โรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุข...ก่อร่างสร้างสุขด้วยเทคโนโลยี BIM
Technology & Innovation

โรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุข...ก่อร่างสร้างสุขด้วยเทคโนโลยี BIM

  • 11 Dec 2019
  • 20565

เมื่อนึกถึงงานออกแบบและการก่อสร้าง หลายคนคงนึกไปถึงสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ มั่นคง และสวยงาม แต่น้อยคนที่จะคิดไปถึง “ความสุข” ที่เราจะได้รับจากการออกแบบก่อสร้างที่คำนึงถึงทุกมิติของการใช้งานและผู้อยู่อาศัย ยิ่งถ้าเป็นอาคารที่ต้องการการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายและครอบคลุมอย่างอาคารโรงพยาบาล ก็ยิ่งต้องใส่ใจเรื่องของเทคโนโลยีและการก่อสร้างให้มากยิ่งขึ้น 

ล่าสุด SCG องค์กรชั้นนำด้านการก่อสร้างในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด หรือที่เรียกว่าการใช้ BIM (Building Information Modeling) ซึ่งเป็นโมเดล 3 มิติ ที่รวมเอาแบบทางสถาปัตย์ โครงสร้าง และงานระบบเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อทำให้การวางแผนออกแบบก่อสร้างอาคารเป็นไปอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพที่สุดตั้งแต่เริ่มต้น เช่น สามารถวางแผนการสั่งวัสดุต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ และยังสามารถตรวจสอบตำแหน่งหรือความผิดพลาดในจุดต่าง ๆ ผ่านโมเดลได้ก่อนลงมือสร้างจริง จึงช่วยลดของเสียจากการเผื่อปริมาณวัสดุ ทั้งยังประหยัดพื้นที่จัดเก็บ เวลา และต้นทุนการก่อสร้าง รวมถึงการนำวัสดุเหลือใช้ในงานก่อสร้าง เช่น เศษคอนกรีต หมุนเวียนกลับมาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตอีกครั้ง ทำให้ของเสียกลายมาเป็นประโยชน์ที่เกิดกับทุกฝ่าย (From Waste to Wealth)  ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ก่อร่างสร้างเป็นความสุข
เทคโนโลยีที่ดีหากไม่นำมาใช้งาน ก็คงไม่เกิดประโยชน์อันใด ทาง SCG จึงได้นำเอา BIM เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาพื้นที่การให้บริการภายในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เพื่อให้เป็น “โรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุข” โดยไม่เพียงนำเอาเทคโนโลยีอย่าง BIM ที่ช่วยเข้ามาสนับสนุนกระบวนการก่อสร้างให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา รวดเร็ว แม่นยำ และลดการใช้ทรัพยากร เกิดความคุ้มค่าสูงสุดแล้ว ทีมงานยังทำงานอยู่บนพื้นฐานของการทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริง (insight) ของผู้เข้าใช้บริการภายในโรงพยาบาล และการทำงานโดยมีส่วนร่วมกับทั้งคนไข้ บุคลากรทางการแพทย์ และบรรดาญาติของผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการด้วย เพื่อยกระดับการให้บริการของโรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุขได้จริง 

เมื่อข้อมูลวัตถุประสงค์พร้อม เครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยีพร้อม ก็ถึงเวลาลงพื้นที่ดำเนินการจริง โดยในปี 2562 
เอสซีจี นำโดยมูลนิธิเอสซีจี จึงได้เริ่มต้นโครงการฯ จากพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย จ.พิษณุโลก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชบ้านดุง จ.อุดรธานี โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จ.ขอนแก่น และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี โดยทีมวิจัยฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อทำการเก็บข้อมูลจากบุคลากรและผู้รับบริการของโรงพยาบาลถึงความต้องการในการปรับปรุงโรงพยาบาล รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลทางกายภาพ ผังแม่บท จนทำให้เกิดการทำงานออกแบบด้วยการมีส่วนร่วม (Participatory Design) พร้อมได้รับการสนับสนุนจากผู้แทนจำหน่ายเอสซีจีในพื้นที่ ในการร่วมบริจาควัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปีนี้ 

โรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุขในพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง
และนี่ก็คือผลงานแห่งความตั้งใจดีในการสร้างโรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุข ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากเพียงแค่การนำเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง BIM มาใช้ แต่ยังเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในแต่ละพื้นที่ การทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงในการใช้บริการอย่างลึกซึ้ง และความตั้งใจเกินร้อยของทีมงานเบื้องหลัง และทีมงานสนับสนุนอีกหลายชีวิต

1. อาคาร “เรือนสุขใจ” โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชบ้านดุง จ.อุดรธานี
ปรับปรุงพื้นที่บริเวณสวนสมุนไพรด้านข้างอาคาร OPD ให้เป็น “ที่พักคอย” ที่มีห้องน้ำให้บริการ โดยแนวคิดในการออกแบบตั้งใจให้คล้ายกับชานหรือระเบียงที่ยื่นออกมาจากส่วนที่เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีต้นไม้ใหญ่เดิมอยู่ มีหลังคาบังแดดและฝนเพื่อให้ญาติผู้ป่วยที่มารอคนไข้ได้เปลี่ยนอิริยาบถจากเดิมที่ต้องนั่งบนพื้นตามทางเดินภายในอาคาร ให้สามารถนอนหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น รับประทานอาหาร หรือพบปะพูดคุยกันระหว่างครอบครัว

2. อาคาร “ชานสุขใจ” โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย จ.พิษณุโลก
ปรับปรุงพื้นระหว่างอาคาร OPD ใหม่ และห้องผ่าตัด ให้เป็นพื้นที่พักคอยสำหรับญาติผู้ป่วย เช่น มีพื้นที่ชานลอยตัวขนาดใหญ่ โต๊ะสำหรับนั่งคุย รับประทานอาหาร อ่านหนังสือ หรือที่นั่งแบบเอนนอนได้ เป็นต้น ขณะที่ทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารก็ได้รับการปรับเปลี่ยนโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ของการเชื่อมต่อระหว่างกิจกรรมด้านหน้าและด้านหลัง พื้นที่ทั้งสองส่วนถูกเปิดเชื่อมเข้าหากันด้วยแผงไม้ระแนงและแผ่นโปร่งแสงที่ไม่ทึบตัน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เกิดความเคลื่อนไหวและเป็นพื้นที่กึ่งปิดกึ่งเปิดระหว่างส่วนพักคอยสำหรับญาติด้านในและส่วนบริการภายนอกอาคาร

3. อาคาร “เฮือนสุขใจ” โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จ.ขอนแก่น
ปรับปรุงพื้นที่บริเวณข้างศูนย์ไตเทียมให้เป็น “ศาลาพักของญาติ” โดยประยุกต์เอาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่าง “ลายแคน แก่นคูน” มาใช้ในการออกแบบพื้นที่ภายในเรือนพักญาติ โดยให้เอื้อต่อการใช้นั่งพูดคุยกัน การนั่งล้อมวงกินข้าว และนอนพักผ่อนกันเป็นครอบครัว มีส่วนเตรียมอาหารและล้างภาชนะ ห้องน้ำสำหรับคนทุกกลุ่มวัย และมีการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเหลือที่จำเป็น รูปทรงอาคารเน้นความเรียบง่าย เป็นมิตรกับผู้ใช้ แต่คงประสิทธิภาพในการกันแดด กันฝน และระบายอากาศได้ดี

4. อาคาร “ลานสุขใจ” โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี
ปรับปรุงพื้นที่ทางเชื่อมด้านหน้าโรงพยาบาล ระหว่างอาคาร OPD หลังเดิมและหลังใหม่ เพื่อให้กิจกรรมการให้บริการ การสัญจร และการรับส่งผู้ป่วย เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการปรับปรุงทางลาดและบันไดให้ได้มาตรฐาน เหมาะสมกับการงานจริง และสร้างพื้นที่พักคอยให้ญาติผู้ป่วยสามารถนั่งพักรอ และให้เป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้สะดวก เป็นมิตรต่อผู้มาเข้ารับบริการมากยิ่งขึ้น 

การขยายผลโครงการฯ สู่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชอีก 17 แห่ง
นอกจากการปรับปรุงส่วนต่างๆ ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 4 แห่งนี้แล้ว ยังจะมีการขยายผลโครงการฯ ในระยะที่ 2 ไปสู่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในอีก 17 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ จ.น่าน จ.เชียงราย จ.พิจิตร จ.แพร่ จ.สกลนคร จ.อุบลราชธานี จ.หนองคาย จ.กาฬสินธุ์ จ.นครพนม จ.ยโสธร จ.เลย จ.ราชบุรี จ.สระแก้ว จ.นครศรีธรรมราช จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา โดยในการทำงานระยะที่ 2 นี้ ได้ร่วมมือกับภาคีนักออกแบบและมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนด้านสถาปัตยกรรม และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี  โดย หน่วยงาน Cement and Construction Solution (CCS) ในภูมิภาคที่ตั้งของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 17 แห่ง เพื่อให้เกิดการทำงานที่รวดเร็ว ภายใต้งบประมาณรวมกว่า 52 ล้านบาท และเสร็จสิ้นทันกำหนดในปี 2563 

สุขใจทั้งผู้สร้างและผู้ใช้งาน
โครงการเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย

หลังก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุขแล้วเสร็จทั้ง 4 แห่ง ผลตอบรับจากบรรดาผู้เข้าใช้บริการที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแต่ละแห่งก็ดีเกินคาด หลายคนสงสัยถึงที่มาของโครงการดี ๆ นี้ว่าเป็นมาอย่างไร และนี่ก็คือคำตอบที่น่าชื่นใจนั้น 

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เอสซีจี และมูลนิธิเอสซีจี จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายจิตอาสาทั่วประเทศ ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และอำนวยประโยชน์สุขให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้โครงการ "เฉลิมราชย์ราชา"  โดยหนึ่งในโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติก็คือ “โครงการเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเอสซีจี กับมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี โดย หน่วยงาน Cement and Construction Solution (CCS)  ร่วมสนับสนุนการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการภายในโรงพยาบาลและสร้างสุขภาวะที่ดีในการมารับบริการของประชาชนและชุมชน พร้อมมุ่งสู่วิสัยทัศน์และพันธกิจการพัฒนาให้เป็น “โรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุข” ให้ชาวไทยทุกคนได้มีสุขภาพที่ดีถ้วนหน้ากัน และเป็นการยึดมั่นที่จะสืบสานการทำความดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป

 
 

ที่มา :
รายละเอียดโครงการ : http://bit.ly/36rv5TR
BIM Technology : http://bit.ly/2LMdGNT