บางกอก ซีแลนเดีย : กินอยู่อย่างไรเมื่อน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในปี 2050
หากวันหนึ่งกรุงเทพฯ จมอยู่ใต้น้ำ กลายสภาพเป็นเหมือนกับ “ซีแลนเดีย” (Sealandia) พื้นที่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิกด้านล่างของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งไม่เคยได้รับการปฏิบัติให้เป็นทวีปเช่นเดียวกับทวีปอื่น แล้วถ้าวันนั้นมาถึง เราจะปรับตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองบาดาลกันอย่างไร
เท้าความย้อนกลับไปในปี 2554 น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ที่หลายคนมองว่าเป็นหายนะ นั่นยังโชคดีนักเพราะน้ำที่ท่วม เป็น “น้ำจืด” หากแต่ (มีการคาดการณ์ว่า) สถานการณ์น้ำท่วมในอีก 30 ปีข้างหน้านี้ น้ำที่ว่านั้นจะเป็น “น้ำเค็ม” ที่เป็นผลมาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นและการที่น้ำแข็งขั้วโลกละลาย เป็นเหตุให้ระดับน้ำทะเลสูงจนส่งผลกระทบรุนแรงต่อหลายพื้นที่ทั่วโลก...กลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นผู้ประสบภัยในอีก 30 ปีข้างหน้า จึงจับมือร่วมใจกัน “ออกแบบทางเอาชีวิตรอด” ที่หลากหลาย บ้างก็สามารถนำมาใช้ได้เลยทันที บ้างก็เป็นไอเดียที่เหมาะแก่การสานต่อในอนาคต หากเรายังอยาก “อยู่รอด” ยามวิกฤตน้ำท่วมเมืองในภายภาคหน้า เกิดเป็นผลงานทดลองทั้ง 8 ที่จำลองการใช้ชีวิตในวันที่เมืองไทยอยู่ใต้น้ำ
UTOKAI – การบริหารจัดการทรัพยากร / ออกแบบโดย ธนดล ไทยดี
เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อน้ำท่วมคือ ภาคการเกษตร การจัดสรรปันส่วนให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพียงพอในระดับที่เท่าเทียมกันจึงเป็นหน้าที่หลักของแอปพลิเคชัน Utokai ในการจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและอุตสาหกรรม ที่จะช่วยทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูล ตั้งแต่การแนะนำพืชผักที่ควรปลูกในช่วงน้ำแล้งหรือน้ำมาก ปริมาณน้ำที่ควรใช้และสามารถใช้ได้ในช่วงนั้น เพื่อแก้ปัญหาให้ทุกคนได้ใช้น้ำเท่า ๆ กัน ไม่ใช่น้ำท่วมที่ต้นน้ำ แต่น้ำแล้งที่ปลายน้ำเหมือนอย่างเคย
Eco Mimic Tile - การบำบัดน้ำ / ออกแบบโดย โสภณัฐ สมรัตนกุล
คูคลอง นับเป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญของเมืองกรุงฯ แต่ปัจจุบันแหล่งน้ำนี้กลับถูกทำลายแลยิ่งเสื่อมโทรมลงเพราะคอนกรีตเป็นตัวการที่ทำให้แหล่งน้ำขาดระบบนิเวศที่ดี จึงเกิดคำถามขึ้นว่า “เราจะฟื้นฟูระบบนิเวศกลับมาอย่างไรโดยไม่ต้องทุบคลองคอนกรีตทิ้ง” วัสดุปิดผิว จึงอาจเป็นทางรอดของระบบนิเวศในคูคลอง ที่เป็นส่วนผสมออร์แกนิกจากกระดาษและแกลบ ผสมโรงด้วยหินพัมมิส (Pumice Stone) ที่มีลัษณะเป็นรูพรุนและคุณสมบัติช่วยให้รากไม้ยึดเกาะได้ดี ทั้งยังปล่อยออกซิเจนให้จุลินทรีย์อยู่รอด ลดการระเหยของน้ำ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้คุณภาพของน้ำดีขึ้นและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อยู่ได้เป็นปกติสุข ซึ่งวัสดุปิดผิวชนิดนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการปิดผิวอาคารเพื่อลดปัญหาน้ำเน่าเสียยามเกิดน้ำท่วมได้อีกด้วย
Ponepod – อาหารในอนาคต / ออกแบบโดย พริษฐ์ นิรุตติศาสตร์ และ เสกข์สุชา สุมาลย์มาศ
เมื่อน้ำท่วมก็เท่ากับว่าเราจะหาอาหารได้ยากขึ้น รูปแบบอาหารการกินก็จะเปลี่ยนไปจากสัตว์ใหญ่กลายเป็นสัตว์เล็ก เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานและทรัพยากร อนาคตเราจะต้องแย่งชิงทรัพยากรอาหารกัน เนื่องจากโปรตีนจะกลายเป็นของหายาก
Ponepod เป็นไอเดียการเลี้ยงสัตว์เล็กอย่างแมลงไว้กินเป็นอาหาร คำว่า Pone (โพน) มาจากภาษาอีสานแปลว่ารังปลวก รังมด ซึ่งแนวคิดนี้เกี่ยวเนื่องกับการผลิตอาหารไว้ใช้ในครัวเรือน เพราะแมลงอุดมไปด้วยประโยชน์นานาชนิด ทั้งมีคุณค่าทางโภชนาการ ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย กินได้ทั้งตัวโดยไม่เหลือเป็นขยะ แถมยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ใหญ่อย่างวัวถึงร้อยละ 95
Botijo – การถนอมอาหาร / ออกแบบโดย เปรมปรี ชูกลิ่น และ ลลิตา กิจจาชาญชัยกุล
รู้ไหมว่าเราผลาญพลังงานกันมากเท่าไรต่อวัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ แค่แช่อาหารในตู้เย็นแล้วนำออกมาอุ่น ก็นับว่าผลาญพลังงานไปมากพอควรแล้ว โดยปกติเราใช้พลังงานแบบกริด (Grid Energy) แต่หากน้ำท่วม เราย่อมไม่มีไฟฟ้าไว้ใช้ และนั่นจะส่งผลไปถึงอาหารในตู้เย็นของเรา เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนการใช้ไฟฟ้าเสียใหม่เป็นแบบที่เรียกว่าออฟกริด (Off Grid Energy)
Botijo ผลิตภัณฑ์ตู้เย็นที่ไม่ใช้พลังงาน แต่นำภูมิปัญญาการถนอมอาหารในอดีตมาปรับใช้ ด้วยการใช้ ดิน น้ำ และทรายเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการทดสอบแล้วว่าสามารถทำความเย็นได้ 9-10 องศาเซลเซียส เก็บผักได้นานนับสัปดาห์ ซึ่งจะช่วยให้อาหารมีเพียงพอต่อครอบครัวเล็ก ๆ ในเมืองหลวง
Weaving E-waste – วัสดุทดแทน / ออกแบบโดย จิตรา ดวงแสง และ ภัทรกร มณีศิลาวงศ์
เมื่อไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็เท่ากับว่า “สายไฟ” จะกลายเป็นของไร้ประโยชน์ เมื่อบวกกับการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างมหาศาลจากอเมริกาและจีนแผ่นดินใหญ่ สายไฟจึงเป็นของเหลือใช้แถมเป็นพิษต่อเมือง
Weaving E-waste คือการนำวัสดุทดแทนอย่างสายไฟ (ที่นำทองแดงออกแล้ว) มาใช้สานเป็นเฟอร์นิเจอร์ไว้ใช้ในบ้านเรือนอย่างเก้าอี้ ที่มีความแข็งแรง คงทน เป็นการหยิบเอาของเหลือใช้ใกล้ตัวมาใช้ประโยชน์โดยไม่ปล่อยให้สูญเปล่า
CAPBA – การจัดการขนส่ง / ออกแบบโดย นรเศษฐ์ สะใบ
เนื่องจากการจราจรในเขตกรุงเทพฯ ไม่น่าอภิรมย์เท่าใดนัก จึงเป็นเหตุให้บริการขนส่งอย่าง Grab, FoodPanda, GET เติบโตไวขึ้น แต่หากอีก 30 ปีที่น้ำจะท่วม บริษัทเหล่านี้ก็ไม่อาจต้านทานหรือแก้ปัญหาให้คนเมืองได้เช่นกัน เพราะไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ดังเดิม
CAPBA (Capsule Boat Automation) เรือเดลิเวอรีจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าวงการขนส่งของไทย เพราะถูกออกแบบมาให้ทำได้มากกว่าแค่การ “ส่ง” อาหาร แต่ยังขนส่งสินค้าอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต ด้วยการนำทางผ่านระบบ GPS เพื่อเข้าถึงทุกพื้นที่ที่เต็มไปด้วยน้ำได้แบบสบาย ๆ
Daphne – โครงสร้างชีวภาพ / ออกแบบโดย รัฐ เปลี่ยนสุข
คอนกรีต คือวายร้ายตัวฉกาจที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอันดับสองของโลก เพราะการเติบโตของเมืองจึงทำให้มีการใช้วัสดุอย่างคอนกรีตเพิ่มมากหลายเท่าตัว
Daphne เป็นการทดลองทำโครงสร้างขนาดเล็กด้วยงานพิมพ์สามมิติ (3D Printing) ที่อนาคตจะกลายเป็นเรื่องที่ใครก็สามารถทำได้ในครัวเรือน เพียงขึ้นรูปด้วยเม็ดพลาสติกและเสริมความแข็งแรงด้วยพืชพันธุ์ที่มีระบบรากแข็งแรงอย่างต้นโพธิ์ ต้นไทร ก็จะช่วยให้ไม่เพียงแค่ลดการใช้คอนกรีต แต่ยังช่วยเพิ่มธรรมชาติที่เป็นผู้ก่อการดีในการปล่อยออกซิเจนอีกด้วย
Hey it’s me – เสื้อผ้าในอนาคต / ออกแบบโดย บุษยมาศ พรมงาม และ มนนัทธ์ บุญบริบูรณ์สุข
สิ่งที่เราไม่รู้เลยว่าเรากำลังทำร้ายโลกคือการซักผ้า เสื้อผ้าส่วนใหญ่ที่เราใส่ผลิตไมโครพลาสติกจำนวนมหาศาลทุกครั้งในการซัก และเมื่อน้ำท่วมไม่สามารถทำการเกษตรได้ การผลิตเสื้อผ้าที่มักต้องอาศัยเส้นใยจากธรรมชาติก็จะเป็นไปได้ยากเช่นกัน
Hey it’s me เป็นการออกแบบเสื้อผ้าที่ทำจากสาหร่ายเทา เพราะเมื่อน้ำท่วมก็อาจไม่มีพืชใดเติบโตได้ดีเท่าสาหร่าย โดยผสมกับเส้นใยพลาสติกรีไซคิลเข้ากับสาหร่ายไกที่มีต้นกำเนิดที่จังหวัดน่าน ให้กลายเป็น “สาหร่ายเทา” พืชที่เติบโตได้ดีในน้ำกร่อย ก็สามารถนำมาใช้ในการขึ้นรูปแทนการถักทอเป็นเสื้อผ้า และยังเป็นมิตรต่อธรรมชาติ
หากใครอยากรู้ว่าหน้าตาของกินของใช้ในอนาคต จะมีรูปร่างแบบไหน ต้องไม่พลาดไปชมผลงานทดลองของจริงพร้อมกันได้ในงาน BANGKOK SEALANDIA เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 จัดแสดง ณ บ้านเหลียวแล ตลาดน้อย ตั้งแต่วันนี้ - 9 กุมภาพันธ์ 2563 “เพราะวิกฤตภาวะโลกร้อนไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไปและการพร้อมรับมือต้องถูกวางแผนตั้งแต่ในวันนี้”
เรื่อง : กองบรรณาธิการ