“เราจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้อย่างไร”  สรุปไฮไลต์จากงานเสวนา REGENERATING GOOD: Kudos Super Sensing Return
Technology & Innovation

“เราจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้อย่างไร” สรุปไฮไลต์จากงานเสวนา REGENERATING GOOD: Kudos Super Sensing Return

  • 24 Feb 2020
  • 26751

“เราจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้อย่างไร” เป็นคำถามที่จุดประเด็นไปสู่การแสดงวิสัยทัศน์ของบรรดาผู้คร่ำหวอดในวงการสถาปัตยกรรม การออกแบบ และสิ่งแวดล้อม ในงานเสวนา REGENERATING GOOD: Kudos Super Sensing Return หนึ่งในกิจกรรมเด่นจากเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 เมื่อวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา 

บริษัท Kudos ได้เชิญ Satoshi Nakagawa นักออกแบบชาวญี่ปุ่น และ Tucker Viemiester ผู้สร้างนิยามใหม่ให้กับมัลติมีเดีย มาเป็นผู้ดำเนินงานเสวนา โดยมี 4 วิทยากรมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับแนวโน้มการออกแบบที่จะทำให้โลกนี้ดีขึ้น ได้แก่ Eric Schuldenfrei อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ ESKYIU ร่วมกับ Marisa Yiu, André Feliciano ชาวบราซิลผู้นิยามตนเองว่าเป็น ‘นักจัดสวนศิลป์’ และ Forrest Meggers ผู้ก่อตั้ง CHAOS Lab ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ใช้พลังงานความร้อน

1. Think Micro คิดให้เล็กลง
Tucker Viemiester ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ OXO Good Grips กล่าวว่าเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่เสมอไป บางครั้งเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่กลับสร้างผลกระทบเชิงลบในปัจจุบัน เช่น เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ และรถยนต์น้ำมันที่ขับเคลื่อนด้วยหลักการจุดระเบิด ดังนั้นเราควรหาวิธีสร้างพลังงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และคิดให้เล็กลง เช่น Micro Energy หรือการสร้างพลังงานขนาดย่อม โดยใช้เซนเซอร์ขนาดเล็กและ AI รวบรวมแหล่งพลังงานธรรมชาติ มาหมุนเวียนสร้างขึ้นใหม่เพื่อนำไปใช้งาน แทนการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันที่ใช้ทรัพยากรมากมาย 

2. Regenerating is the Key การหมุนเวียนสร้างใหม่จะเป็นอนาคต
เรากำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคของการสร้างสิ่งใหม่ที่ทำให้สภาพแวดล้อมและทรัพยากรเสื่อมถอย (Degenerative Design) ไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น แต่ในอนาคตจะเป็นยุคของ Regenerative Design หรือการออกแบบที่นำทรัพยากรที่มีจำกัดมาหมุนเวียนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นี่คือแนวโน้มของงานออกแบบที่จะเป็นทางออกในอนาคต ในทัศนะของ Satoshi Nakagawa นักออกแบบชาวญี่ปุ่น ผู้จัดงานเสวนานี้

©twitter/kudosthailand

เขาได้ก่อตั้งบริษัท SENSINGNET พัฒนาเทคโนโลยี SUPER SENSING ที่สามารถสร้างพลังงานที่ยั่งยืนจากแหล่งกำเนิดธรรมชาติ โดยดึงพลังงานจากสิ่งรอบตัวตั้งแต่ขนมปัง ไวน์ ไปจนถึงแบคทีเรียในน้ำทะเล มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่สำคัญนักออกแบบยุคนี้จะต้องคำนึงถึงสิ่งที่มองไม่เห็นด้วย เช่น ปัญหาไมโครพลาสติกปนเปื้อนในดินและน้ำ 

3. Micro Sharing, Micro Impact ความร่วมมือของหน่วยย่อย
Eric Schuldenfrei ผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบ ESKYIU ร่วมกับ Marisa Yiu เล่าถึงโปรเจ็กต์ “Bring Your Own Biennale” ในปี 2009 ให้ฟังว่า เขาและทีมงานได้เปลี่ยนพื้นที่เวรคืนบนเกาะเกาลูนให้เป็นสถานที่จัดงานมหกรรมศิลปะ และชักชวนให้คนในชุมชน นำสิ่งของมาร่วมจัดงาน Biennale ในแบบฉบับของตนเอง โครงสร้างในงานทั้งหมดใช้วัสดุที่สามารถนำกลับไปใช้ได้อีกครั้ง เรียกได้ว่าเป็นงานที่คิดครบทั้งมิติของการมีส่วนร่วมของชุมชนและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เช่นเดียวกัน Marisa Yiu ผู้ร่วมก่อตั้ง ESKYIU มองว่าความร่วมมือ คือ กุญแจสำคัญของการสนับสนุนเหล่าบัณฑิตจบใหม่ให้มีต้นทุนในการทำงานสร้างสรรค์ เธอได้ก่อตั้ง Design Trust แพลตฟอร์มระดมทุนสำหรับนักออกแบบ นักคิด รวมไปถึงนักประดิษฐ์ในฮ่องกง เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้พบปะกันผ่านเครือข่าย และช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคม หรือแม้แต่สร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับเมือง (Micro Impact) ด้วยกำลังของกลุ่มคนเล็กๆ 

4. Education bring Arts to Life การศึกษาเป็นกระบวนการที่จะทำให้ศิลปะมีชีวิต
André Feliciano มองว่าศิลปะร่วมสมัยนั้นล้าสมัยไปแล้ว เขาจึงผันตัวมาเป็นนักจัดสวนศิลป์ และทำสวนศิลปะของตัวเองในชื่อ Floraissance ภายใต้แนวคิดการฟื้นฟูธรรมชาติให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ในหลาย ๆ โปรเจ็กต์ เขาได้ทดลองสร้างพลังงานจากธรรมชาติ และสิ่งรอบตัว ร่วมกับเด็กๆ เช่น บอลลูนพลังงานแสงอาทิตย์ และเปลญวนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดย่อม

“ผมได้ข้อสรุปว่าการศึกษาเป็นกระบวนการที่จะทำให้ศิลปะนั้นมีชีวิต เป้าหมายของผมคือการทำสวนศิลป์ เพื่อทำให้ธรรมชาติกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง การเพาะปลูกต้องใช้เวลานาน ต้องอาศัยความยืดหยุ่นและการปรับตัว ถึงเราจะทำสิ่งเดิมๆ แต่ก็ต้องทำให้ดีกว่าเดิม”

5. Comfort = Performance การออกแบบที่เน้นความสบาย แต่ไม่รบกวนโลก
Forrest Megger ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ CHAOS Lab กล่าวว่าทุกวันนี้คนทั่วโลกใช้พลังงานไปกับเครื่องปรับอากาศทำความเย็น (Cooling) และเครื่องทำความร้อน (Heating) ตามอาคารต่างๆ แต่การติดตั้งคอยน์ร้อนจำนวนมากยังไม่มีประสิทธิภาพ และกลายเป็นแหล่งปล่อยความร้อนและปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในทางอ้อม เขาจึงผุดไอเดียการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เน้นทำให้คนรู้สึกสบาย โดยให้ร่างกายของคนถ่ายเทความร้อนออกไปให้ได้มากที่สุด

©soa.princeton.edu

ในโปรเจ็กต์ Thermodeliodome เขาและทีมงานได้สร้างพาวิลเลียนในรูปทรงเรขาคณิต และสร้างพื้นผิวขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยหลักการสะท้อนและตกกระทบของรังสีความร้อนบนพื้นผิวของพาวิลเลียน ทำให้คนที่เข้าไปในนั้นรู้สึกเย็นขึ้น (Radiant Cooling) เรียกได้ว่าเป็นงานออกแบบที่ผนวกความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อมอบความสบายให้กับผู้คน โดยรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

และนี่คือบทสรุปข้อคิดสำคัญจากงานเสวนาที่น่าจะจุดประกายไอเดียใหม่ ๆ ให้กับใครหลาย ๆ คนที่อยากออกแบบโลกนี้น่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม ไม่มากก็น้อย

ที่มาภาพเปิด : fb : KUDOS Thailand

เรื่อง : ปิยพร อรุณเกรียงไกร

 

REGENERATING GOOD: KUDOS Super Sensing Returns | EP.1/3

REGENERATING GOOD: KUDOS Super Sensing Returns | EP.2/3

REGENERATING GOOD: KUDOS Super Sensing Returns | EP.3/3