TREND2019: Technology 06 Offline Became the New Online สร้างประสบการณ์ออฟไลน์ในโลกออนไลน์
Technology & Innovation

TREND2019: Technology 06 Offline Became the New Online สร้างประสบการณ์ออฟไลน์ในโลกออนไลน์

  • 01 Sep 2018
  • 4942

สร้างประสบการณ์ออฟไลน์ในโลกออนไลน์ Offline Became the New Online

ในยุคที่ Big Data เข้ามามีบทบาทจนทำให้มนุษย์เข้าสู่สังคมเซตตะไบต์ (Zettabyte) ข้อมูลที่ล้นหลามในระบบแบบ P2P ถูกโต้ตอบกันตลอดเวลา จนแทบไม่ได้พักความเคลื่อนไหวไปจากการจราจรในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Network Farm) ทริสทัน แฮร์ริส (Tristan Harris) นักออกแบบของกูเกิลกล่าวในงาน TED Talks ปี 2017 ว่า “เราอยู่ในยุคที่ชีวิตต้องออนไลน์ตลอดเวลา โดยที่ความสัมพันธ์ของเรากับเครื่องมือที่เชื่อมต่อกับระบบดิจิทัล ไม่ได้ต่างไปจากความสัมพันธ์ระหว่างเรากับอาหารฟาสต์ฟู้ดเลย ซึ่งมีแต่จะทำให้เราอ้วนโดยไร้โภชนาการ ซึ่งนี่ล่ะจะเป็นทางออกใหม่ของนักออกแบบที่จะสร้างโภชนาการทางเทคโนโลยีที่ดี (Nourishing Tech) ให้แก่คนที่เสพติดอาหารดิจิทัล” สิ่งที่ตามมาหลังจากกระแส Nourishing Tech ของแฮร์ริส คือการออกแบบเทคโนโลยีที่ควบคู่ไปกับประสบการณ์ด้านการใช้เวลาให้คุ้มค่า เทคโนโลยีที่มาพร้อมกับความสงบ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถออกแบบการใช้เวลาไปกับโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเสพติดเทคโนโลยีจนแทบห่างไม่ได้นี้ เป็นที่มาของกระแสดิจิทัลดีท็อกซ์ ซึ่งแยกคนจากสมาร์ทโฟน อย่างไรก็ดีในแง่ของการใช้งานจริงมักไม่ได้ผล เพราะคนที่ห่างจากสมาร์ทโฟน ยังต้องเผชิญกับความกังวลใจในการตอบอีเมล หรือรับข่าวสารจากหลายช่องทาง ดังนั้นในปี 2019 ทางที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่การกำจัดเทคโนโลยีออกไป แต่คือการตั้งรับกับเทคโนโลยีและพร้อมจัดการ เพื่อสร้างโภชนาการที่ดีในการบริโภคข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้ต่อไป (Nourishing Tech) เช่นเดียวกับทฤษฎีจัดการชีวิตด้วยวิธี Calm Technology ซึ่งเขียนโดยแอมเบอร์ เคส (Amber Case) ที่จุดกระแสการซึมซับความหลากหลายในโลกดิจิทัลให้รวมเป็นหนึ่งเดียว แล้วล้อมกรอบให้สื่อเหล่านั้นอยู่ถูกที่ถูกเวลา โดยเชื่อว่าหากสามารถจัดการกับระบบของโลกออนไลน์ได้แล้ว จะสามารถเกิดโภชนาการการใช้ชีวิตที่ดีควบคู่ไปกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ อย่างการสร้างแอพลิเคชั่น Anti-App โดย Dopamine Laps บริษัทซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ เพื่อลดเนื้อที่แอพพลิเคชั่นบนหน้าจอมือถือ ทางบริษัทจึงคิดค้นและรวบรวมแอพพลิเคชั่นทุกชนิดที่เข้าถึงโซเชียลมีเดียไว้ในแอพพลิเคชั่นเดียว พร้อมกับสร้างกฎเวลา 12 วินาทีไว้ให้ผู้ใช้งาน โดยหลังจากใช้งานแอพพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียใดๆ เสร็จในแต่ละครั้ง ผู้ใช้งานจะต้องพักเป็นเวลา 12 วินาที เพื่อทบทวนตนเอง พักสายตา พักสมอง แล้วจึงจะกลับมาเล่นแอพลิเคชั่นต่อไปได้อีกครั้ง การออกแบบประสบการณ์ด้านเวลา 12 วินาทีนี้ มาจากวิถีเซนและหลักการวิทยาศาสตร์ด้านสมอง ที่เชื่อว่าการตั้งสมาธิภายในระยะเวลาเท่านี้ จะสามารถช่วยควบคุมคลื่นอัลฟา และความหมกมุ่นที่จดจ่อกับอะไรเดิมๆ เป็นเวลานานได้ ผลลัพธ์จากทฤษฎีดังกล่าวนี้อาจส่งผลให้ผู้ใช้งานไม่อยากกลับไปเล่นแอพพลิเคชั่นติดต่อกันนานๆ อีก เช่นเดียวกับแอพพลิเคชั่น Time Well Spent ที่จำกัดการใช้งานสมาร์ทโฟนสำหรับผู้ที่ชื่นชอบซื้อของออนไลน์ โดยแอพพลิเคชั่นจะคำนวณระยะเวลาต่อรายจ่ายที่เสียไป เพื่อให้ผู้ใช้งานเกิดการตระหนักรู้ และวางแผนการใช้เงินผ่านระบบดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที 

ในขณะที่ภาคการผลิตต้องการพัฒนาประสิทธิภาพของเทคโนโลยี นักออกแบบที่ก้าวทันย่อมต้องพัฒนาศักยภาพในการควบคุมประสิทธิภาพของระบบเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ในเมื่อเราสามารถนำเวลาส่วนตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ได้ เราก็สามารถนำเวลาของโลกออนไลน์กลับมาใช้งานกับโลกออฟไลน์ได้เช่นกัน อย่างแอพพลิเคชั่น Gudak สัญชาติเกาหลี ที่นำระบบปฏิบัติการของยุคอนาล็อกมาใช้ในระบบดิจิทัล ทำให้ผู้ใช้งานรู้จักคุณค่าของเวลาที่ใช้ไปกับการรอคอย และย้อนกลับมาให้ความสำคัญกับทุกช่วงเวลาที่ปลายนิ้วมือสัมผัสหน้าจอสมาร์ทโฟนอย่างมีสติ เช่นเดียวกับแนวคิดการให้บริการของโรงแรม Lokal ในฟิลาเดลเฟีย ที่มีสโลแกนของการให้บริการว่า “Invisible Service” หมายถึงการที่ผู้พักจะสามารถทำเท่าที่สามารถทำได้หรือเท่าที่ทางโรงแรมได้เตรียมไว้ เพราะโรงแรมถูกออกแบบให้ผู้พักต้องการหลีกหนีจากความวุ่นวายในสังคมเมืองสู่การพักผ่อนในห้องพัก ที่เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้และเครื่องมือสมาร์ทโฮมมากมายเสมือนอยู่บ้าน รวมถึงให้บริการไอแพดพร้อมแอพพลิเคชั่นที่เลือกมาให้แล้ว ว่าการพักผ่อนนั้นต้องประกอบไปด้วยการใช้งานกิจกรรมอะไร หรือต้องสั่งอาหารเครื่องดื่มจากร้านใด ผู้เข้าพักสามารถใช้บริการทุกอย่างผ่านเทคโนโลยี โดยไม่ถูกรบกวนจากโลกภายนอกหรือการเข้ามาให้บริการจากสตาฟ ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ประสานโลกออฟไลน์แห่งการพักผ่อน ให้เข้ากับการใช้บริการในโลกออนไลน์ได้อย่างชาญฉลาด

ทางด้านแอพพลิเคชั่นแชร์รถอย่าง Ola ซึ่งร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ใหญ่อย่างกูเกิล ตั้งใจเจาะตลาดลูกค้าผู้สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตค่อนข้างต่ำ เพียง 50 กิกะไบต์ หรือใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนในราคาย่อมเยาก็สามารถเรียกใช้บริการรถยนต์ได้ โดยระบบจะตอบรับกลับมาในรูปแบบออฟไลน์อย่าง SMS Booking ทำให้ลูกค้าไม่เสียอินเทอร์เน็ตไปโดยสิ้นเปลือง เช่นเดียวกับการขยายขอบเขตของแอพพลิเคชั่น Uber ที่เพิ่มระบบออฟไลน์เข้ามาในการให้บริการ อย่างการใช้บริการ Uber Health สำหรับผู้ต้องการเรียกรถยนต์เพื่อใช้บริการด้านสุขภาพโดยเฉพาะ หากผู้ใช้บริการที่ป่วยไข้ต้องการเรียกรถ ก็สามารถจัดการด้วยวิธีส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นได้ทุกสถานการณ์ รถยนต์ของ Uber Health จะมาจอดถึงหน้าบ้านได้โดยไม่ต้องพึ่งอินเทอร์เน็ต เพราะถึงแม้ว่าโลกดิจิทัลจะทำให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกสถานการณ์ แต่ใช่ว่าอินเทอร์เน็ตจะใช้งานได้ในความเร็วที่ดีเพียงพอสำหรับสถานการณ์นั้นๆ เสมอไป

ที่มา:
บทความ “The Vision 2019 Part 2:
Purpose Full”, เข้าถึงจากฐานข้อมูลออนไลน์ WGSN
บทความ “Future Consumer 2019”, เข้าถึงจากฐานข้อมูลออนไลน์ WGSN