รู้รอดปลอดภัยจากสื่อมั่ว ข่าวลวง อีเมลปลอม
Technology & Innovation

รู้รอดปลอดภัยจากสื่อมั่ว ข่าวลวง อีเมลปลอม

  • 02 Sep 2019
  • 42176

ถ้าจะบอกว่าบทความที่กำลังจะเขียนต่อไปนี้เป็นความจริงทั้งหมด...จะเชื่อไหม

ช้าก่อน! อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน ด่วนเชื่อ และด่วนสรุป โลกนี้เต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาล เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าข่าวสาร บทความ หรืออะไรก็ตามที่เรากำลังอ่านและได้รับมาเป็นเรื่องจริง หากสารที่คุณกำลังได้รับยังทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ เราก็ต้องมีวิธีป้องกันตัวจากข้อมูลเหล่านั้น และนี่คือรวมมิตรเทคนิคแพรวพราวที่จะช่วยให้ทุกคนเสพข่าวและรับสารอย่างมีสติ หูไม่เบา เอาความเท็จเข้าตัว

เท่าทันสื่อกับ 4 ทักษะ Media Literacy

  1. ปรับให้ตัวเองช้าลง สื่อทุกวันนี้เยอะและรวดเร็วมาก ทำใจเย็นๆ ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ฟัง และไตร่ตรองข้อมูลอย่างมีสติ
     
  2. หาแหล่งที่มา ลองเปรียบเทียบข้อมูลจากที่มาหลาย ๆ แห่ง หากไม่มีเวลาสืบเสาะ ก็จงอย่า(เพิ่งรีบ)แชร์
     
  3. เข้าใจข้อมูลด้วยการลองเป็นคนส่งสาร สร้างข้อมูลขึ้นมาดูสักชิ้น แล้วเราจะตั้งคำถามได้เองว่า คนอื่นสร้างมันขึ้นมาอย่างไร และมันควรจะใช่หรือมั่ว
     
  4. เข้าใจอคติ เพราะอคติส่วนบุคคลย่อมส่งผลต่อการมองโลกและการตีความของสื่อ 

“เราต่างต้องเผชิญกับอิทธิพลของสื่ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นหมายความว่าทุกคนจะต้องเข้าใจข้อความที่อยู่รอบตัวเรา” มิแชล คิลลา ลิปคิน (Michelle Ciulla Lipkin) ผู้อำนวยการบริหารสมาคมเพื่อการศึกษาการรู้เท่าทันสื่อแห่งชาติ(National Association for Media Literacy Education) ได้กล่าวไว้ถึงทักษะที่เราพึงมีในปัจจุบันในการเสพข่าวจากสารพัดแหล่ง
 

5 เทคนิคอีเมลลวง (Phishing Mail) ที่ควรรู้ให้ทัน 

  1. ข้อความควรส่งมาจากชื่อ-สกุลอีเมลที่น่าเชื่อถือ สังเกตที่อยู่อีเมล ไม่ใช่เพียงผู้ส่ง อย่างกรณี Paypal ที่ระบาดหนักอยู่ก็เช่น paypal@notice-access-273.com
     
  2. ชื่อสกุลอีเมลสะกดผิด ใคร ๆ ก็สามารถซื้อชื่อสกุลอีเมลได้ ฉะนั้นต้องมั่นใจว่าอีเมลที่ส่งมานั้นสะกดถูกต้องแล้วตามชื่อบริษัทหรืออะไรก็ตาม
     
  3. อีเมลที่มีกลิ่นแปลก ๆ ในข้อความ หากได้รับอีเมลที่เขียนผิด ๆ ถูก ๆ หรือตรรกะล้มเหลว ให้สังเกตข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์ และหลักเหตุผลด้วย ไม่ใช่แค่การสะกดคำผิด
     
  4. อย่าเปิดไฟล์หรือลิงก์น่าสงสัยที่แนบมา ก่อนจะเปิดลิงก์ หมั่นตรวจสอบว่าลิงก์ที่ได้มานั้น จริง ๆ แล้วพาเราไปที่ไหนกันแน่ ถ้ากดพลาดไปแล้ว ให้รีบปิดหน้าต่างนั้น ๆ ทันที
     
  5. อีเมลที่ดูเร่งด่วนแบบไม่มีสาเหตุ เพราะเหล่าผู้ไม่หวังดีรู้ว่าเรามักจะ ‘ผลัดวันประกันพรุ่ง’ จึงฉวยโอกาสใช้ความเร่งด่วนมาเป็นข้ออ้างให้เราเปิดเมลเร็ว ๆ 

6 สาเหตุที่ไม่ควรแยแส กับพาดหัวล่อคลิก (Click Bait) ข้อ 5 จะทําให้คุณถึงกับอึ้ง

  1. คลิกเบทเหมือนการเสพติดชนิดหนึ่ง เหมือนเวลาเล่นพนัน รู้ทั้งรู้ว่าหมากเกมก็เหมือนเดิมและตอนจบจะเป็นอย่างไร แต่ก็ยังอยากรู้ ขอดูซักหน่อย
     
  2. คำพูดเปรียบเปรยยิ่งทำให้เราเข้าใจผิด ปลามักจะมองหาเหยื่อที่น่ากินแล้วงับมัน ฉันใดฉันนั้น คนเราเวลาอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต ก็มักจะหาคลิกอะไรไปเรื่อย ไม่ได้สนใจกับเหยื่อชนิดไหนเป็นพิเศษ ที่สุดแล้วก็ติดกับเสียง่าย ๆ แบบนั้น  
     
  3. คลิกเบทส่วนมากน่าผิดหวัง เพราะทุกครั้งที่เราคลิก เราเพียงอยากจะรู้ข้อมูลไม่กี่อย่างที่พาดหัว ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วมักจะไม่มีอะไรตอบโจทย์เราได้เลย 
     
  4. คลิกเบททำลายวงการสื่อ ลองคิดดูว่าสื่อใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียงก็ยังใช้คลิกเบท แม้แต่ข่าวที่ห่วยแตกที่สุดก็ยังไม่รอด
     
  5. คลิกเบทไม่ดีต่อดวงตา พูดไม่ออกเลยล่ะสิ
     
  6. เพราะความต้องการลึก ๆ ทางอารมณ์ ความฟุ้งซ่านมักผลักให้เราคลิกอ่านเรื่องบางเรื่องโดยไม่รู้ตัว พอคลิกเรื่องหนึ่ง เรื่องอื่น ๆ ก็จะตามมา แล้วมันก็จะ...ไม่จบ


ฉะนั้น จงอย่าฮุบเหยื่อเพียงเพราะหน้าตาน่ากิน (น่ารู้เหลือเกิน) แต่จงกินเพราะมันมีประโยชน์ และสิ่งเดียวที่เราทำได้ก็คือ การหักห้ามใจไม่คลิก 

ที่มาภาพ : Unsplash/bruce mars

ที่มา : 

บทความ “4 essential skills for media literacy” โดย Michelle Ciulla Lipkin จาก renaissance.com
บทความ “5 ways to detect a phishing email – with examples” โดย Luke Irwin จาก itgovernance.co.uk
บทความ “6 Reasons Why You Should Never Click on Clickbait. Number 5 will leave you speechless.” โดย Bence Nanay Ph.D. (กุมภาพันธ์ 2562) จาก psychologytoday.com

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร