Thailand 4.0 สู่การเป็น Medical Hub ของอาเซียน
Technology & Innovation

Thailand 4.0 สู่การเป็น Medical Hub ของอาเซียน

  • 02 Oct 2019
  • 34855

อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร หรือ Medical Hub คือหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต (New S-Curve) และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ไทยกำลังเดินหน้าไปเป็นศูนย์กลางของอาเซียนตามนโยบาย Thailand 4.0

ในปีที่ผ่านมา มีอีกความหวังหนึ่งของวงการแพทย์ไทยนั่นคือ การร่วมมือกันของ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมสุขภาพโยธี (YMID) ที่ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจนถึงบริเวณถนนพระราม 6 ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลมากกว่า 10 แห่ง เพื่อเนรมิตให้พื้นที่นี้กลายเป็นย่านที่ตอบสนองการให้บริการทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสามารถรองรับคนไข้ได้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ไทยยังมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์รวมของการสร้างนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่ เช่น โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Hospital 4.0) หรือการพัฒนาระบบแพทย์ทางไกล (Tele-Medicine) รวมทั้งการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งกลุ่มสตาร์ตอัพและกลุ่มธุรกิตต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเป็น Medical Hub เช่น แผนพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็น Medical Health Hub ควบคู่ไปกับการเป็นสมาร์ตซิตี้ โดยการพัฒนาแอพพลิเคชันให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างสะดวก เร่งพัฒนาโรงพยาบาลต่างอำเภอให้รองรับผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความหนาแน่นของโรงพยาบาลในตัวเมือง และการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยและของโลกในอนาคต

หากดูที่คู่แข่งของไทย ประเทศซึ่งเคยเป็นในจุดหมายหลักของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างสิงคโปร์ กลับถูกประเทศเพื่อนบ้านเช่นไทยและมาเลเชียแซงหน้า โดยเหตุผลหลักคือค่าครองชีพและค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกจะเดินทางไปยังประเทศที่ประหยัดกว่า จากรายงานของ Singapore Tourism Board พบว่า ยอดของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเพื่อมารับบริการด้านสุขภาพในสิงคโปร์ลดลงกว่า 4 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว

ขณะที่มาเลเซียกลับเป็นประเทศที่มีการเติบโตขึ้นมากในตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เนื่องจากมีความพร้อมด้านการบริการของโรงพยาบาลที่ถูกออกแบบมาอย่างดีในระดับนานาชาติ อีกทั้งยังมีตัวเลือกด้านการรักษาทั้งแพทย์แผนตะวันตกและตะวันออก เช่น สมุนไพรจีน และการฝังเข็ม บุคลากรมีความเชี่ยวชาญรอบด้าน โดยเฉพาะทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ใกล้เคียงเจ้าของภาษา จุดแข็งอีกประการของมาเลเซียคือ การท่องเที่ยวแบบฮาลาลที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มนี้ได้เป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะสร้างรายได้ให้มาเลเซียได้มากกว่า 535 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2022 และทำให้มาเลเซียเป็นคู่แข่งน่าจับตามองอีกหนึ่งประเทศในอาเซียน

แม้ปัจจุบันนี้ ไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอันดับที่ 13 ของโลก (รายงานจาก Global Wellness Institute) แต่หากเราไม่เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้ครบวงจร ทั้งด้านการรักษา การวิจัยและผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ การพัฒนายาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถรองรับบริการระดับสากล การจะเป็น Medical Hub ของอาเซียนก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด

ที่มาภาพ : Hike Shaw/Unsplash

ที่มา :
บทความ “เชิญพร เต็งอำนวย ปั้น “Medical Hub” จาก prachachat.net
บทความ “เชียงใหม่เร่งดันโรดแมป ‘เมดิคัล ฮับ’ มุ่งสู่ Wellness City-เมืองรองรับเมืองผู้สูงอายุ” จาก prachachat.net
บทความ “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ศูนย์กลางนวัตกรรมและบริการทางการแพทย์ สุขภาพ ครบวงจรของไทย” จาก ผู้จัดการออนไลน์
บทความ “Malaysia Medical Tourism Market 2019 Global Analysis, Share, Trend, Key Players, Opportunities & Forecast To 2022” จาก travelwirenews.com
บทความ “Medical Tourism In Singapore “No Longer A Priority” จาก International Medical Travel Journal (imtj.com)
บทความ “Thailand's MICE Industry Report Medical Hub” โดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ

เรื่อง : นพกร คนไว