อินโดนีเซีย: ขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์สู่เวทีโลก
Technology & Innovation

อินโดนีเซีย: ขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์สู่เวทีโลก

  • 27 Aug 2019
  • 29809

“อินโดนีเซียจะเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลกภายในปี 2030” คือวิสัยทัศน์ที่บ่งบอกถึงเป้าหมายอันแน่วแน่ของสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย หรือ BEKRAF (เบคคราฟ) ในการพาอินโดนีเซียสู่เวทีโลก 

ในงาน CEA FORUM 2019  เค. จานดรา เนการา (K. Candra Negara) ผู้อำนวยการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเบคคราฟ ได้มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของอินโดนีเซีย ประเทศที่ได้ขึ้นว่าส่งออกมูลค่าด้านความคิดสร้างสรรค์สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : กระดูกสันหลังของอินโดนีเซียในอนาคต
ในปัจจุบันรายได้หลักของอินโดนีเซียยังคงมาจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งรายได้จากการส่งออกส่วนใหญ่มาจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และสินค้าเกษตรอื่น ๆ แต่ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ล้วนมีอยู่อย่างจำกัด และมนุษย์ก็ไม่สามารถพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติได้ตลอดไป ดังนั้นอินโดนีเซียจึงต้องหาสิ่งทดแทนที่จะมาเป็น “กระดูกสันหลัง” ของประเทศในอนาคต ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ดังนั้นสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย หรือ เบคคราฟ จึงได้ถูกก่อตั้งขึ้น ในปีค.ศ. 2015 โดยประธานาธิบดีโจโค วิโดโด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจากที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติให้มาอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ทำไมต้องเป็น ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’
จากประเทศที่มีแรงขับเคลื่อนหลักจากการเกษตร อีกทั้งยังมีพื้นที่ทำเกษตรกรรมมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทำไมอินโดนีเซียจึงหันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คำตอบนั้นอยู่ภายใต้แนวคิด Inclusive and Sustainable Economy

  • Inclusive Economy : ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่ไร้ขอบเขต คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเท่าเทียมและไม่ถูกปิดกั้น เด็ก ๆ สามารถสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองได้ โดยอาจจะเริ่มจากการดินสอกับกระดาษสักแผ่น พร้อมกับใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ตัวเองมีเพื่อสร้างเป็นผลงานและสร้างรายได้ได้
     
  • Sustainable Economy : เศรษฐกิจสร้างสรรค์มีพื้นฐานส่วนใหญ่มาจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติมากเท่าในอดีต ไม่ต้องตัดต้นไม้ ไม่ต้องทำลายธรรมชาติ อีกทั้งความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกคนอยู่แล้ว ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์จึงไม่ต้องใช้การลงทุนมากและเป็นอะไรที่ยั่งยืน

การเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์อินโดนีเซีย
“เวลาที่เราพูดถึง ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ เรากำลังพูดถึงมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินค้าและบริการ” 

เศรษฐกิจสร้างสรรค์คือ ‘กระบวนการ’ ที่ทำให้สินค้าและบริการมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นมูลค่าที่เพิ่มมาจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม หรือ เทคโนโลยี ดังนั้นหน้าที่หลักของรัฐบาลคือการสร้าง ‘ระบบนิเวศ’ ที่เอื้อต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจสร้างสรรค์และทำให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เติบโตได้เร็วขึ้น เช่น ในอดีตกว่านักดนตรีสักคนจะก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินได้อย่างเต็มตัวอาจจะต้องผ่านกระบวนการฝึกฝนเรียนรู้อย่างน้อย 5 ปี แต่ระบบนิเวศที่ดีจะช่วยทำให้ทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างก้าวกระโดดและเป็นศิลปินได้ภายใน 2 ปี เป็นต้น

‘ระบบนิเวศ’ ที่เอื้อต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ระบบนิเวศที่ดี คือสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในทุก ๆ ด้าน จะเห็นได้ว่านอกจากการกำหนดนโยบายต่าง ๆ แล้ว เบคคราฟยังให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอินโดนีเซียด้วย เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านการสร้าง ‘ระบบนิเวศ’ ที่เอื้อให้เกิดการสร้างสรรค์มากที่สุด ซึ่งประกอบไปด้วย 6 องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่

  1. การวิจัยและการศึกษา (Research and Education) : ช่วยในการศึกษาค้นคว้าเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
  2. การเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Access for capital) : เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญ
  3. โครงสร้างสาธารณูปโภค (Infrastructures) : อำนวยความสะดวกในเรื่องของพื้นที่การจัดกิจกรรม อุปกรณ์ เทคโนโลยี หรือระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ
  4. การตลาด (Marketing) : การตลาดทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
  5. ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights) : การใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อช่วยในการต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ
  6. ความร่วมมือและเครือข่ายในและต่างประเทศ (Inter-institutional Relations) : สร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรสร้างสรรค์ต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

เมื่อการสร้างระบบนิเวศที่มีคุณภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ องค์ประกอบเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการแบ่งโครงสร้างองค์กรของเบคคราฟออกเป็น 6 แกนตามระบบนิเวศ เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้นักสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ และทำให้ทุกคนสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาในส่วนต่าง ๆ ของกระบวนการสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนการผลิต การจัดจำหน่าย การบริโภค หรือการเก็บรักษา

ปัจจุบันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของอินโดนีเซียประกอบไปด้วย 16 อุตสาหกรรม (ในประเทศไทยมี 15 อุตสาหกรรม) ซึ่งมีมูลค่ากว่า 77.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 7.44% ของจีดีพีประเทศ มากเป็นอันดับสามของโลก และเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของอินโดนีเซียในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่สองกลุ่มอุตสาหกรรม

  1. Leading Sub-sectors (อุตสาหกรรมชั้นนำ) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนามาพอสมควรแล้ว รัฐบาลจึงมีหน้าที่เพียงผลักดันให้เติบโตต่อไป ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแฟชั่น และหัตถอุตสาหกรรม 
     
  2. Prioritize Sub-sectors (อุตสาหกรรมที่ถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก) เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ แต่อาจยังไม่เติบโตมากพอในปัจจุบัน ได้แก่ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ แอนิเมชัน และวิดีโอ อุตสาหกรรมเกมและแอพพลิเคชั่น และอุตสาหกรรมดนตรี

การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในธุรกิจภาพยนตร์ของอินโดนีเซีย

  • อินโดนีเซียมีประชากรที่กว่า 270 ล้านคน แต่ในปี ค.ศ. 2015 กลับมีโรงภาพยนตร์เพียง 700 แห่ง มีผู้ประกอบการกิจภาพยนตร์รายใหญ่เพียง 2 ราย ทำให้ตลาดภาพยนตร์อินโดนีเซียถูกผูกขาด และไม่มีการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจภาพยนตร์เลย
     
  • ในฐานะองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในปี 2015 เบคคราฟมองเห็นศักยภาพที่จะเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และพยายามที่จะเปลี่ยนสถานการณ์ของการลงทุนในตลาดภาพยนตร์ให้เป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น
     
  • ในปัจจุบันอินโดนีเซียมีโรงภาพยนตร์เพิ่มขึ้นเป็น 1,681 แห่ง มีจำนวนคนที่เข้าชมภาพยนตร์มากขึ้นจาก 32 ล้านคนในปี 2015 สู่ 52 ล้านคนในปี 2018 และตลอดระยะเวลา 3 ปีมีการผลิตภาพยนตร์แล้วมากกว่า 200 เรื่อง และมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่เข้าสู่ตลาดต่างประเทศ
     
  • นอกจากนี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังช่วยส่งเสริมธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว อย่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Rainbow Troops (2008) ทำให้เกาะเบอลีตุง (Belitung) ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำพัฒนาจากเกาะที่มีเที่ยวบินเพียงสัปดาห์ละ 2 ครั้งและเป็นศูนย์กลางการทำเหมืองดีบุกที่ทำลายธรรมชาติ สู่เกาะที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในแต่ละวันมีเที่ยวบินมากถึง 9 เที่ยวบินที่บินตรงมาสู่เกาะ และมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 50 ล้านคนเดินทางมาเยือนแล้วในปัจจุบัน

มากกว่าการแข่งขันคือความร่วมมือ
“ทำงานคนเดียวอาจจะสำเร็จ แต่ความร่วมมือจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น” 

ลองจินตนาการถ้าหากศิลปินสักคนหนึ่งต้องการจะออกอัลบัมของตัวเอง นอกจากทำดนตรีแล้ว ศิลปินคนนั้นยังต้องออกแบบปกอัลบัม หาทางโปรโมต และต้องติดต่อหาสถานที่แสดงงานของตัวเอง แต่จะง่ายและมีประสิทธิภาพกว่าหรือเปล่าถ้าหากศิลปินได้มีโอกาสร่วมมือกับเอเจนซี่โฆษณา หรือร่วมมือกับโปรดิวเซอร์เพลงและศิลปินคนอื่น ๆ เพื่อสร้างโอกาสสร้างสรรค์ผลงานที่ดียิ่งขึ้น

เรากำลังอาศัยอยู่ในยุคแห่งโลกาภิวัตน์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ทั้งภายในอินโดนีเซียและทั่วโลกเกิดขึ้นได้อย่างไร้ขีดจำกัด ดังนั้นความร่วมมือจึงเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น สู่ระดับภูมิภาค และระดับโลก จึงเป็นภารกิจสำคัญของเบคคราฟ

ในปี 2018 มีการจัด The World Conference on Creative Economy (WCCE) เป็นครั้งแรกขึ้นที่บาหลี อินโดนีเซีย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากการที่จะทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เดินหน้าต่อไปได้ จำเป็นต้องเปิดรับผู้สร้างสรรค์ทุกคนจากทุกมุมโลก การประชุมในครั้งนั้นไม่ได้จัดขึ้นเพื่อหาคำจำกัดความของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่เป็นไปเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ยั่งยืนในระดับสากล ตลอดจนช่วยให้ทุกประเทศเล็งเห็นศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต เอื้อประโยชน์ที่ครอบคลุมถึงทุกฝ่าย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ที่มา : การบรรยาย “อินโดนีเซียขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้อย่างไร” โดย เค. จานดรา เนการา ในงาน CEA FORUM 2019 และบทสัมภาษณ์คุณเค. จานดรา เนการา ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2562 

เรื่อง : ณัฐชา ตะวันนาโชติ