ยิ่งสูงยิ่งหนาว...อยู่คอนโดชั้นสูงๆ ส่งผลอย่างไรทางจิตวิทยา
หากกำลังเล็งจะซื้อห้องชุดในคอนโดมิเนียมสักแห่ง หลายคนมักอยากได้ชั้นสูงเข้าไว้เท่าที่กำลังเงินจะอำนวย เพราะจะได้ ‘ดูวิว’ หรืออย่างน้อย ๆ ก็คงไม่มีใครเล็งจะซื้อห้องที่อยู่ชั้นล่างสุด หากไม่ใช่เหตุผลเรื่องราคาที่ต่ำกว่า เมื่อการอยู่ชั้นสูง ๆ ในวันนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางฐานะไปแล้ว
แต่การอยู่ห้องชุดชั้นสูง ๆ ก็มีผลกระทบด้านลบในทางจิตวิทยาเช่นกัน
ศาสตราจารย์โรเบิร์ต กิฟฟอร์ด (Professor Robert Gifford) มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ทำงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในค.ศ. 2007 เกี่ยวกับผลกระทบในแง่จิตวิทยาของการอยู่บนตึกสูง แง่มุมที่เขาศึกษาก็คือ ความพึงพอใจที่ผู้พักอาศัยมีต่อห้องชุดนั้น ความเครียด การฆ่าตัวตาย ปัญหาด้านพฤติกรรม อาชญากรรมและความหวาดกลัวต่ออาชญากรรม ความสัมพันธ์ทางสังคม และผลกระทบที่มีต่อการเลี้ยงดูเด็ก
วิธีศึกษาของเขาเน้นศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่ทำไว้ก่อนแล้วเกือบหนึ่งร้อยชิ้น เพื่อหาข้อยืนยันว่า ยิ่งอยู่คอนโดชั้นสูง ๆ ยิ่งส่งผลกระทบเชิงลบในเชิงจิตวิทยาหรือไม่
ผลการศึกษาที่ ศ.กิฟฟอร์ดค้นพบก็คือ ผู้พักอาศัยในอาคารสูงได้รับผลกระทบเชิงลบในเชิงจิตใจมากกว่า มีความหวาดกลัวต่ออาชญากรรมมากกว่า มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับสังคมรอบตัวน้อยกว่า และเลี้ยงบุตรหลานด้วยความ ‘ยากลำบาก’ กว่าผู้พักอาศัยในชั้นล่าง
ศ.กิฟฟอร์ด ระบุว่า ปัญหาทางจิตวิทยานี้สัมพันธ์กับความสูงของชั้นที่พักอาศัย จากการวิจัยในอังกฤษ แม่ที่พักอาศัยในห้องชุดของตึก มีความเครียดมากกว่าแม่ที่อาศัยในบ้านเดี่ยว ห้องพักยิ่งชั้นสูงขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีผู้ป่วยอาการทางจิตมากขึ้น การวิจัยในญี่ปุ่นบ่งชี้ว่า พัฒนาการของเด็กที่ถูกเลี้ยงดูในห้องชุดตั้งแต่ชั้นห้าขึ้นไปจะช้ากว่าเด็กที่อยู่ชั้นล่าง ซึ่งรวมถึงพัฒนาการด้านทักษะต่าง ๆ เช่น การแต่งตัว การปัสสาวะด้วยตัวเอง เด็ก ๆ ที่ยิ่งอยู่ชั้นสูง ยังมีโอกาสออกไปเล่นข้างนอกน้อยกว่าด้วย
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักวิชาการว่า การอยู่คอนโดชั้นสูง ๆ นั้น ทำให้เกิดการตอบสนอง ‘ช้ากว่า’ ต่ออาการแยกตัวจากสังคม (Social Isolation) และอาการซึมเศร้า
งานวิจัยปี 2016 ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมแพทย์แคนาดา โดยนักจิตวิทยา แดเนียล แคปปอน (Daniel Cappon) ยืนยันว่า ยิ่งอยู่ชั้นสูง ยิ่งมีโอกาสน้อยลงที่ผู้พักอาศัยที่เป็นเด็กและผู้สูงอายุจะได้ลงมาออกกำลังกาย ทำให้เด็กไม่มีเพื่อนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เด็กแยกตัวออกจากสังคม นอกจากนี้ยังศึกษาผู้ป่วยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน 7,842 คนที่ (อาการดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาล) และสรุปได้ว่า เมื่อออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ผู้ป่วยที่พักอยู่ในห้องชุดชั้นล่าง ๆ มีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่า
เคอร์รี แคลร์ (Kerry Clare) สถาปนิกชาวออสเตรเลีย กล่าวว่า การพักอาศัยบนชั้นสูง ๆ ส่งผลให้ผู้คน ‘แยกตัว’ ออกจากสังคม ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคนร่ำรวย (ที่มีเงินซื้อห้องชุดบนชั้นสูง ๆ) เพียงอย่างเดียว แต่ในเมืองใหญ่บางแห่งก็ส่งผลกระทบต่อคนรายได้น้อยด้วย เพราะรัฐจัดที่พักอาศัยในอาคารสูง ๆ ให้คนกลุ่มนี้
เจน เจคอบส์ (Jane Jacobs) ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Death and Life of Great American Cities เห็นด้วยในข้อนี้ เพราะเธอกล่าวไว้ว่า “ระเบียงห้องชุดที่สร้างเป็นที่พักสำหรับคนรายได้น้อยมีสภาพอย่างกับระเบียงที่จะพบในฝันร้าย ออกจะมืด ๆ น่ากลัว แคบ เหม็น และมองอะไรแทบไม่เห็น ทำให้คนพักอาศัยรู้สึกไม่ค่อยดี ลิฟต์ในอาคารเหล่านี้ก็เช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม หากเราเป็นหนึ่งในผู้ที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดและอยู่ชั้นสูง อาจลองคิดถึงผลการวิจัยเหล่านี้ เพื่อนำมาทบทวนดูว่าชีวิตของเราและสมาชิกในครอบครัว มีโอกาสจะเป็นอย่างที่ผลการวิจัยบ่งชี้หรือไม่ และจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตให้สมดุลได้อย่างไร
ที่มาภาพ : Denys Nevozhai/Unsplash
ที่มา :
บทความ 7 Reasons Why High-Rises Kill Livability โดย Bloomingrock จาก smartcitiesdive.com
บทความ Health and high-rise living: Is higher healthier? โดย Cait Etherington จาก 6sqft.com
บทความ The High Life? On the Psychological Impacts of Highrise Living โดย Jason M. Barr จาก buildingtheskyline.org
เรื่อง : กรณิศ รัตนามหัทธนะ