TREND2019: Technology 05 Post-Literate World โลกแห่งภาษาภาพและภาษาเสียง
โลกแห่งภาษาภาพและภาษาเสียง Post-Literate World
อีแวน สปีเกล (Evan Spiegel) ซีอีโอบริษัทสแนปแชท กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่า ทุกวันนี้พ่อแม่หลายคนสงสัยว่าทำไมลูกสาวของเขาจึงถ่ายรูปเป็นหมื่นๆ จนปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียได้ขโมยลูกๆ ของเขาไปแล้ว ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ตัวหนังสือหรือตัวอักษรถูกแทนที่ด้วยภาพและคาแร็กเตอร์ต่างๆ จนกลายเป็นภาษาใหม่ที่แสดงออกเพียงภาพและเสียงก็สามารถเข้าใจตรงกัน อย่างอิโมจิ แฮชแท็ก หรือแม้แต่ข้อความเสียงในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เช่นเดียวกับมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอเฟซบุ๊ก ที่กล่าวในเหตุการณ์ยอมรับผิดต่อสภาคองเกรส ว่าเขาไม่เคยคิดเลยว่าทุกวันนี้วิดีโอจะมีค่าดั่งเพชรในการคลี่คลายคดีหรือข้อขัดแย้งต่างๆ มันย้ำเตือนให้เขาคิดว่าทำไมพวกเราถึงต้องเชื่อมต่อกันทั้งโลก เพราะมันคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้พวกเราเดินไปข้างหน้าได้สำหรับโลกยุคใหม่การแสดงความเห็นจากตัวแทนด้านโซเชียลมีเดียนี้ กลายเป็นกระแสที่ใช้ในการตอบคำถามสำหรับแนวโน้มพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ว่าเราต่างกำลังเดินทางเข้าสู่โลกแห่งภาพและเสียง หรือที่เรียกว่า Post-Literate World จริงหรือ
Post-Literate World นี้เป็นการกล่าวถึงโลกที่การอ่านและการเขียนอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป หรืออีกนัยยะหนึ่งคือการย้อนกลับไปสู่โลกก่อนที่จะมีภาษาเขียนเกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้เราสูญเสียเวลาไปกับการอ่านภาพหรือภาษาที่ถูกเขียนเป็นภาพมาก จนเกิดรูปแบบการให้บริการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากภาษาภาพและภาษาเสียงมากมาย เช่น การสร้างสารคดีประวัติศาสตร์เป็นภาพยนตร์ การรณรงค์ด้วยวิธีของศิลปะวิจิตรศิลป์ ศิลปะการเต้นหรือร้องเพลง การขยายตัวของพอดแคสต์ เพื่อรับข่าวสาร เกร็ดความรู้ รวมถึงฟังเพลง ภาพ JPEG ที่เคลื่อนไหวสู่จอภาพบนสตรีมมิงวิดีโอ วิดีโอเกม และเทคโนโลยี VR กระแสเหล่านี้ทำให้คนมีพฤติกรรมคล้อยตามและปฏิบัติตามกันไปโดยแทบไม่รู้ตัว อย่างพฤติกรรมการเสพติดโซเชียลมีเดีย หรือการเสพสื่อแบบผสมผสานระหว่างภาพ เสียง สติกเกอร์ หรือแม้แต่ GIF รวมถึงการเสพภาพที่แปรภาษามาจากการเขียนอย่างอิโมจินั่นเอง ภาษาภาพและเสียงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ แท้จริงแล้วเกิดขึ้นจนเป็นกระแสมาตั้งแต่ปี 2012 โดยคลื่นวิทยุ Beyond Literacy นำช่องวิทยุทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์มาเป็นพื้นที่เพื่อบอกเล่าเรื่องราวจากหนังสือ ซึ่งได้ประกาศตัวว่าเป็นช่องทางสู่โลกแห่งเสียงอย่างแท้จริง จากกระแสที่เริ่มต้นจากนักศึกษาบางกลุ่มใน University of Guelph ต่อมาได้ก้าวสู่การเป็นแหล่งรวมชุมชนชาว Guelph และเปิดเป็นหลักสูตรการสอนสำหรับวิชาว่าด้วยภาษาเสียงโดยเฉพาะ จนขยายเข้าสู่หลักสูตร iSchool ในUniversity of Toronto ในปี 2013 ในเวลาต่อมา
การเดินทางของสังคมภาษาเสียงเข้าสู่คนกลุ่มใหญ่ขึ้นในปี 2016 บน iTunes และในปี 2017 นิตยสาร The New York Times ได้จัดอันดับพอดแคสต์ที่เป็นที่นิยม 20 อันดับขึ้นเป็นความนิยมแห่งปี ทำให้เกิดแรงกระตุ้นต่อสังคมวิทยุ ที่ขยับขยายช่องทางสู่โลกออนไลน์และพยายามหาพื้นที่ในช่องทางแอพพลิเคชั่น ทำให้ทุกวันนี้มีคลื่นพอดแคสต์มากมายเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ และพร้อมจะให้บริการดาวน์โหลดไว้ในโลกออฟไลน์เพื่อฟังได้ทุกเวลาที่ต้องการ อย่างช่อง 36 Questions ที่ยึดสโลแกนลองทำดู คุณทำได้ สร้างจิตวิทยาปลอบประโลมจิตใจด้วยการเล่าเรื่องราวสุดโรแมนติกพร้อมบทเพลงให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตด้วยความรักที่ดีในทุกวัน หรือการสร้างสังคมอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องอ่าน เป็นการตั้งคำถามกับผู้อ่านว่าทำไมเราต้องอ่านหนังสือ ทำไมหนังสือไม่อ่านให้เราฟัง จึงเกิดเป็นกระแส Audio Book Club ช่องทางการอ่านหนังสือให้ฟัง โดยนักเล่าเรื่องที่ใช้ภาษาชัดถ้อยชัดคำ สนุกสนาน เพราะธรรมชาติของการอ่านหนังสือที่สนุก มักจะตามมาด้วยการอยากบอกต่อและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น Audio Book Club จึงทำให้ช่องทางนี้เป็นแพลทฟอร์มที่แฟนหนังสือได้มาพูดคุย และสร้างสังคมใหม่ในโลกแห่งเสียงจากหนังสือนี้ด้วยกัน หรือบางครั้งพอดแคสต์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างสังคมเล็กที่เกิดจากความอ่อนไหวในสังคมใหญ่ อย่างช่องสัญญาณสัญชาติเยอรมัน The Butterfly Effect ที่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครกล้าพูดเกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือแม้แต่วัยรุ่นที่ต้องการความรู้ด้านนี้แบบไม่มีกั๊ก และเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจากข้อเท็จจริงต่างๆ ได้โดยไม่ถูกปิดกั้น
ในยุคที่ข้อมูลทุกอย่างถูกป้อนลงฐานข้อมูลในระบบคอมพิวติ้ง ภาษาภาพและภาษาเสียงที่ใช้กันในสื่อโซเชียลทุกวันนี้ จึงล้วนมาจากพัฒนาการของภาษาคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มศักยภาพการแปรความและตอบสนองในระดับสูง หรือเทียบเท่ากับภาษาธรรมชาติ (Natural Language) ที่มนุษย์ใช้กัน การเปลี่ยนแปลงของระบบภาษาให้ไร้ขอบเขตการเข้าใจหรือการรับรู้ ถูกส่งต่อไปยังนวัตกรรมตอบสนองภาษาเสียงมากมาย ความนิยมที่ส่งถึงงาน CES ปี 2018 คือพลังของระบบบลูทูธและระบบวายฟาย ที่เพิ่มศักยภาพการเป็นสื่อกลางคำพูด ให้มนุษย์สามารถโต้ตอบกับอุปกรณ์และสมาร์ทเทคโนโลยีต่างๆ ได้ แนวโน้มที่สำคัญคือการแข่งขันระหว่าง Alexa ของแอมะซอน และ Google Now จากกูเกิล ที่เพิ่มจำนวนการผลิตสินค้าประเภทโฮมพอด หรือสินค้าในระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฮมและสมาร์ทคาร์อย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะแอมะซอน หลังจากที่พัฒนาระบบแอมะซอนโปร เพื่อรับมือกับการให้บริการโดย AI ของลูกค้า ปี 2018 แอมะซอนจึงประกาศจะเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าถึง 4,000 ประเภท ที่อยู่ในระบบ AI Alexa เพื่อทำให้เทคโนโลยีสามารถตอบสนองผู้ใช้งานได้ในระบบภาพและเสียงครบในทุกกิจกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งการประกาศกล้าของแอมะซอน ทำให้หลายบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีไว้วางใจกับการลงทุนในสินค้ากลุ่มนี้ อย่างซัมซุงที่พัฒนา Bixby เพื่อเป็นเซิร์ฟเวอร์หลักของผู้ใช้งานในระบบเสียงของสินค้าซัมซุง หรือแม้แต่อาลีบาบาที่ลงทุนกับอุปกรณ์ Tmall Genie เพื่อเป็นหนึ่งใน Bot ฟีเจอร์สำหรับรับเสียงและสื่อสารโต้ตอบกับลูกค้าได้ในการให้บริการของอาลีบาบาทุกประเภท
ความล้ำของนวัตกรรมภาษาหลายสัญชาตินี้ คิดค้นมาเพื่อให้ใช้งานได้จริง เชื่อมโยงระหว่างคนกับเทคโนโลยี และที่สำคัญคือการไร้รอยต่อในเรื่องภาษา โดยกระแสผู้บริโภคหลักของลูกค้ากลุ่มนี้คือผู้บริโภคที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวต่างแดน ซึ่งจากการสำรวจโดยองค์กร United Nations World Tourism Organization พบว่าตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา มีผู้ท่องเที่ยวไปยังดินแดนต่างถิ่นต่างภาษาเพิ่มขึ้นถึงปีละ 1.2 พันล้านคน พลังของการท่องเที่ยวทำให้กระแสการพัฒนาประสิทธิภาพของนวัตกรรมภาษาเสียงโดย AI ขยับตัวเข้ามารองรับลูกค้ากลุ่มนี้ อย่างบริษัท Apple ที่เป็นผู้ริเริ่มการป้อนภาษาให้ Siri แปลภาษาได้มากถึง 5 ภาษาบนระบบ iOS11 เพื่อเป็นสื่อกลางการสื่อสารระหว่างคน หรือความร่วมมือระหว่างบริษัท LINE กับสตูดิโอ Naver ในการออกผลิตภัณฑ์หูฟังเอียร์บัดรุ่น MARS ที่ใช้งานได้ตั้งแต่ฟังเพลงทั่วไป ไปจนถึงการแปลภาษา หรือแท็กกระเป๋า KLM ที่ผลิตโดยสายการบิน KLM สามารถใช้งานได้แม้ไม่ได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือแอพพลิเคชั่น TripLingo ที่เข้าใจและแปลภาษาได้ แม้แต่ภาษาสแลงที่หมุนไวไปตามสังคมยุคใหม่
จอช วอลฟ์ ผู้บริหารบริษัท Lux Capital ตั้งข้อสังเกตว่าในเมื่อมนุษย์สามารถเข้าใจการทำงานของเทคโนโลยีได้ ทำไมจึงไม่มีใครคิดจะเข้าใจภาษาของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะแนวโน้มที่เด่นชัดจาก PFMA ที่ระบุว่าอัตราการเลี้ยงสัตว์ถูกเข้ามาแทนที่การแต่งงานในสังคมยุคใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในกลุ่มคนมิลเลนเนียลและเจเนอเรชันเอ็กซ์เป็นหลัก จึงเกิดเป็นโอกาสใหม่ที่ท้าทายต่อการใช้ชีวิตระหว่างคนและสัตว์ เมื่อโปรเจ็กต์ Euromonitor เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ส่งภาษามนุษย์และแปลงเป็นคลื่นสัญญาณไมโครเวฟไปยังสัตว์เลี้ยง ซึ่งดำเนินการไปแล้วในปี 2017 เพื่อเจาะกลุ่มตลาดสัตว์เลี้ยงในสหราชอาณาจักรเป็นจำนวนกว่า 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะถึงสัตว์เลี้ยงทั้งสุนัขและแมวกว่า 8 ล้านตัวที่เลี้ยงในบ้าน เช่นเดียวกับรายงาน Health and Wellness in Pet Care ที่มองไปยังอนาคตของการสื่อสารกับสัตว์ของกลุ่มลูกค้ามิลเลนเนียล ซึ่งอาจเป็นไปได้ถึงร้อยละ 35 ในสหรัฐอเมริกา กระแสนี้ไม่ได้ถูกกล่าวถึงลอยๆ แต่ถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวด้วยบริษัทผู้นำด้านนวัตกรรมอย่างแอมะซอน ที่ออกระบบ Petlexa ในปฏิบัติการของ Amazon Echo ในวันเอพริลฟูลส์เดย์ปี 2017 และฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆ ไม่ให้อยู่แค่ในวันแห่งการโกหกอีกต่อไป ด้วยการพัฒนาระบบร่วมกับ Audible และซีซาร์ มิลลาน (Cesar Millan) บันทึกเสียงจากภาษาหนังสือให้สุนัขฟัง ซึ่งพบว่าร้อยละ 76 ของผู้ใช้งานที่เป็นสัตว์สามารถตอบสนองด้านจิตวิทยา มีผลทำให้สัตว์เลี้ยงสงบและรู้สึกผ่อนคลายได้ในเวลาเดียวกัน ความน่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นระหว่างคน สิ่งของ และสัตว์ ที่เชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยี AI เหล่านี้ จึงได้กลายเป็นก้าวใหม่ของโลกไร้ภาษาเขียน ที่นำพาทุกสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตให้เข้าใจตรงกัน
ที่มา: บทความ “Explore a Post-Literate Future with Beyond Literacy” จาก ala.org