แข่งกันสูง
หากตึกสูงระฟ้าไม่ได้ถูกสร้างมาแค่เพื่ออยู่อาศัยหรือแค่ทำงาน แต่เป็นที่ที่ไว้ทำอะไรก็ได้ที่สามารถช่วยโลกใบนี้ให้ดีขึ้น มันจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรกัน
eVolo วารสารด้านสถาปัตยกรรมและวงการออกแบบที่เน้นเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความยั่งยืน และนวัตกรรมการออกแบบเพื่อศตวรรษที่ 21 ได้จัดการแข่งขันประกวดออกแบบตึกสูงประจำปีเป็นปีที่ 14 ในปี 2019 ที่ผ่านมา โดยถือเป็นหนึ่งในรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดในแวดวงสถาปัตยกรรมตึกสูง มีเหล่าสถาปนิกและนักออกแบบทั่วโลกที่พากันงัดไอเดียมาสู้กัน โดยการหยิบปัญหาหนัก ๆ ทางสังคม อย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผู้อพยพ แม้แต่การเก็บข้อมูล มาต่อยอดเป็นไอเดียตึกสูงที่ดูแปลกตาและหลุดคอนเซ็ปต์ไปจากวิถีการใช้งานแบบเดิม ๆ ของตัวตึก
ในเวทีดังกล่าวคณะกรรมการตัดสิน 3 รางวัลใหญ่ และรางวัลชมเชยอีก 27 โครงการ จากทั้งหมด 478 โครงการที่ถูกส่งเข้ามาแข่งขันในปี 2019 ตัวอย่างผลงานที่คว้ารางวัล ได้แก่ Creature Ark: Biosphere Skyscraper เป็นตึกที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สัตว์โลกได้อยู่อาศัยในทศวรรษใหม่นี้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นผลงานของสามนักศึกษาชาวจีนจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ที่ช่วยกันออกแบบเขตอนุรักษ์ธรรมชาติโดยมีสถานีวิจัยส่วนกลางทำหน้าที่ควบคุมสภาวะแวดล้อมภายในอาคารให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิดมากที่สุด โดยแบ่งออกเป็น 5 ชั้นตามสภาพภูมิอากาศโลก คือขั้วโลก หนาวเย็น อบอุ่น ร้อนชื้น และแห้งแล้ง และโครงสร้างทั้งหมดของตึกจะมีผนังอีกชั้นคลุมไว้เพื่อรักษาอุณภูมิภายในของแต่ละชั้น
ในขณะที่หนึ่งในภัยคุกคามใหญ่ของโลกคือเรื่องมลพิษทางอากาศ ผลงานที่ชื่อ Named Airscraper จึงสามารถคว้าอันดับสองไปในการแข่งขัน โดยคู่สถาปนิกชาวโปแลนด์ได้ร่วมมือกันออกแบบตึกเสียดฟ้าที่มีความสูงกว่า 800 เมตร และกว้างถึง 30 เมตร มีรูปร่างเหมือนกับปล่องไฟซึ่งสามารถดูดมลพิษจากพื้นดินเพื่อนำมากรองอากาศและปล่อยอากาศบริสุทธิ์ออกไปที่ปลายปล่อง โดยตึกนี้ยังสามารถเป็นที่อยู่อาศัยของคนได้ถึง 7,500 คน ซ้ำยังมีแหล่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา ร้านค้า และสวนขนาดใหญ่
ส่วนรางวัลชนะเลิศตกเป็นของมาร์โก ดราจิเซวิก (Marko Dragicevic) นักศึกษาสถาปัตย์ชาวเซอร์เบีย กับผลงาน Methanescraper ที่ตั้งเป้าไปยังการจัดการขยะจำนวนมหาศาลในเมืองที่มักจะไปจบลงในหลุมฝังกลบ โดยตัวตึกได้รับการออกแบบให้ทำหน้าที่จัดการนำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลขั้นพื้นฐาน ส่วนขยะอาหารซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนระหว่างการย่อยสลายจะถูกแปรไปเป็นพลังงานทดแทน และหลังจากขยะทั้งหมดถูกย่อยสลายแล้ว ตัวถังที่บรรจุขยะก็จะสามารถนำไปล้างทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก
เพราะบนโลกนี้จำต้องมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยและการทำงาน นี่จึงนับเป็นความพยายามของมนุษย์ที่ต้องสรรหาทางออกมาให้ชีวิตในอนาคตได้อยู่ดี กินดี และมีคุณภาพกว่าเดิม ไม่ว่าจะต้องแข่งกันสร้างตึกสูงแค่ไหนก็ตาม
ที่มาภาพ : dezeen.com
ที่มา : evolo.us และ บทความ “Vertical waste processor wins conceptual skyscraper contest” (พฤษภาคม 2562) โดย Tom Ravenscroft จาก dezeen.com
เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร