Amplifi Design: กระบวนการสร้างความยืดหยุ่น สำหรับคนเมืองในอนาคต
ท่ามกลางปัญหาและความโกลาหลที่คนเมืองต้องเผชิญ การบรรยายในหัวข้อ “กระบวนการสร้างความยืดหยุ่น สำหรับคนเมืองในอนาคต” โดย Amplifi Design บริษัททำวิจัยของคนรุ่นใหม่ ที่ประยุกต์เอาความรู้ด้านงานออกแบบมาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาประสบการณ์และผลิตภัณฑ์ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ได้ร่วมถามคำถามสำคัญกับชาวเมืองว่า หากคุณก็เป็นอีกคนที่มองเห็นปัญหาในเมืองและอยากจะเปลี่ยนแปลงมัน แล้ววันนี้คุณพร้อมที่จะรับความท้าทายเพื่อที่จะเปลี่ยนให้เมืองของเราดีขึ้นแล้วหรือยัง
บทเรียนจากผักตบชวา สู่การมองเห็นปัญหาคนเมือง
การบรรยายครั้งนี้เริ่มต้นที่ คุณเจนจิรา โฮล์มส์ สถาปนิกผู้จบการศึกษาจาก Landscape Architecture Department, Harvard Graduate School of Design ปัจจุบันทำงานอยู่ที่เมืองไทย ได้มาให้ความรู้เรื่องผักตบชวา ปัญหาไม่ใกล้ไม่ไกลตัวที่ถูกละเลย คุณเจนจิราเล่าให้ฟังว่า คนส่วนใหญ่มองเห็นผักตบชวาได้ง่าย ๆ เพราะมีอยู่เต็มแม่น้ำ แม้ผักตบชวาจะไม่ได้มีต้นกำเนิดที่ประเทศไทย เพราะมาจากเมืองชวา ประเทศอินโดนีเซีย แต่เพราะผักตบชวาแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ต้นเดียวสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ถึง 5,000 เมล็ด และเมล็ดหนึ่ง ๆ ก็อยู่ได้นานถึง 30 ปี จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมผักตบชวาที่เคยนำมาเป็นไม้ประดับถึงยังคงอยู่ในแม่น้ำลำคลองของไทยไม่เคยหายไปไหน
สิ่งที่น่าคิดคือ หากเราไม่สามารถกำจัดผักตบชวาที่แพร่พันธุ์ได้ไม่หยุดหย่อน แล้วเราจะมีวิธีปรับตัวอย่างไร เมื่อในแง่หนึ่ง ผักตบชวาอาจทำให้เกิดปัญหาการจราจรทางน้ำ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ชาวบ้านก็สามารถใช้ประโยชน์จากผักตบชวาด้วยการแปลงเป็นงานหัตถกรรมต่าง ๆ อีกทั้งผักตบชวายังเป็นแหล่งที่อยู่และอาหารสำหรับนก แมลง และสัตว์น้ำอื่น ๆ ได้ เมื่อผักตบชวามีทั้งข้อดีและข้อเสีย คำถามคือ ตอนนี้เรารับมือกับผักตบชวาอย่างไร
ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีเรือกำจัดผักตบชวาเพื่อนำไปทำปุ๋ยต่อไป แต่วิธีที่ยั่งยืนและมีต้นทุนน้อยกว่าอาจจะอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะชาวบ้านในภาคเหนือของประเทศไทย มีวิธีกำจัดผักตบชวาโดยการสังเกตการเติบโตของผักตบชวาที่เคลื่อนตัวตามสภาวะน้ำขึ้นน้ำลง และใช้ไม้ไผ่กั้นผักตบชวาตามน้ำขึ้นน้ำลง เพื่อลดต้นทุนการกำจัดผักตบชวาโดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรใด ๆ มากนัก
หากกลับมามองที่ท้องถนน คุณยูริ ไซซีฟ (Yuri Zaitsev) นักออกแบบประสบการณ์ ผู้จบการศึกษาจาก Design Impact Graduate Program, Stanford University ได้แสดงความเห็นไว้ว่า ในกรุงเทพฯ ก็มีสิ่งที่คล้ายกับผักตบชวาเช่นกัน สิ่งนั้นก็คือ ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซต์ ซึ่งบางคนมองว่ามอเตอร์ไซต์เป็นทางเลือกให้คนเมืองมีเส้นทางการเดินทางที่ง่ายขึ้น แต่บางคนก็เห็นว่าคนขี่มอเตอร์ไซต์เป็นดั่งผักตบชวาที่ขัดขวางการสัญจรในท้องถนน และยังมีปริมาณมากด้วย ทีมงานของ Amplifi Design จึงออกไปสอบถามความคิดเห็นผู้คนในกรุงเทพฯ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจัดกิจกรรมเวิร์กช้อปที่สอนเรื่องการปรับตัว ความยืดหยุ่น จนถึงการมีสติในชีวิตประจำวัน เพื่อตามหาผักตบชวาหรือสิ่งที่ทำให้คนเมืองเครียดในชีวิตประจำวัน
โดยผลการสำรวจสามารถแบ่งความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อสถานที่ต่าง ๆ ได้ดังนี้ 1. สถานที่แออัดที่มีคนเยอะจะส่งผลทำให้คนรู้สึกเชิงลบ (Crowded) เช่น ถนนที่รถติด ที่ทำงาน ห้องรก ๆ 2. สถานที่เปลี่ยนผ่านที่คนต้องรอ ส่งผลต่อความรู้สึกทั้งลบและบวก (Ambiguous) ขึ้นกับว่าสภาพแวดล้อมในขณะที่รอเป็นอย่างไร เช่น สถานีรอรถไฟฟ้า และ 3. สถานที่สงบ ทำให้คนรู้สึกเชิงบวก (Lively) เช่น สวนสาธารณะ หรือสถานที่ธรรมชาตินอกกรุงเทพฯ
โดยส่วนใหญ่ชีวิตของคนเมืองมักอยู่ในกลุ่มแรก คือสถานที่แออัด และสถานที่สงบก็อาจจะกลายเป็นสถานที่แย่ได้ถ้าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เช่น ในวันที่ปริมาณค่าฝุ่น pm 2.5 สูง แม้ว่าจะอยู่ในสวนสาธารณะที่สงบก็ตาม คำถามคือ เมื่อเรารู้แล้วว่าสถานที่หรือสถานการณ์แบบใดที่ทำให้เรารู้สึกแย่ แล้วจะมีวิธีการอย่างไรให้เมืองน่าอยู่มากขึ้นได้บ้าง
เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี เริ่มได้โดยการ “เปลี่ยน”
ในช่วงสุดท้ายของการบรรยาย คุณปริชา ดวงทวีทรัพย์ นักวิจัยด้านการออกแบบ ผู้จบการศึกษาจาก Design Impact Graduate Program, Stanford University ได้อธิบายถึงความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาดังกล่าวไว้ 3 วิธี ได้แก่
- ทำให้สถานที่ที่ให้ความรู้สึกทั้งบวกและลบ (Ambiguous) เป็นพื้นที่ที่ทำให้รู้สึกดี (Lively)
- เปลี่ยนสถานที่แออัด (Crowded) ให้เป็นสถานที่ที่มีชีวิตชีวามากกว่าเดิม (Lively)
- ทำให้สถานที่ที่ให้ความรู้สึกเชิงบวก กลายเป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงลบน้อยที่สุด
ยกตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ ผู้เข้าร่วมเวิร์กช้อปเห็นว่าท่าเรือสะพานตากสินให้ความรู้สึกกับผู้ใช้บริการทั้ง 2 อย่าง คือรู้สึกแออัดแต่ก็เป็นทางเลือกซึ่งมอบอิสรภาพในการเดินทางมากขึ้น ในฐานะดีไซเนอร์ต้องทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้ ทางออกอาจจะเป็นไปได้ทั้งการทาสี ทำป้ายบอกทางใหม่ หรือตกแต่งท่าเรือใหม่ให้น่าใช้งานและน่าสัญจรขึ้น แต่ทางออกเหล่านี้ก็ไม่ได้มีคำตอบที่ตายตัวว่าวิธีการไหนดีที่สุด แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเปลี่ยนแปลงที่สามารถพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้
คุณปริชาเล่าต่อว่า แม้เราจะรู้ถึงวิธีการต่าง ๆ ที่สามารถจัดการปัญหาได้แล้ว แต่ใครล่ะจะเป็นคนเปลี่ยน ในหนังสือ “Clash!: How to Thrive in a Multicultural World” ที่ใช้ความรู้ทางจิตวิทยาสังคมอธิบายถึงกระบวนการที่วัฒนธรรมเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงได้บอกไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระดับเล็กสุดไปยังระดับใหญ่สุด 4 ระดับ ได้แก่ 1. ตัวบุคคล (Individuals) 2. ปฏิสัมพันธ์ (Interactions) 3. สถาบัน (Institutions) 4. ไอเดียใหญ่ๆ (Big Ideas) ที่นำไปสู่การออกกฎระเบียบ ซึ่งจะสามารถพัฒนาสังคมโดยรวมให้ดีขึ้นได้
ดังนั้นในประชากรทั้งหมดเกือบ 10 ล้านคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ผู้ที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ก็คือ “ทุกคน” และเมื่อหัวใจของการสร้างความยืดหยุ่น คือการให้อำนาจกับตัวเองเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง Amplifi Design จึงตั้งคำถามทิ้งท้ายต่อผู้ร่วมฟังการบรรยายครั้งนี้ไว้ว่า วันนี้คุณพร้อมที่จะรับความท้าทายเพื่อที่จะเอาชนะสิ่งที่คุณคิดว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแล้วหรือยัง
เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ
กระบวนการสร้างความยืดหยุ่นสำหรับคนเมืองในอนาคต | Resilience as a Process for Future Urbanites