Vertical Forest เมืองป่าแนวตั้ง ทางเลือกที่ (อาจ)รอดของคนเมือง
Technology & Innovation

Vertical Forest เมืองป่าแนวตั้ง ทางเลือกที่ (อาจ)รอดของคนเมือง

  • 01 Feb 2020
  • 28789

แม้ตึกสูงสง่าระฟ้าจะดูเป็นสิ่งปลูกสร้างทันสมัย แต่การอาศัยอยู่เป็นแนวดิ่งของมนุษย์นั้นปรากฏให้เห็นกันมาตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อนแล้ว ที่บ้างก็เป็นกลยุทธ์ในการอยู่ร่วมกันเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งไม่ให้ชาวเมืองอื่นมารุกราน บ้างก็เพื่อให้ประชากรจำนวนมากได้อยู่ใกล้กับศูนย์กลางอาณาจักรและสะดวกต่อการค้าขายให้มากที่สุด 

และปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับจำนวนประชากรที่ขยายขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติกลับลดน้อยสวนทางกัน การอาศัยในแนวตั้งดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะสามารถใช้จัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ และเมื่อมนุษย์เราได้เรียนรู้แล้วว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในขณะนี้จำเป็นต้องถึงคราวแก้ไขก่อนที่ทรัพยากรธรรมชาติจะหมดลงและบรรดาสัตว์ต่าง ๆ จะล้มหายตายจากไปเสียก่อน ตึกสูงระฟ้าบางแห่งจึงถึงคราวเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็นอีก “พื้นที่สีเขียวในเมือง” ที่ไม่ได้เป็นเพียงที่พักอาศัยของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งพักพิงของธรรมชาติและช่วยเพิ่มความยั่งยืนให้โลกใบนี้ได้มีอายุนานขึ้นอีกด้วย มาดูกันว่าเมืองไหนในโลกที่กำลังตื่นตัวกับการเดินหน้าสร้างพื้นที่สีเขียวแนวตั้งที่เป็นมิตรกับทั้งผู้อาศัยและกับโลกของเรากันบ้าง

©Max van den Oetelaar/Unsplash

Milan, Italy 
Bosco Verticale ต้นแบบป่าสูงแห่งแรกในมิลาน

หากพูดถึงแนวคิดการสร้างป่าแนวตั้งในเมือง (Vertical Forest)  สเตฟาโน โบเอรี (Stefano Boeri) สถาปนิกชาวอิตาเลียนคือผู้บุกเบิกแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นจริงมาตั้งแต่ปี 2014 โดยอาคารคู่สูง 27 ชั้น และ 18 ชั้น เพื่อการอยู่อาศัยหน้าตาสุดร่มรื่นในพื้นที่เขตปอร์โต นูโอวา กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี เป็นที่รู้จักกันดีในภาษาอิตาเลียนว่า “Bosco Verticale” ซึ่งหมายถึงป่าแนวตั้งนั่นเอง โดยที่นี่สามารถคว้ารางวัลอาคารที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2015 จาก The Council on Tall Buildings and Urban Habitat (CTBUH) ไปได้อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง และยังสามารถสร้างชื่อให้มิลานเป็นเมืองต้นแบบของการสร้างอาคารสวนป่าแนวตั้งแห่งแรกของโลกอีกด้วย

ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ภายนอกที่เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่แทนที่จะเป็นกระจกสะท้อนทันสมัยเหมือนตึกทั่วไปที่ทำให้อาคารสูงแห่งนี้โดดเด่นและแตกต่างเท่านั้น เพราะอาคาร Bosco Verticale ยังผ่านการเรียนรู้การคัดสรรพืชพรรณต่าง ๆ ที่นำเข้ามาปลูกในอาคาร โดยการทดลองปลูกต้นไม้ในสภาพอากาศที่มีลมแรงและเรียนรู้ว่าต้นไม้แต่ละประเภทจะสามารถเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมแบบใด ไม่ว่าจะจากปัจจัยด้านภูมิอากาศอย่างทิศทางของแสง ลม ความชื้น ฤดูกาลที่แตกต่าง ไปจนถึงขนาดของพื้นที่ในอาคารและทิศทางของตึก ปัจจุบันอาคารแห่งนี้จึงสามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ได้มากถึง 700 ต้น รวมถึงไม้ยืนต้นขนาดเล็กและพุ่มไม้น้อย ๆ อีกกว่า 20,000 ต้น เทียบเท่ากับพื้นที่ป่าขนาด 20,000 ตารางเมตรเลยทีเดียว ซึ่งป่าในเมืองแนวตั้งนี้ยังช่วยโลกเพิ่มก๊าซออกซิเจนและลดก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 30 ตันต่อปี ช่วยลดปัญหามลพิษทางเสียง อากาศ และฝุ่นควันให้กับผู้พักอาศัย เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับเมืองใหญ่ที่สามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งพักพิงให้กับสัตว์เล็กและนกในเมืองกว่า 20 สายพันธุ์ รวมทั้งแมลงต่าง ๆ อีกมากมาย

และหากมองให้ลึกลงไปถึงระบบการจัดการอาคาร Bosco Verticale ยังเป็นอาคารที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เองด้วยแผงพลังงานโซลาร์เซลล์ ร่วมกับการใช้พลังงานความร้อนสะอาดใต้พิภพ พร้อมกับการมีระบบจัดการนำน้ำที่ใช้แล้ว (Grey Water) กลับมาใช้ใหม่เพื่อดูแลต้นไม้น้อยใหญ่ในอาคารได้ด้วยเช่นกัน อาคารแห่งนี้จึงถือเป็นต้นแบบของ Vertical Forest ที่ช่วยสร้างระบบนิเวศอันเป็นมิตรกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดอาคารหนึ่งของโลก

©Andrea Cherchi

Library of Trees
เมื่อก้าวเท้าออกมาจากอาคารป่าแนวตั้ง Bosco Verticale เพียงไม่กี่ร้อยเมตร ก็จะเจอกรีนสเปซอีกแห่งหนึ่งซึ่งออกแบบโดยสถาปนิกชาวดัตช์ เปตรา เบลสส์ (Petra Blaisse) ที่ตั้งใจทำให้พื้นที่สีเขียวกลางกรุงมิลานแห่งนี้เป็นที่พักของต้นไม้ที่ไร้พรมแดน สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ทุกเส้นทาง เพื่อเปิดรับผู้คนให้ได้ชื่มชมสวนพฤษศาสตร์แบบใหม่ที่สามารถใช้พื้นที่สีเขียวทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ เคียงข้างกับการอยู่ท่ามกลางเพื่อนที่สุขสงบที่สุดอย่างต้นไม้ได้ตลอดทั้งวัน

โดยพื้นที่สีเขียวขนาดเกือบ 1 แสนตารางเมตรแห่งนี้ ไม่ได้มีเส้นทางกั้นระหว่างทางคนวิ่งหรือทางปั่นจักรยานเป็นสัดส่วนชัดเจนเหมือนอย่างสวนสาธารณะกลางเมืองทั่วไป หากแต่เป็นสวนรูปทรงเรขาคณิตแปลกตาที่มีเส้นทางทับซ้อนแต่เชื่อมต่อถึงกันได้ทั่ว และยังยึดโยงต่อกันด้วยสวนป่าทรงกลมที่ตั้งใจคัดเลือกต้นไม้ตามประเภทและสีสันกว่า 135,000 ต้น รวมกว่า 100 สายพันธุ์ อันจะเติบโตเป็นเสมือนหลังคาของห้องสมุดต้นไม้ที่ให้โครงสร้างและสีที่หลากหลายตามฤดูกาลที่เปลี่ยนไป

ภาพ:https://www.insideoutside.nl/Biblioteca-degli-Alberi-Milan


Liuzhou, China 
Forest City สวนป่าในเมืองแห่งแรกของเอเชีย

เมื่อมลพิษทางอากาศในหลิ่วโจว (Liuzhou City) หนึ่งในเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของจีนกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤต รัฐบาลจีนจึงเลือกจัดการปัญหานี้ด้วยวิธีการที่ยั่งยืน โดยการเจริญรอยตามความสำเร็จของการสร้างอาคารสวนป่าแนวตั้งอย่าง Bosco Verticale แต่เล่นใหญ่กว่านั้น ด้วยการสร้างทั้งเมืองที่ประกอบด้วยหลายร้อยอาคารให้ปกคลุมด้วยพืชพันธุ์ไม้ทั้งหมด และนั่นทำให้จีนเป็นประเทศแรกในเอเชียและในโลกที่จะมี “เมืองสวนป่า” (Forest City) ที่เริ่มต้นก่อสร้างแล้วในขณะนี้

“มันเป็นเหมือนการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ ที่คุณจะได้สร้างความหลากหลายทางชีวภาพที่น่าทึ่ง ซึ่งสามารถลดก๊าซเรือนกระจก เพิ่มการผลิตออกซิเจน ลดฝุ่น และช่วยทำให้อากาศดีขึ้น ให้เกิดขึ้นท่ามกลางเมืองที่มีความหนาแน่นสูงและเคยมีปัญหามลพิษ” สเตฟาโน โบเอรี กล่าวถึงความท้าทายในการรับโปรเจ็กต์ครั้งใหญ่ที่ต้องเนรมิตเมืองสวนป่าให้กับรัฐบาลจีน โดยเริ่มแรกรัฐบาลจีนได้พยายามหาทางรับมือกับเมืองที่ขยายมากขึ้น จากการที่ทุก ๆ ปีจะมีชาวจีนจากแถบชนบทอพยพเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่อย่างหลิ่วโจว ซึ่งการขยายเมืองแบบกระจัดกระจาย (Suburban Sprawl) แบบเดิมมีก็แต่จะสร้างปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ และไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อทางรัฐบาลจีนได้เห็นความสำเร็จของโปรเจ็กต์ Bosco Verticale ที่มิลาน จึงได้จุดประกายความหวังครั้งใหม่ในการลบภาพลักษณ์เมืองอุตสาหกรรมที่เคยปกคลุมด้วยฝุ่นควันให้กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความเขียวชอุ่มที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,100 ไร่  ที่ซึ่งบรรดาอาคารเพื่อการอยู่อาศัย โรงเรียน และสำนักงานน้อยใหญ่ต่าง ๆ เกือบ 200 อาคาร พร้อมพื้นที่สาธารณะจะปกคลุมด้วยพืชพันธุ์นานากว่า 1 ล้านต้น คล้ายเป็นป่าในเมืองที่น่าอยู่ให้กับประชาชน

และไม่ใช่เพียงการพึ่งพาต้นไม้ให้ช่วยสร้างความร่มรื่นและช่วยลดปัญหาด้านมลพิษทางอากาศเท่านั้น แต่ระบบการจัดการของสวนป่าในเมืองนี้จะอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างธรรมชาติกับเทคโนโลยีที่จะช่วยเมืองลดการปล่อยมลพิษลงให้น้อยที่สุด บางอาคารจะใช้พลังงานสะอาดทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานความร้อนใต้พิภพ รวมทั้งการวางระบบการสัญจรให้เป็นเมืองเดินได้ที่เน้นให้ประชาชนใช้การเดินหรือปั่นจักรยานเป็นหลัก รวมทั้งในอนาคตทางรัฐบาลก็มีแผนจะส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน และหากโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยก็คาดกันว่า เมืองสวนป่าของจีนจะช่วยโลกดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้ปีละ 10,000 ตัน เพิ่มการผลิตก๊าซออกซิเจนได้กว่า 900 ตัน รวมทั้งใบไม้ที่ให้ร่มเงากับอาคารและทางเดินจะช่วยลดอุณหภูมิ ทำให้เมืองลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้อีกมาก อีกทั้งสวนป่าในเมืองยังเป็นแหล่งที่อยู่ให้กับสัตว์น้อยใหญ่ได้อีกหลากหลายสายพันธุ์ ลดมลภาวะทางเสียงและอากาศ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับชาวเมืองได้อย่างไม่ต้องสงสัย

โดยโปรเจ็กต์การสร้างป่าในเมืองที่ประกอบด้วยอาคารป่าแนวตั้งในลักษณะนี้ มีต้นทุนสูงกว่าการสร้างอาคารทั่วไปเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ทำให้หลายเมืองทั่วโลกในตอนนี้ไม่ว่าจะในปารีส ยูเทรกต์ ไคโร และโลซาน เริ่มพัฒนาแนวทางการสร้างป่าในเมืองแนวตั้งเป็นของตัวเองกันแล้วเช่นกัน “ผมคิดว่าภายในสองหรือสามปีต่อจากนี้จะมีสถาปนิกคนอื่น ๆ ที่เลียนแบบหรือพัฒนาแนวทางการสร้างป่าในเมืองอย่างที่พวกเราทำอยู่ แต่พวกเราไม่ได้คิดจะจดลิขสิทธิ์อะไรเลย และหวังด้วยว่าสถาปนิกคนอื่น ๆ จะพัฒนาโปรเจ็กต์ลักษณะนี้ได้ดีกว่าเราในอนาคต” สเตฟาโน โบเอรี กล่าวทิ้งท้าย

©globalcad.co.uk

1000 Trees
“ป่าคอนกรีต” อาจเป็นคำเปรียบเปรยของเมืองใหญ่ทันสมัยที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้าแลดูแห้งแล้งไร้ชีวิตชีวา แต่เมื่อเขตชานเมืองสร้างสรรค์ในเซี่ยงไฮ้ที่รู้จักกันในชื่อว่า “M50 Art District” ได้ลงมือพัฒนาโครงการใหม่ “1000 Trees” ที่ได้นักออกแบบมือดีชาวอังกฤษ โทมัส เฮเธอร์วิก (Thomas Heatherwick) มาสร้างสรรค์อาคารมิกซ์ยูสที่เป็นทั้งที่พักอาศัย อาร์ตแกลเลอรี และสำนักงานอื่น ๆ ที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 300,000 ตารางเมตรให้มีลักษณะคล้ายภูเขาคู่ปกคลุมด้วยต้นไม้ 1,000 ต้น โดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำท่ามกลางป่าคอนกรีตกลางเมืองเซี่ยงไฮ้ ก็ทำให้โปรเจ็กต์นี้ได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่เน้นฟังก์ชันการใช้สอยที่สามารถตอบโจทย์ชาวเมืองสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดีแล้ว รูปแบบการสร้างอาคารให้เป็นเหมือนภูเขาในเมืองใหญ่ ที่โครงสร้างเสาแต่ละต้นจะเป็นเสมือนสวนหย่อมและแหล่งโอเอซิสส่วนตัวอันประกอบด้วยพืชพันธุ์ไม้น้อยใหญ่รวมกันประมาณ 25,000 ต้น จำนวนกว่า 46 สายพันธุ์ที่ปกคลุมอยู่ทั่วทั้งอาคาร ก็สามารถสร้างความรื่นรมย์ให้ชาวเมืองเหมือนได้อยู่ใกล้ชิดกับภูเขาเขียวขจีในเมืองทันสมัยอย่างเซี่ยงไฮ้ได้ตลอดปีเช่นกัน 


Paris, France 
M6B2 Tower of Biodiversity อาคารของเมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน

แม้แนวคิดการอยู่ในอาคารสูงจะขัดกับวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันในสไตล์หมู่บ้านแบบฝรั่งเศส แต่เมื่อเมืองจำเป็นต้องขยับขยาย การอยู่อาศัยในตึกสูงก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก สถาปนิกเอดูอาร์ด ฟร็องซัวส์ (Edouard Francois) จึงออกแบบอาคารประเภทอยู่อาศัย M6B2 Tower ในปารีสให้น่าอยู่และมีประโยชน์กับเมืองมากขึ้น โดยการวางแผนให้ตึกสูงแห่งนี้เป็นดั่งแหล่งเพาะเมล็ดพันธุ์พืชต่าง ๆ ที่จะแพร่ขยายอาณาจักรสีเขียวออกไปได้ยามเมื่อสายลมพัดผ่านให้เมล็ดพันธุ์บนตึกสูงแห่งนี้ปลิวไปทั่วปารีส

M6B2 Tower คืออพาร์ตเมนต์สีเขียวสูง 16 ชั้นในกรุงปารีสริมแม่น้ำแซน ที่ถูกออกแบบเพื่อให้ทั้งคนและพืชพันธุ์ต่าง ๆ ได้พักอาศัยและเติบโตในกรุงปารีสโดยเฉพาะ โดยบริเวณองค์ประกอบหน้าอาคาร (Façade) ของตึกจะมีโครงสร้างเป็นตาข่ายสแตนเลสที่ขยายไปจนถึงหลังคาและสวนบนชั้นดาดฟ้า ซึ่งทำหน้าที่ให้พืชพันธุ์ไม้เลื้อยสามารถเติบโตได้ดีที่สุดและช่วยให้เมล็ดพันธุ์กระจายไปตามแรงลมได้ไกลที่สุดเช่นกัน ส่วนบริเวณชั้นในถัดมาจะประกอบด้วยแผงไทเทเนียมรีไซเคิลสีเขียว ที่จะช่วยสะท้อนแสงให้ตัวอาคารมีความงามรื่นรมย์คล้ายผนังมอสในผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งต่อจากนี้ไปอีก 20 ปี อาคารแห่งนี้จะไม่เพียงเป็นที่อยู่ของไม้เลื้อยพันธุ์ต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังคาดหวังจะปลูกต้นไม้ใหญ่อย่างต้นโอ๊กและต้นสนให้ได้เติบโตและออกเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกในกรุงปารีสต่อไปอีกด้วย

©archdaily.com

Paris Rooftop ฟาร์มดาดฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เพราะนโยบายของเมืองปารีสที่มีแผนจะพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองให้มากขึ้นจนถึง 100 เฮกเตอร์ให้ได้ภายในปี 2020 โปรเจ็กต์การสร้างสวนในเมืองที่คิดเป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ของแผนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนครั้งนี้ จึงกำลังทำให้ปารีสกลายเป็นเจ้าของพื้นที่สวนในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก

Agripolis บริษัทที่รับผิดชอบการพัฒนาฟาร์มในกรุงปารีสมาแล้วมากมายได้เล็่งเห็นการสร้างประโยชน์ของพื้นที่ว่างในเมือง อย่างเช่นพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างและชั้นดาดฟ้าบนอาคารต่าง ๆ ให้กลายเป็นสวนในเมือง โดยโครงการพัฒนาพื้นที่สวนในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้ จะพัฒนาพื้นที่ดาดฟ้าบนศูนย์จัดแสดงสินค้าและนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส Paris Expo Porte de Versailles ซึ่งกินพื้นที่ประมาณ 14,000 ตารางเมตร หรือเทียบเท่ากับ 2 สนามฟุตบอล ให้กลายเป็นสวนในเมืองแบบเปิดที่สามารถปลูกพืชผักจำนวนกว่า 30 สายพันธุ์ให้เติบโตด้วยการปลูกแบบแอโรโพนิกส์ (Aeroponic) ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ดินและใช้ปริมาณน้ำน้อยในพื้นที่การปลูกที่จำกัด โดยสวนในเมืองแห่งนี้จะเปิดให้ผู้เข้าชมหรือคนเมืองได้เข้ามาซื้อผลผลิตที่ปลอดภัย และเป็นแหล่งเรียนรู้การทำสวนในเมืองด้วยตัวเอง รวมทั้งยังเปิดพื้นที่ให้ชาวเมืองได้เช่าปลูกพืชผลเป็นของตัวเองอีกด้วย

©Photo by Viparis

Vertical Forest สายใยธรรมชาติที่มนุษย์ก็ไม่อาจสร้าง
แน่นอนว่าการปลูกป่าให้อยู่บนตึกสูงไม่อาจสร้างความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและเกื้อกูลกันอย่างเป็นธรรมชาติได้เท่ากับผืนป่าจริง ๆ และความพยายามในการสร้างป่าแนวตั้งในเมืองที่ไม่เป็นธรรมชาตินี้ก็ยังเป็นที่กังขาว่าจะช่วยสร้างความยั่งยืนได้มากน้อยแค่ไหน จะคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ต้องบำรุงรักษาหรือไม่ หรือนี่จะเป็นเพียงแค่เทรนด์การอยู่อาศัยของคนเมืองผู้มีอันจะกินที่มีโอกาสได้สัมผัสกับธรรมชาติประดิษฐ์ และหวังว่าอาคารเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับเมืองได้ในระยะยาว อย่างไรก็แล้วแต่ แม้วิธีการที่จะแก้ปัญหาจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยการพัฒนาอาคารที่ยั่งยืนหรือการสร้างพื้นที่สีเขียวจะยังคงต้องศึกษาถึงปัจจัยความเหมาะของพื้นที่ในเมืองนั้น ๆ กันต่อไป แต่ความพยายามในการโอบรับและช่วยสร้างระบบนิเวศธรรมชาติให้เกิดขึ้นเพื่อให้มนุษย์ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับธรรมชาติกันอีกสักนิด ก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่าเอาใจช่วยไม่น้อย

ที่มาภาพเปิด : archdaily.com

ที่มา :
บทความ “A Brief History Of Vertical Structures” จาก Verticalcity.Org
บทความ "Heatherwick Studio's Mixed-Use '1000 Trees' Development Takes Shape In Shanghai" (พฤศจิกายน 2019) จาก Designboom.Com
บทความ “Inside China’s Plan For A Massive Forest-Covered City” (กรกฎาคม 2017) จาก Fastcompany.Com
บทความ “Milan's High-Rise Vertical Forest Takes Root” (พฤศจิกายน 2018) จาก Lonelyplanet.Com
บทความ “Paris Is Opening The World's Largest Urban Rooftop Farm” (สิงหาคม 2019) จาก Weforum.Org
บทความ “World's Largest Urban Farm To Open – On A Paris Rooftop” (สิงหาคม 2019) จาก Theguardian.Com
บทความ “M6b2 Tower Of Biodiversity” (สิงหาคม 2017) จาก Esigningbuildings.Co.Uk
บทความ “Milan's Library Of Trees Is Finally Open” (ธันวาคม 2018) จาก Lonelyplanet.Com
บทความ “เมืองสวนป่าหลิ่วโจวความต่างที่ลงตัวแห่งแรกของโลก” (ตุลาคม 2017) จาก Thaibizchina.Com
บทความ “Stefano Boeri ผู้เปลี่ยนแปลงเมืองด้วยต้นไม้ใหญ่ เจ้าของผลงาน Bosco Verticale” (ธันวาคม 2019) จาก Citycracker.Co

เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ