เกษตรทฤษฎีใหม่ กับยุคดิจิทัล CAT Digital Come Together พาเทคโนโลยีสู่ชุมชน ต่อยอดการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกยุคปัจจุบันคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า อินเทอร์เน็ต ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสอดรับความต้องการของมนุษย์ และยังเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของธุรกิจยุคใหม่ เช่นเดียวกับภาคการเกษตรของไทยที่ได้พัฒนาสู่การเป็น SMART FARM มีการนำเทคโนโลยี SMART AGRICULTURE 4.0 เข้ามาใช้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร
แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตเราจะพบว่า การแก้ปัญหาด้านการพัฒนาการเกษตรกรรมไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุค DIGITAL TRANSFORMATION หากแต่เกิดมาแล้วกว่า 70 ปี ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นคือ “เกษตรทฤษฏีใหม่” เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมุ่งแก้ปัญหาด้านการพัฒนาการเกษตรกรรมมาตลอดรัชสมัยของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้มากขึ้น ทั้งในด้านเทคนิคและวิชาการเกษตรสมัยใหม่ ทรงมุ่งแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ หรือเรื่องความไม่แน่นอนของธรรมชาติ ความผันผวนของตลาด เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
เกษตรทฤษฎีใหม่ กับเทคโนโลยี INTERNET OF THINGS (IoT)
กสท โทรคมนาคม หรือ CAT TELECOM จึงได้คิดโครงการต่อยอดนำแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่มาผสานเข้ากับเทคโนโลยี อย่าง BIG DATA และ INTERNET OF THINGS (IoT) ที่ได้พัฒนาขึ้น เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในการเพาะปลูก สภาพภูมิอากาศ และระบบรดน้ำอัจฉริยะ ทำให้เกษตรกรมีข้อมูลสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้ล่วงหน้า ช่วยเพิ่มผลผลิต และประหยัด ต้นทุนค่าใช้จ่าย เกิดเป็นการทำ “เกษตรแม่นยำ” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “SMART FARMER”
“เมื่อปี 2560 ทาง CAT TELECOM ได้เกิดโครงการ “CAT LEARNING CENTER” เป็นการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชน แต่เมื่อเข้าปี 2561 เราจึงเปลี่ยนเป็น “CAT DIGITAL COME TOGETHER” เพื่อสอดคล้องกับนโยบาย THAILAND 4.0 ที่เน้นการขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม เพราะเราเชื่อว่าเทคโนโลยีกับการทำเกษตรสามารถไปด้วยกันได้จึงเกิดเป็น SMART FARM หรือเกษตรอัจฉริยะ” ตัวแทนทีมงานจากฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ CAT DIGITAL COME TOGETHER ที่เกิดจากแนวพระราชดำริกับเทคโนโลยี INTERNET OF THINGS (IoT)
เพราะน้ำคือหัวใจสำคัญในเกษตรกรรม
“ซึ่งเราได้มีการสำรวจความต้องการหรือปัญหาของเกษตรกรจึงพบว่า ปัญหาใหญ่ ๆ ของเกษตรกรไทยคือเรื่องระบบการรดน้ำในแปลงใหญ่ แต่เดิมการรดน้ำจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างคน เสียเวลาในการให้น้ำ ดังนั้นการมีเทคโนโลยีระบบการรดน้ำอัจฉริยะจะช่วยร่นเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการจ้างคน เกษตรกรจึงสามารถนำเวลาที่เหลือกับเงินตรงส่วนนี้ไปต่อยอดทำธุรกิจ ด้วยการปลูกพืชพรรณชนิดอื่นๆ นำผลผลิตมาแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตัวเอง”
ติดตั้งฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย
“เกษตรกรสามารถสั่งรดน้ำได้จากระยะไกล เพียงแค่กดที่แอพพลิเคชั่นทางสมาร์ทโฟน และการทำงานของ INTERNET OF THINGS ยังช่วยเรื่องความแม่นยำในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งพวกเขายังสามารถตรวจสอบได้ว่า วันไหนเหมาะแก่การเก็บเกี่ยว อุณหภูมิของวันนี้เป็นอย่างไร โดยระบบ INTERNET OF THINGS จะทำการวิเคราะห์สภาพภูมิฟ้าอากาศ และวัดความชื้น ผ่านการทำงานด้วยระบบ LoRa เพื่อให้เกษตรกรเกิดมูลค่าในการทำเกษตร ทั้งหมดนี้เกษตรกรจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบรดน้ำอัจฉริยะ”
ประหยัดเงิน ร่นเวลา ต่อยอดผลผลิต
ทางโครงการได้เข้าไปติดตั้งระบบการจัดการน้ำในพื้นที่ปลูกพืชของโรงเรียนเทศบาล ๓ บ้านต่ำบุญศิริ จังหวัดนครนายก
“เดิมทีค่าน้ำในโรงเรียนสำหรับเด็กนักเรียนที่ใช้ก็แพงมากอยู่แล้ว ถ้าเราปลูกผักเพื่อการเรียนรู้ ก็จะยิ่งเพิ่ม ค่าน้ำจะยิ่งแพงขึ้นไปใหญ่ เราจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไรดี” สิริวรรณ บุญลือ ครูชำนาญการพิเศษ ได้เล่าให้ฟังถึงปัญหาเรื่องน้ำที่ใช้ในโรงเรียน
จากที่คุณครูสิริวรรณ กำลังคิดหาทางแก้ปัญหานี้ได้สักพักหนึ่ง ก็ได้พบกับ “พี่แจ้” ซึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ในบริษัท CAT TELECOM ซึ่งทำเรื่องระบบน้ำอยู่พอดี ทั้งสองก็เลยได้คุยกันถึงปัญหาที่พบและวิธีที่จะพอแก้ไขได้ คุณครูจึงชวนพี่แจ้มาเยี่ยมชมโรงเรียนซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้เห็นพื้นที่จริงของปัญหาการใช้น้ำในการรดพืชผัก ซึ่งปัญหานอกจากค่าน้ำจะแพงแล้ว นักเรียนยังเสี่ยงอันตรายจากการเดินเท้าเข้าไปรดน้ำเองอีกด้วย
“โดยทางทีมงานได้มีการวางท่อน้ำจัดการระบบการปล่อยน้ำอัตโนมัติที่สามารถควบคุมได้ด้วยสมาร์ทโฟน เป็นไปตามแผนที่วางไว้และถ่ายทอดวิธีการใช้งานไปสู่ครูและนักเรียนในโรงเรียนเพื่อเป็นสิ่งที่จะมาทุ่นแรง ลดเวลาและค่าใช้จ่ายต่อไป”
การส่งต่อความรู้สู่ชุมชน
นอกจากนี้ทีมโปรแกรมเมอร์ของ CAT ได้เข้าไปให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีระบบการรดน้ำอัจฉริยะนี้แก่เด็กนักเรียนของโรงเรียนเทศบาล ๓ สอนให้รู้จักทุกกระบวนการตั้งแต่เรียนรู้ระบบอิเลคทรอนิกส์ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ INTERNET OF THINGS เพื่อการเกษตร จากนั้นสอนเขียนโปรแกรมเขียนโค้ท จวบจนทำคำสั่งการรดน้ำติดตัวเป็นความรู้เพื่อนำไปช่วยพัฒนาการเกษตรของครอบครัวอีกทั้งยังสามารถต่อยอดสู่สิ่งที่นักเรียนสนใจในอนาคต เกิดเป็นอาชีพได้อีกด้วย
“ผมคิดว่าระบบรดน้ำอัจฉริยะเป็นประโยชน์ที่เราไม่ต้องมาคอยเดินรดน้ำเองเหมือนแต่ก่อน เราก็ทําระบบรดน้ำอัตโนมัติ เพื่อตรวจว่าอุณหภูมิดินเท่าไหร่แล้วเราถึงจะรดน้ำครับ ก็คือการทดลองตรวจอุณหภูมิของดิน แล้วเปิดสั่งการทางโทรศัพท์ง่ายๆ ไม่ต้องเดินให้เหนื่อยเลยครับ” น้องภูผา ศรีอาวุธ – นักเรียนชั้น ม.1 โรงเทศบาล ๓ บ้านต่ำบุญศิริ