PLEARN Space ถูกเนรมิตขึ้นบริเวณชั้น 1 ของอาคารเปรมบุรฉัตร ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ใจกลางมหาวิทยาลัย (ตรงข้ามกับศาลาพระเกี้ยว) PLEARN Space เป็นพื้นที่การเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “CU NEX” ที่ทำให้ทุกคนได้ “Learn” และ “Play” กับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย และมีศักยภาพพร้อมก้าวสู่โลกยุคดิจิทัล ผลักดันให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก้าวสู่การเป็น “Digital Lifestyle University” โดยในเฟสแรกนี้มีจิ๊กซอว์สำคัญคือ “CU NEX Application” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน สำหรับชาว จุฬาฯ เป็นแอปที่เชื่อมโยงข้อมูลครอบคลุมทุกอย่างในรั้วจุฬาฯ ของนิสิต อาจารย์ และบุคลากร ทั้งด้านการเรียนการสอน ไลฟ์สไตล์ การเงิน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพของบุคลากรในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น อัพเดทตารางเรียนนิสิต ตารางสอนอาจารย์ การค้นหาตำแหน่งห้องเรียนและตึกเรียน การเช็กสถานะการเดินรถสาธารณะ การจองพื้นที่ส่วนรวมต่างๆ เพื่อเข้าใช้งาน หรือแม้แต่การจ่ายค่าเทอม ค่าอาหารในโรงอาหาร

ในส่วนพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันของนิสิตอย่าง PLEARN Space ภายในมีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ไว้คอยอำนวยความสะดวกให้แก่นิสิตที่เข้ามาใช้งานอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นตู้เก็บของส่วนตัว เครื่องพิมพ์เอกสารที่สั่งพิมพ์ได้ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ พื้นที่นั่งอ่านหนังสือสำหรับทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม ห้องประชุมที่พร้อมไปด้วยอุปกรณ์ดิจิทัลสุดล้ำเพื่อนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เท่านั้นยังไม่พอ PLEARN Space ยังมีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ขาดไปไม่ได้ในยุค 4.0 อย่างปลั๊กไฟและสัญญาณอินเทอร์เน็ตเร็วปรี๊ดให้เสร็จสรรพ หมดปัญหาแบตเตอรี่หมดระหว่างทำงาน เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ “ครบวงจร” แห่งใหม่ล่าสุดของประชาคมชาวจุฬาฯ เลยทีเดียว

นิสิตหลายคนต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า “PLEARN Space เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การมานั่งเล่น พูดคุย และอ่านหนังสือ” เนื่องจากบริเวณโดยรอบนั้นมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ต่างจากพื้นที่อ่านหนังสือแบบเดิมๆ จึงช่วยพัฒนาให้ไอเดียเกิดใหม่และไหลแล่นได้เป็นอย่างดี ทั้งช่องแสงสวยๆ จากธรรมชาติที่พอเหมาะ การตกแต่งภายในที่ใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้โทนสีสบายตา ยังมีต้นไม้ใบหญ้า ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ร่มรื่นกลมกลืนไปกับพื้นที่สีเขียวนอกอาคาร ที่สำคัญสิ่งประทังความหิวก็ไม่ขาด เพราะที่นี่จัดเต็มด้วยตู้จำหน่ายขนมและเครื่องดื่มอัตโนมัติที่มาตั้งอยู่ด้านใน โดยชาว  จุฬาฯ ก็ไม่ลืมที่จะสร้างค่านิยมที่ถูกต้องในการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ ด้วยการนำถังขยะสีต่างๆ มาตั้งไว้รณรงค์การแยกขยะอย่างถูกวิธี จะว่าไปแล้ว ที่นี่จึงเหมาะแก่การเข้ามานั่งเล่นผ่อนคลาย พร้อมได้คิดงาน อ่านตำรา สมกับที่เขาว่ากันไว้จริงๆ

ไม่ใช่แค่เพลิน แต่กิจกรรมก็เดินไปได้พร้อมกัน
นอกจากความตั้งใจที่จะทำให้ PLEARN Space เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เหมาะกับเยาวชนคนรุ่นใหม่แล้ว ที่นี่ยังถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย อย่างล่าสุดก็มีการเปิดตัวโครงการ ECOLife หนึ่งในโครงการดีๆ ภายใต้แคมเปญใหญ่  Chula Zero Waste ที่ชักชวนให้ชาวจุฬาฯ หันมาใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้แอปพลิเคชันรักษ์โลก ซึ่งจะคอยกระตุ้นให้ผู้ใช้ช่วยกันลดปริมาณการใช้งานขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use plastic) ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทิ้งกันมากที่สุดในระยะเวลาที่สั้นที่สุดลง เช่น ถุง หลอด แก้ว และช้อนส้อม เป็นต้น 

เพราะสมัยนี้อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แม้กระทั่ง “การเรียนรู้” ที่จะขาดเทคโนโลยีและการเชื่อมต่อไปไม่ได้ การเรียนรู้สมัยใหม่จึงต้องหลุดจากกรอบความคิดเดิมๆ หรือพื้นที่เดิมๆ เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองความคิดที่ต่างออกไป เห็นได้ชัดจากการตอบรับของเหล่านิสิตจุฬาฯ ยุคมิลเลนเนียลที่ชื่นชอบการเข้ามาใช้บริการพื้นที่สร้างสรรค์ ณ PLEARN Space ที่มีบรรยากาศแบบ “PLAY” and “LEARN” กันอย่างแน่นขนัด  #CUNEX #PLEARNSPACE 

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร l ภาพ : ภีร์รา ดิษฐากรณ์