กว่าจะมาเป็นโครงการ CAT DIGITAL COME TOGETHER กิจกรรมหนุนเกษตรกรไทยสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ
Technology & Innovation

กว่าจะมาเป็นโครงการ CAT DIGITAL COME TOGETHER กิจกรรมหนุนเกษตรกรไทยสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

  • 10 May 2019
  • 24044

เป็นเวลากว่า 2 ปีที่ CAT  ได้ก่อตั้งโครงการ CAT DIGITAL COME TOGETHER โครงการยกระดับเกษตรกรไทยในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเกษตร โดยตลอดเวลามีเกษตรกรจำนวนมากที่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งในด้านการเพิ่มรายได้จากการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ และการใช้ชีวิตประจำวัน ด้วยเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT 

โดย ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและบริการ หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการ CAT DIGITAL COME TOGETHER ได้นึกถึงวันแรกในการริเริ่มโครงการเพื่อเกษตรกรไทย “ทาง CAT  ได้เริ่มทำโครงการนี้ เมื่อปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเกษตรกรไทยให้สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ขยายผลในการสร้างอาชีพ ตลอดจนเพิ่มรายได้ให้กับตนเองและชุมชน เพราะเราเชื่อว่าธุรกิจด้านการเกษตรจะมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ซึ่งวิธีเดียวที่เราจะช่วยเหลือพวกเขาได้ก็คือการพัฒนาให้เป็นการทำเกษตรสมัยใหม่โดยใช้การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย”

“เพราะเทคโนโลยีอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา และอยู่ในการทำธุรกิจ กระแส Digital Transformation มีส่วนสำคัญต่อองค์กรต่างๆ ในการแข่งขันและนำพาไปสู่ยุค 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล เราจึงนำมาใช้กับการเกษตร เพราะเกษตรกรคืออาชีพที่เราควรให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำเกษตรอย่างยั่งยืน” 

การทำงานของเทคโนโลยี IoT ที่ทางโครงการได้เข้าไปส่งเสริมเกษตรกรคือการสร้างระบบรดน้ำอัจฉริยะผ่านการสั่งการจากสมาร์ตโฟน  “เพราะปกติแล้วเกษตรกรจะต้องเฝ้าสวนอยู่ตลอด เนื่องจากต้องรดน้ำเป็นเวลา แต่ถ้าหากติดตั้งเทคโนโลยี IoT เกษตรกรจะสามารถสั่งน้ำได้จากระยะไกล ซึ่งทางโครงการจะเอาเซ็นเซอร์ไปติดตั้งที่สวนเพื่อวัดปริมาณความชื้นของดิน เพราะระบบเซ็นเซอร์จะส่งข้อมูลของหน้าดิน ว่าควรรดน้ำช่วงเวลาไหนดีที่สุดผ่านระบบเทคโนโลยี IoT แล้วแจ้งมายังสมาร์ตโฟน จากนั้นเกษตรกรก็จะกดปุ่มสั่งการระบบรดน้ำ เพราะฉะนั้นเกษตรกรจึงสามารถนำเวลาว่างในส่วนนี้ไปสร้างประโยชน์ทางด้านอื่น และสร้างผลผลิตที่ดีขึ้นอย่างงดงาม” 

“ตลอดระยะเวลา 2 ปี เราพบว่าเกษตรกรทุกรายต่างสนใจเรื่องเทคโนโลยี เพียงแต่ขาดแหล่งเชื่อมต่อข้อมูล แต่เมื่อพวกเขาเข้าใจเรื่องการทำงานของเทคโนโลยีจากการเข้าไปสอนของโครงการ ผลปรากฏว่าพวกเขาสามารถต่อยอดการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจอื่นๆ และนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างสร้างสรรค์ โดยการใช้เทคโนโลยี IoT ของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราภูมิใจมากๆ ”

“เทคโนโลยีที่ทางโครงการได้นำไปติดตั้งให้เกษตรกร นับว่ามีความทนทานและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก โดยใช้ระบบ LoRa หรือ LoRaWan ที่มีจุดเด่นตรงที่ใช้พลังงานต่ำและมีรัศมีที่ค่อนข้างไกล หมายความว่าตัวเซ็นเซอร์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เอาไปใช้กับโครงข่ายนี้จะสามารถใช้งานได้เป็นระยะเวลานาน เพราะฉะนั้นเราลองจินตนาการดูว่า ถ้าหากเรานำเซ็นเซอร์ไปวางอยู่ในแปลงการเกษตร ซึ่งก็จะต้องใช้จำนวนเซ็นเซอร์ค่อนข้างเยอะ และถ้าหากมีการใช้พลังงานสูง หมายความว่าเราต้องเปลี่ยนเซ็นเซอร์และแบตเตอรี่เป็นจำนวนมาก จะทำให้การใช้งานแอปพลิเคชันประเภทนี้ไม่เสถียรภาพก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาในการใช้งานของเกษตรกร เพราะฉะนั้นระบบ LoRa จึงเหมาะสมกับเกษตรกรไทย และทาง CAT เป็นผู้นำในการนำระบบ LoRa มาใช้ในประเทศไทย และยังสามารถต่อยอดไปสู่สมาร์ตซิตี้ที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน”

 “ในไตรมาสต่อไปทางโครงการ CAT DIGITAL COME TOGETHER จะมุ่งนำความรู้เรื่องเทคโนโลยีที่เราถนัดไปสู่เด็กนักเรียน เพราะเด็กไทยทุกคนจะต้องมีการเรียนการทำเกษตร ดังนั้นเราจึงนำความรู้เรื่องการทำเกษตรแบบใหม่ หรือ DIGITAL FARMING ไปสอนพวกเขาให้รู้จักหลักการทำงานของเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดสู่การสร้างคุณภาพชีวิตและสร้างอาชีพให้กับชุมชนต่อไป” ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กล่าวทิ้งท้ายกับสิ่งที่ โครงการ CAT DIGITAL COME TOGETHER จะเกิดขึ้นในอนาคต