Asif Khan ออกแบบอาคารที่มืดที่สุดในโลก สำหรับโอลิมปิกฤดูหนาว
Technology & Innovation

Asif Khan ออกแบบอาคารที่มืดที่สุดในโลก สำหรับโอลิมปิกฤดูหนาว

  • 06 Mar 2019
  • 20675

เมื่อสารเคมีที่สีดำมืดที่สุดในโลกอย่าง Vantablack ได้รับการพัฒนาเป็น Vantablack VBx2 และเปิดกว้างต่อการใช้งาน สารเคมีที่มีราคาแพงยิ่งกว่าเพชรหรือทองคำ ซึ่งถือครองลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวโดย Anish Kapoor ก็เริ่มเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้าง โดยผู้ที่นำสาร Vantablack VBx2 มาเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด ก็คือ Asif Khan สถาปนิกชื่อดังชาวอังกฤษ ซึ่งนำ VBx2 มาใช้ในการก่อสร้างอาคารพาวิลเลียนในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพย็องซัง ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2018 ที่ผ่านมา

"ผมสามารถจ้องมองไปที่ส่วนหน้าของอาคารได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งก็เคยทำมาแล้วด้วย" สถาปนิกชาวอังกฤษผู้ออกแบบอาคารชั่วคราวที่ทาด้วยสี Vantablack แห่งนี้กล่าว 
 
Vantablack เป็นสารเคมีที่มีสีดำมืดที่สุดในโลก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความหลงใหลแบบดิบๆ ที่หาได้ยาก เมื่อนำ Vantablack มาใช้กับวัตถุทางกายภาพ สีดังกล่าวทำให้วัตถุกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน ทำให้โครงสร้างของแข็งกลายเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในมิติแห่งความเป็นจริง หรือเป็นหลุมดำในห้วงอวกาศ จะดีที่สุดถ้าสัมผัสความดำมืดของ Vantablack ด้วยตัวเอง Vantablack ให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกับคลังพิศวงของโลกเก่าอย่างเช่น ห้องสะสมวัตถุหายาก wunderkammer หรือพิพิธภัณฑ์ Ripley's Believe It or Not สารเคมี Vantablack เหมาะที่จะใช้ในเชิงสถาปัตยกรรม โดยเปิดตัวเป็นครั้งแรก ณ มหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่จัดขึ้นในเมืองพย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมหกรรมนี้เปรียบได้กับละครสัตว์ที่ดีที่สุดของยุคปัจจุบัน 

"ผมสามารถจ้องมองไปที่ส่วนหน้าของอาคารได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งผมก็เคยทำมาแล้ว" Asif Khan กล่าว สถาปนิกชาวอังกฤษผู้นี้ร่วมงานกับ Hyundai บริษัทยนตรกรรมยักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลี ในการสร้างพาวิลเลียนชั่วคราวขนาด 375 ตารางฟุตใน Olympic Park ซึ่งพ่นด้วยสาร Vantablack 

เมื่อมองครั้งแรก ความมืดจากอีกฝั่งหนึ่งของ Olympic Park ที่ไร้ซึ่งความสุนทรีย์ในแง่ของทิวทัศน์ ทำให้พาวิลเลียนนี้แลดูเป็นเหมือนกับลูกบาศก์ที่ฝังด้วยหลอดไฟ LEDs แต่จริงๆ แล้วผนังด้านนอกของพาวิลเลียนมีรูปทรงโค้งเว้า แต่สาเหตุที่ดูเหมือนเป็นผนังเรียบนั้น ก็มาจากคุณสมบัติที่สามารถมองเห็นด้วยตาของ Vantablack 

ในทางเทคนิคแล้ว Khan และ Hyundai Creative Works ซึ่งเป็นทีมด้านการออกแบบของบริษัท Hyundai ได้เลือกใช้ สาร Vantablack VBx2 ซึ่งดูดกลืนแสงได้ 99% เมื่อเทียบกับสารเคมี Vantablack ซึ่งสามารถดูดกลืนแสงได้ถึง 99.965% แต่สาร Vantablack ซึ่งมีสีที่ดำกว่านั้น อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ Anish Kapoor แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นที่โจษจัณฑ์ในวงการศิลปะ นอกจากนั้นสาร Vantablack ยังมีมูลค่าสูงกว่าเพชร และอาจจะไม่เหมาะกับการนำมาพ่นตัวอาคารท่ามกลางสภาพอากาศที่โหดร้ายของเมืองพย็องชัง Asif Khan และ Hyundai Creative Works จึงเลือกใช้สาร Vantablack VBx2 แทน เพื่อเป็นสัญลักษณ์และจำลองถึงความมืดมิดของจักรวาล หลอดไฟ LED ขนาดเล็กจำนวนกว่า 2,000 ดวงที่ฝังอยู่ในพาวิลเลียน Hyundai แห่งนี้ มีตำแหน่งที่ตรงกับดวงดาวที่มองเห็นจาก Olympic Park 

พาวิลเลียน Hyundai แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อโปรโมทกลยุทธ์ของ Hyundai ในการรุกเข้าตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน Ian Lim จาก Hyundai Creative Works กล่าว Lim ยังอธิบายว่าพาวิลเลียน Hyundai ยังเป็นการแนะนำแหล่งพลังงานนี้ “ด้วยวิธีที่เป็นมิตรเพื่อให้คนเข้าใจในเทคโนโลยี”



ห้องแรกภายในพาวิลเลียนแห่งนี้ให้ความสำคัญกับน้ำ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของวัฏจักรของไฮโดรเจน ภายในพื้นที่แกลอรี่ที่เป็นลูกบาศก์สี่เหลี่ยมสีขาวขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ของพาวิลเลียนชักชวนให้ผู้มาเยือนเติมน้ำใส่ภาชนะและเทลงบนแพล็ทฟอร์มที่มีความลาดชันเล็กน้อย พื้นผิวที่เป็นหินอ่อนเทียมเคลือบด้วยสารไม่ละลายน้ำ ทำให้น้ำกลายเป็นหยดน้ำ (เป็นสัญลักษณ์แทนรถ) และไหลไปตามร่องน้ำขนาดเล็กอย่างไม่ติดขัด จนไปสุดที่สระน้ำ (เป็นสัญลักษณ์แทนเมืองเชิงนิเวศในอนาคต) 

ถัดจากห้องแรกไปคือ ห้องจำนวน 4 ห้องที่เป็นตัวแทนของการผลิตเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ห้องแรกเป็นห้องแคบๆ ที่มีแสงไฟอบอุ่นและเพดานที่ลาดชันขึ้นไปด้านบน ซึ่งแสดงถึงพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ใช้ในการแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน จากนั้นก็จะเข้าสู่ห้องถัดไป ซึ่งจำลองภาพไฮโดรเจนด้วยลูกบอลกลมๆ ชุบโครเมี่ยมเหมือนฟองอากาศ ที่ยื่นออกมาจากผนังกระจกด้านข้าง ก่อนที่ไปยังห้องกระจกที่มีลักษณะคล้ายกับห้องก่อนหน้า ห้องนี้ต่อไปปกคลุมด้วยเส้นใยแก้วนำแสงที่มีลักษณะเหมือนไม้เลื้อย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนแผงเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cell stack) ส่วนห้องสุดท้ายก็กลับไปที่เรื่องของน้ำอีกครั้ง โดยมีสปอตไลท์ส่องไปที่แสงระยิบระยับบนกำแพงเรียบและม่านผ้าไหม 

พาวิลเลียนนี้เป็นการทดลองออกแบบฉาก มากกว่าเป็นการออกแบบพื้นที่ จึงไม่ค่อยมีแง่มุมด้านสถาปัตยกรรมให้พูดถึงมากนัก อย่างไรก็ตาม พาวิลเลียนแห่งนี้เป็นเสมือนที่หลบหนีความวุ่นวายของส่วนอื่นๆ ใน Olympic park ซึ่งเต็มไปด้วยที่พักชั่วคราวและตู้คอนเทนเนอร์จากสปอนเซอร์โอลิมปิกรายอื่นๆ แม้ว่าจะไม่สามารถเชื่อมโยงพาวิลเลียนกับหลักวิทยาศาสตร์ได้ดีเท่าไรนัก แต่ห้องต่างๆ ภายในพาวิลเลียนได้มอบประสบการณ์ทางโสตสัมผัสที่ดีเยี่ยม สำหรับการตกแต่งด้านนอกด้วยสาร Vantablack ก็ดีสมกับคำร่ำลือ เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับละครสัตว์ที่จะมาเยือนในครั้งต่อไป

อ้างอิง: บทความ “Asif Khan Designs World’s Darkest Building for the Winter Olympics”
จากเว็บไซต์ https://www.metropolismag.com